เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ก่อนก้าวย่างสู่เส้นทางหนังสือพิมพ์

พฤศจิกายน ชารี ดูเหมือนว่าผมยังพิรี้พิไรกับหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อเดือนมีนามสกุล ของ “รงค์ วงศ์สวรรค์ กับเพื่อนหนุ่ม หลังจากจบบทก่อนว่าด้วย “อวสานเป็นเพียงนามสมมุติ”

แม้ “รงค์ วงษ์สวรรค์ จะเขียนบอกว่า “ความตายหรืออวสานเป็นเพียงนามสมมุติ” ไว้ตั้งแต่ 19 พฤศจิกายน 2513 ขณะที่ท้ายเล่มเป็นจดหมายจากผู้อ่านในชื่อ “ดลใจจากผู้อ่าน” ลงพิมพ์จดหมาย 5 ฉบับ ปิดท้ายด้วยฉบับของ นิมิตร ภูมิถาวร นักเขียน บอกมาว่า ผมส่งเรื่องสั้นให้พิจารณาลง เฟื่องนคร เรื่องหนึ่ง ไม่ทราบว่าพอจะใช้ได้หรือเปล่า – – หวังว่าคงได้รับความกรุณาสนับสนุนตามสมควร ขอกราบขอบคุณมาพร้อมกันนี้ด้วยครับ

คำตอบจดหมายทั้ง 5 ฉบับพร้อมกันว่า

ขอบใจและขอคารวะผู้อ่านทุกคนบนบรรทัดนี้ด้วยความจริงใจของเรา พบกันอีกเมื่อเราโยนความเศร้าออกไปจากหน้าต่างหัวใจ หรืออาจไม่พบกันอีกเลย…ลาก่อน

ชื่อหนังสือรายเดือนมีนามสกุลเรียงตามลำดับปิดท้ายเล่มด้วยตราปลาตะเพียนกับตราสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นรวม 18 เล่ม

พฤษภาคม อุไร / มิถุนายน มณี / กรกฎาคม โกเมน / สิงหาคม สมิต / กันยายน สคราญ / ตุลาคม รำไพ / พฤศจิกายน อัมพา / ธันวาคม มณฑา

มกราคม “13 / กุมภาพันธ์ 28 / มีนาคม 88 / เมษายน รวี

จาก เมษายน รวี เว้นเดือนพฤษภาคม เริ่มชื่อหนังสือ เฟื่องนคร (มิถุนายน บรรโลม) / เฟื่องนคร (กรกฎาคม ลำเพา) / เฟื่องนคร (สิงหาคม รมณี)

กลับมาเข้าชื่อเดือนใหม่ กันยายน นลิน / ตุลาคม รำไพ / ปิดท้ายด้วย พฤศจิกายน ชารี

ไล่เรียงชื่อหนังสือพร้อมข้อความส่งท้าย “เพียงเพื่อถามว่ามีครบทุกเล่มหรือยัง พอจะมีแบ่งปันกันได้บ้างไม่มาก”

 

นับแต่วันนั้น วันที่ผมหยิบยกเรื่องของตัวเองบันทึกไว้เพื่อบ่งบอกเส้นทางของคนทำหนังสือและหนังสือพิมพ์ แม้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือเรียงตามลำดับวันเวลา จาก พ.ศ.2513 ถึงวันนี้ หนังสือชื่อเดือนมีนามสกุลถึงจุดหมายปลายทาง – ลาก่อน ระหว่างนั้น ขรรค์ชัย บุนปาน กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินหน้าเข้าสู่ความเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เต็มตัวที่กองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เรียกกันว่า “ค่ายราชดำเนิน”

ส่วนผมยังติดสอยห้อยตาม “พี่ปุ๊” ซึ่งยังมีภาระทำหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กทั้งในนาม “รงค์ วงษ์สวรรค์ และบางเล่มของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น กระทั่งทั้งสองคนมาร่วมกันเปิดโรงพิมพ์พิฆเณศ

ก่อนหน้านั้น คนรุ่นราวคราวเดียวกันกับผมที่ชอบงานเขียนงานหนังสือพิมพ์อ่านหนังสือพิมพ์สองสามฉบับ ฉบับเช้า ต้องอ่าน “พิมพ์ไทย” เรียกว่า “ค่ายสีลม” ก่อนย้ายมาอยู่ที่หัวถนนดินแดง กับ “เดลินิวส์” เรียกว่า “ค่ายสี่พระยา” หลังจากนั้นมี “เสียงอ่างทอง” และมาเป็น “ไทยรัฐ” ตั้งอยู่ในซอยวรพงษ์ บางลำพู ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต

ส่วนหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายมี “สยามรัฐ” กับหนังสือพิมพ์ “สยามนิกร” เสนอข่าวการเมืองเป็นหลัก ทำให้เรามีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ และอยากจะไปเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐและสยามนิกร

 

เว้นวรรคห้วงหนึ่งของกาลเวลา ในหนังสือมิถุนายน มณี “รงค์ เขียนถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ ว่า

“ดูเหมือนว่าเขาจะรัก “ไม้ เมืองเดิม” ยิ่งกว่านักเขียนคนอื่น แต่หนังสือที่เขาอ่านอย่างจรดใจคือ ไตรภูมิพระร่วง” นั้นมีที่มาที่ไปถึงห้วงเวลาหนึ่ง สุจิตต์ชวนเราสองคน ผมกับขรรค์ชัย ไปนั่งอ่านนอนอ่านหนังสือของ “ไม้ เมืองเดิม” เรียกว่าทุกเล่มก็ได้ ที่กุฏิพระครูไว วัดเทพธิดาราม ซึ่งสุจิตต์มาอาศัยตั้งแต่เรียนที่โรงเรียนวัดมกุฎกษัตริยาราม ณ กุฏิพระครูไว นอกจากจะนั่งอ่านนอนอ่านหนังสือและกินข้าวก้นบาตรกับก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่สุจิตต์ซื้อมาให้กินยามเย็น ยังใช้กุฏิเขียนหนังสือทำหนังสือด้วย

เมื่อทั้งสองคนเรียนจบปริญญาตรีจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงไปสมัครงานกับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และได้งานทำทันที แต่สำหรับขรรค์ชัย เริ่มงานแรกเป็นครูที่โรงเรียนมาแตร์เดอี รับเงินเดือนครั้งแรกเดือนละ 1,500 บาท

“เป็นครูที่หลายคนจดจำมาก เพราะเราแต่งตัวไม่เรียบร้อย ชอบใส่เสื้อยืดกับการเกงยีนส์ไปสอน มาแมร์เรียกเข้าไปเตือนว่าแต่งตัวให้มันดีๆ หน่อย สอนภาษาไทยนะคะ ไม่ใช่สอนพละ แต่เป็นครูสอนภาษาไทยได้ไม่นานก็ต้องลาออก เพราะรุ่นพี่มาชวนให้ไปทำงานที่ห้างเซ็นทรัล ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์… ที่เซ็นทรัลได้เงินเดือนเยอะมากเลย ตั้ง 5,000 บาท คิดดูใส่กระเปา 4 ใบ สตางค์ยังแลบออกมา แต่ก็อยู่เซ็นทรัลได้ไม่นานก็ออกอีก เพราะคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ…จึงไปสมัครกับอาจารย์หม่อมที่สยามรัฐอย่างจริงจัง”

“และอาจารย์หม่อมก็รับไว้ทำงานในที่สุด”

 

ทั้งขรรค์ชัยและสุจิตต์โดนไล่ออกพร้อมกัน ราวเดือนมิถุนายน 2515 กับ เสถียร จันทิมาธร อีกคน ก่อนบันทึกในหนังสือ “เส้นทาง…คนหนังสือพิมพ์” ส่วนของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ต่อจากนี้คือ ครั้งหนึ่ง เมื่อผมพูดถึงการทำหนังสือพิมพ์ว่า อยากทำ “สยามนิกร” ส่วนสุจิตต์ชอบ “สยามรัฐ” ขรรค์ชัยกลับบอกว่า ทำไมไม่คิดปลูกต้นไม้ต้นใหม่

“เราจะออกหนังสือพิมพ์เอง” คือสิ่งที่คู่หูอย่างขรรค์ชัยมาพูดคุยกับสุจิตต์หลังถูกไล่ออก

โดยบอกว่าต้องเปลี่ยนวิธีคิดการทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งจากเดิม นักหนังสือพิมพ์ขณะนั้นเป็นแค่ “มือปืนรับจ้าง” โดยไม่รู้จักการบริหารจัดการทั้งระบบ

จึงเริ่มเปิดโรงพิมพ์ “พิฆเณศ” ย่านแพร่งสรรพศาสตร์ เมื่อปี 2515 รับจ้างพิมพ์หนังสือทุกชนิด

ขณะที่ เสถียร จันทิมาธร ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ซึ่งย้ายมาอยู่ที่หัวถนนดินแดง ก่อนที่จะปิดตัวลง แล้วมาเริ่มที่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง มี มานะ แพร่พันธ์ เป็นบรรณาธิการ

ก่อนหน้านั้น บันทึกในส่วนของ ขรรค์ชัย บุนปาน บอกไว้ว่า ระหว่างเรียน ทั้งขรรค์ชัยและสุจิตต์ได้มีงานเขียนและตีพิมพ์ร่วมกันหลายเล่ม ทั้งที่เป็นบทกวีและเรื่องสั้น เล่มแรกตีพิมพ์เมื่อปี 2507 ชื่อเรื่อง “นิราศ” โดยมี เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ สหายอีกคนเป็นผู้จัดพิมพ์ให้ นอกจากนี้ยังมีกลอนลูกทุ่ง เห่ลูกทุ่ง…

ด้วยเหตุนี้กระมัง ผมจึงมีโอกาสเข้าร่วมงานที่โรงพิมพ์พิฆเณศ กับ ประเสริฐ สว่างเกษม ทั้งการที่ทั้งสองเห็นผมไม่มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง การจะทำงานแบบเอ้อระเหยลอยชายกับ “พี่ปุ๊” ไปตลอดคงไม่ได้ และไม่น่าจะมีอนาคตมากไปกว่านั้น

จึงขอขอบคุณทั้งสองคนไว้ ณ ที่นี้