รายงานพิเศษ โดย “สุกรี มะดากะกุล” พาทุกท่านไป “เยื้องย่าง ที่บางปู ยะหริ่ง ปัตตานี”

ตําบลบางปู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เป็นอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งมีสภาพแวดล้อมเป็นป่าชายเลนส่วนใหญ่ อยู่ติดทะเลอ่าวปัตตานี

ประชากรในอำเภอยะหริ่งมีการเชื่อมต่อปฏิสัมพันธ์กันมาอย่างใกล้ชิดกันมาช้านานกับประชากรอำเภอเมืองปัตตานี

สถานที่นี้อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรมากมายมหาศาล

img_9351-1

และแหล่งทรัพยากรทางทะเลจากตำบลบางปูนั้นเป็นอีกแหล่งทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เป็นเสบียงป้อนเข้าสู่อำเภอเมืองปัตตานีมานานหลายชั่วอายุคนตลอดมา

ระบบนิเวศน์ป่าชายเลนของชาวชุมชนตำบลบางปู กำลังถูกผลักดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญตามนโยบายของภาครัฐ

นอกจากนี้ ในพื้นที่ของชุมชนตำบลบางปูยังมีความน่าสนใจในด้านอื่นๆ อีกด้วย

จากการเดินทางเข้าพื้นที่หลายครั้งผู้เขียนเห็นว่าในพื้นที่แห่งนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจด้านอื่นๆ อีกด้วย

และอาจจะต่อยอด นอกจากแหล่งเรียนรู้ป่าชายเลนแล้วในพื้นที่แห่งนี้มีสิ่งที่น่าสนใจและผลักดันให้เกิดการพัฒนาเพื่อความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะตามมาได้

เช่น ความมีเสน่ห์ของสภาพความเป็นประชากรชาวเล การอาศัยตั้งถิ่นฐาน เพิ่มขยายของประชากร และการดำเนินชีวิตที่ต้องปรับตัว การต่อสู้ของประชากรนั้นเป็นแง่มุมหนึ่งถึงการต่อสู้ดิ้นรนในยุคปัจจุบัน

มีอะไรบ้างที่บางปู

img_4844 img_9601-1

 

เรื่องที่ 1 การพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวิทยา

ตำบลบางปูนี้ มีความเป็นธรรมชาติของป่าโกงกางและเป็นป่าชายเลนที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศ

เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา และสาหร่ายมากมาย

เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของชุมชนบางปูก็คือวิถีชุมชนชาวประมงที่ยังคงทำมาหากินแบบดั้งเดิม ออกหาปลาจัดการทรัพยากรด้วยเรือเล็ก

และพบว่า ที่สำคัญเรือประมงที่ชาวบ้านชุมชนบางปูได้ใช้ ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ไม่ใช้เรือกอและเหมือนที่อื่นในจังหวัดปัตตานี แต่เป็นเรือลำเล็กๆ หัวตัดหัวแหลม เป็นอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งจะมองเห็นว่าชุมชนชาวบางปูมีประวัติศาสตร์ของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวชุมชนชายฝั่งทะเลในพื้นที่ตำบลบางปู ทั้งด้านอาหารและที่พักต่างๆ รวมทั้งความสะดวกในด้านการจัดการสำหรับการท่องเที่ยวพบว่ายังมีปัญหาอยู่

ชุมชนยังต้องการความช่วยเหลือ

รัฐควรเข้ามาส่งเสริมพัฒนาอีกหลายๆ ด้านพร้อมๆ กัน เช่น ป่าโกงกาง สำหรับการศึกษาเรียนรู้นั้น ยังไม่มีการให้ความรู้ให้ชัดเจนในด้านการอนุรักษ์ป่าโกงกางอย่างไร

ยังไม่มีความชัดเจนในปัญหาการรองรับนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ เช่น ที่พักเป็นแบบโฮมสเตย์ การจัดการในด้านขยะ ห้องน้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอสำหรับนักท่องเที่ยว

การปรับปรุงเส้นทางให้ความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวมีไม่เพียงพอ เป็นต้น

img_9248 img_9351-1

สิ่งที่น่าสนใจเรื่องที่ 2 คือ เรื่องมัสยิดโบราณ อายุไม่ต่ำกว่า 200 ปี ชื่อว่า สุเหร่าเก่าตะวาอุน บางปู

ผู้อาวุโสในชุมชน เล่าว่า ร่องรอยของมัสยิดเก่าหลังนี้เป็นสิ่งที่แสดงถึงที่มาที่ไปของชุมชนได้ บรรพบรุษได้เล่าต่อๆ กันมาว่า พวกเขาอพยพกันมาด้วยเรือสำเภาจากตรังกานู มาเลเซีย มีการก่อสร้างสุเหร่าหลังนี้ขึ้นด้วยการนำไม้ นำเสาหินแกรนิตน้ำหนักกว่า 500 กิโลกรัม ขัดด้วยมือแบบโบราณ มาเป็นตีนเสาที่ปัจจุบันถูกวางเรียงรายรอบๆ มัสยิด มีการตกแต่งโดยช่างฝีมือในอดีต และการแกะสลักลวดลายตามแบบฉบับลวดลายมลายูโบราณอย่างสวยงามมาก

ปัจจุบันหลงเหลือร่องรอยเพียงบางส่วน เช่น บานฝาประตูแกะสลักไม้ลวดลายดอกไม้ ทั้งกรอบบานหน้าต่าง และช่วงกรอบผนังเป็นการเข้าไม้แบบมีลูกเล่นที่แปลกตา เล่นลวดลายแบบโบราณได้ดูน่าสนใจ

มีการประดับช่องลมด้วยการใช้ลูกกลึงดูสวยงามอ่อนช้อยงดงามตา

ปัจจุบันนี้สิ่งที่หลงเหลือตกทอดอยู่นี้หากดูโดยรวมแล้ว เหลืออยู่เพียงแค่ 1 ส่วน 3 เท่านั้น

ด้วยเป็นมรดกตกทอดที่มีค่าของชุมชน ต่างมองเห็นถึงความสำคัญ ชุมชนจึงมีการปรับปรุงและบูรณะอาคารอยู่หลายครั้ง แต่ด้วยการจัดการของชุมชน ประกอบด้วยขาดแคลนงบประมาณ และบุคลากรทางช่าง และหลายๆ อย่างจึงทำให้มัสยิดหลังนี้ยังไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ และปัจจุบันเมื่อไม่ใช้งานแล้วจึงชำรุดทรุดโทรมไปอย่างรวดเร็ว

มัสยิดหลังนี้ เคยมีผู้ใหญ่ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2557 ที่ผ่านมา ชุมชนจึงยังคงเฝ้ารอและตั้งความหวังอย่างใจจดใจจ่อ ว่าจะหาทางออกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

ขณะนี้ชุมชนต้องการให้หน่วยงานที่มีความรู้ในด้านการบูรณะอาคารโบราณ อาจมาเสริมเติมชี้ให้ชุมชนและหาทางบูรณาการกัน ทางชุมชนเตรียมพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ คาดว่าน่าจะได้เห็นข่าวดีขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

img_0388

นายอาซิ ดาราแม อายุ 47 ปี อิหม่ามมัสยิด ตะวาอุน บางปู บอกว่า

“ชุมชนมีความประสงค์ที่อยากให้มัสยิดหลังนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ แต่ชุมชนยังไม่มีงบประมาณพอ หากมีหน่วยงานไหนที่เล็งเห็นความสำคัญ มาบูรณาการที่นี่ จะทำให้มัสยิดโบราณแห่งนี้เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่สำคัญ อาจให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ให้เป็นอีกที่หนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน แห่งใหม่เพิ่มขึ้น เป็นที่เชิดหน้าชูตากับจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างแน่นอน”

ชุมชนบางปูเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดปัตตานี และชุมชนรอคอยการบูรณาการจัดการด้านต่างๆ ให้ครบถ้วนเหมาะสม

โดยเฉพาะการจัดการพัฒนา และบูรณะมัสยิด ตะวาอุน บางปูหลังเก่าจะเป็นการเพิ่มสิ่งที่น่าสนใจด้านการท่องเที่ยวเชิงศึกษาประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ควบคู่กันไปกับธรรมชาติอันงดงามที่ใครเห็นล้วนประทับใจ