สุรชาติ บำรุงสุข | ไทยกับประธานอาเซียน : ความยินดีและความท้าทาย!

ในที่สุดนายกรัฐมนตรีไทยก็เข้ารับตำแหน่งประธานอาเซียน แม้ในช่วงกลางปี 2561 จะมีเสียงวิจารณ์อย่างมากในภูมิภาคว่า ประธานอาเซียนไม่ควรเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่แล้วหัวหน้ารัฐประหารที่กรุงเทพก็รับตำแหน่งดัวกล่าวได้ เพราะชนะการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา แม้ว่าพรรคของระบอบเดิมจะไม่ชนะเป็นพรรคอันดับ 1 ก็ตาม (หรือที่เรียกว่า regime party ในวิชาเปลี่ยนผ่านวิทยา ถ้าผู้นำไทยไม่ชอบคำเรียกว่า “พรรคทหาร”) และผลจากการเลือกเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนเดิม

ความอึดอัดใจของอาเซียน
การรับตำแหน่งประธานอาเซียนครั้งนี้เป็นความน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลทหารไทย เพราะเท่ากับสามารถทำให้ผู้นำทหารไทยขึ้นสู่ตำแหน่งดังกล่าวได้ โดยอาศัยการเลือกตั้งที่เกิดในบ้านเป็นเครื่องมือรองรับปัญหาความชอบธรรมของผู้นำทหารในการนี้ และอย่างน้อยสำหรับอาเซียนแล้ว ประธานที่เป็นผู้นำทหารไทยที่มาจากการเลือกตั้ง ก็น่าจะดูดีกว่าผู้นำทหารที่มาจากการยึดอำนาจ ซึ่งพอจะช่วยพยุงภาพลักษณ์ทางการเมืองของอาเซียนไว้ได้บ้าง ดังที่ทราบกันแล้วว่า ภาพลักษณ์ของผู้นำรัฐประหารที่กรุงเทพในมุมมองของสื่อระหว่างประเทศก็ไม่ได้บวกเท่าใดนัก ซึ่งเห็นได้จากความเห็นที่มีต่อการเลือกตั้งไทยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา


ว่าที่จริงแล้ว เสียงวิจารณ์ต่อสถานะในความเป็นรัฐบาลรัฐประหารไทยนั้นเคยเกิดเป็นปัญหากับรัฐบาลเมียนมาแล้ว กล่าวคือเมียนมาจะต้องรับตำแหน่งในปี 2549 แต่รัฐบาลตะวันตกมีท่าทีที่ชัดเจนที่ไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียน หากรัฐบาลทหารเป็นประธานอาเซียน จนในที่สุดแล้วอาเซียนต้องแก้ปัญหาด้วยการประชุมที่ลาวในเดือนกรกฎาคม 2548 โดยรัฐบาลทหารเมียนมาขอเลื่อนการรับตำแหน่งนี้ และให้ฟิลิปปินส์ที่อยู่ในอันดับถัดมาเข้ารับตำแหน่งแทน ปัญหาของประธานอาเซียนที่มาจากหัวหน้าคณะรัฐประหารเคยเป็นความ “อึดอัดใจ” ของชาติสมาชิกอาเซียนมาแล้ว เพียงแต่ครั้งก่อนเป็นปัญหาเมียนมา แต่ครั้งนี้เป็นปัญหาไทย(อย่างไม่น่าเชื่อ!)

แน่นอนว่ารัฐบาลทหารที่กรุงเทพไม่มีทางยอมเลื่อนการรับตำแหน่งเช่นที่เกิดในกรณีของเมียนมาในปี 2549 เพราะการทำเช่นนั้นจะเป็นการทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลทหารโดยตรง ประกอบกับแรงกดดันจากตะวันตกในครั้งนี้ก็ไม่มากเท่ากับสัญญาณในปี 2548 แต่ก็เท่ากับว่าอาเซียนต้องรอ เพื่อให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นในไทย และรัฐบาลไทยที่เข้ารับตำแหน่งนี้จะต้องเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง อีกทั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลทหารไทยจะยอมเลื่อนการรับตำแหน่งนี้ไปเป็นปี 2563 โดยยอมให้รัฐบาลเวียดนามที่อาจจะมีความพร้อมมากกว่าเข้ามาเป็นในปี 2562 (ดังกรณีของเมียนมา)

ยินดีแต่ก็ท้าทาย
แต่ในความยินดีสำหรับรัฐบาลไทยย่อมมีความท้าทายแฝงเข้ามาให้ต้องคิดต่อ เพราะตำแหน่งนี้มิได้เพียงมีผลกระทบกับตัวผู้นำและรัฐบาลไทยเท่านั้น หากแต่ยังมีผลต่อสถานะของประเทศไทยในประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย
ดังนั้นหากลองพิจารณาความท้าทายที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนต้องเผชิญในตำแหน่งนี้แล้ว เราอาจเห็นประเด็นต่างๆที่สำคัญดังต่อไปนี้

1) คงต้องยอมรับว่าระยะเวลาของการรับตำแหน่งประธานอาเซียนของรัฐบาลไทยช้ามาก เพราะโดยปกติแล้วการประชุมสุดยอดของผู้นำอาเซียนจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี หลังจากประเทศเจ้าภาพได้เข้ารับตำแหน่งประธานแล้วในวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ซึ่งหากเป็นสถานการณ์ปกติ ไทยควรรับตำแหน่งนี้ตั้งแต่ปีใหม่ แต่อาเซียนจำเป็นต้องรอรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งของไทย มิฉะนั้นรัฐบาลรัฐประหารไทยจะดำรงตำแหน่งประธานนี้ ดังได้กล่าวแล้วว่า ย่อมไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน แต่การเข้ารับตำแหน่งในกลางเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้ระยะเวลาการทำงานของไทยเหลืออยู่เพียงประมาณครึ่งปีเท่านั้น และขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่ารัฐบาลเวียดนามได้ประกาศการเตรียมตัวเป็นประธานอาเซียนในปี 2563 แล้ว โดยเวียดนามได้ประกาศการเตรียมเฉลิมฉลองการรับตำแหน่งนี้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2562 และประกาศการรับตำแหน่งดังกล่าวเป็นการล่วงหน้าในวันที่ 1 มกราคม 2563


2) ในห้าปีของผู้นำรัฐประหารไทย เราแทบไม่เห็นความสำเร็จในเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม ดังนั้นเมื่อผู้นำคนเดิมได้รับตำแหน่งประธานอาเซียนแล้ว ผู้นำไทยจะเสนอ “ขายวิสัยทัศน์” ในเรื่องอะไรให้กับภูมิภาคของเรา เพราะรัฐบาลที่ไม่ประสบความสำเร็จในบ้าน ย่อมเป็นการยากที่จะสร้างความน่าเชื่อถือนอกบ้าน โดยเฉพาะสถานะและความพร้อมของรัฐบาลก็เป็นปัญหาในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งหากต้องอาศัยรัฐมนตรีต่างประเทศของคณะรัฐประหารเป็นผู้นำหลักในการประชุมแล้ว ก็จะยิ่งตอกย้ำปัญหาที่กล่าวในข้างต้น

3) รัฐบาลทหารไทยในช่วงที่ผ่านมา แทบไม่เคยกล่าวถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอเมริกันเท่าใดนัก เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ปรับยุทธศาสตร์จากเอเชีย-แปซิฟิกเป็น “อินโดนีเซีย-แปซิฟิก” ซึ่งการปรับเช่นนี้เป็นเรื่องใหญ่ของการวางยุทธศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจในเอเชีย และในยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลทหารก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง ดังนั้นเมื่อผู้นำทหารไทยขึ้นรับตำแหน่งประธานอาเซียนแล้ว และมีการกล่าวถึง “ทัศนะอินโดนีเซีย-แปซิฟิก” (The Indo-Pacific Outlook) นั้น จึงไม่ชัดเจนว่า ผู้นำไทยจะมีความคิดริเริ่มอะไร หรือจะนำเสนอวิสัยทัศน์อะไรในเรื่องนี้ เพื่อการนำอาเซียนสู่อนาคต

4) อาเซียนในแต่ละช่วงเวลามีทั้งปัญหาเก่าและปัญหาใหม่เป็นความท้าทายไม่หยุด ผู้นำไทยที่เติบโตมากับความเป็นผู้นำทหาร และมาจากรากฐานของความเป็นรัฐบาลทหารนั้น จะทำความเข้าใจกับปัญหาและความท้าทายในภูมิภาคนี้อย่างไร และคงต้องตระหนักว่าปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคมในภูมิภาคมีความซับซ้อนอย่างมาก จะคิดเพียงในบริบทของไทยไม่ได้ และจะคิดด้วยกระบวนทัศน์แบบผู้นำทหารก็ไม่ได้ด้วยเช่นกัน และยังมีนัยอีกว่าในช่วงระยะเวลาไม่มากนักที่มี การเรียนรู้และการทำความเข้าใจสำหรับผู้นำไทยในเรื่องเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้นำอาเซียน

5) ความท้าทายที่สำคัญคงหนีไม่พ้นปัญหาการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีสงครามการค้าเป็นตัวแทนที่ชัดเจนในปัจจุบัน และยังรวมถึงปัญหาเก่าที่อยู่กับอาเซียนมานานคือปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนจะนำเสนอวิสัยทัศน์อะไรในเรื่องนี้แก่อาเซียน เพราะในช่วงเวลาของรัฐประหารนั้น ผู้นำรัฐบาลทหารไทยได้แสดงออกอย่างชัดเจนในการพาประเทศเข้าไปใกล้ชิดกับจีน อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลตะวันตกไม่สนับสนุนการยึดอำนาจที่กรุงเทพ ถ้าเช่นนั้นรัฐบาลไทยจะเสนอทิศทางใดให้แก่อาเซียน ในขณะที่ทิศทางของไทยกลับแสดงออกถึงความใกล้ชิดกับจีนอย่างเห็นได้ชัด และประเด็นสำคัญที่อาจกำลังถูกจับตามองเฉพาะหน้าประการหนึ่งก็คือ ผู้นำไทยจะพาอาเซียนไปในทิศทางใดในสถานการณ์สงครามการค้าปัจจุบัน


6) รัฐบาลไทยพร้อมเพียงใดที่ผลักดันทางออกในการจัดการกับปัญหาใหม่ๆของอาเซียน เช่น ปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม (environmental security) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาไฟป่า ปัญหาหมอกควัน ปัญหาการจัดการน้ำ หรือในอีกด้านคือ ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ (climate change) ที่ต้องการมาตราการในระดับภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงปัญหาขยะ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติก และขยะอิเล็คโทรนิค เป็นต้น หรือในอีกส่วนก็คือ ปัญหาตกค้างในอาเซียนที่ยังคงต้องการการแก้ไข เช่น ปัญหาความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในเมียนมา ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ (รวมถึงปัญหายาเสพติด) ปัญหาการค้ามนุษย์ และยังมีคำถามที่ต้องการคำตอบจากผู้นำทหารไทยว่า ในฐานะประธานจะผลักดันให้อาเซียนสนใจในประเด็นทางด้านสิทธิมนุษยชนหรือไม่

7) ความท้าทายประการสำคัญยังเป็นผลจากขีดความสามารถทางการทูตของรัฐบาลไทยเอง เพราะผลจากการรัฐประหารทำให้งานการทูตของไทยประสบปัญหาอย่างมาก ในสถานการฌ์ของภูมิภาคปัจจุบันนี้ คงต้องยอมรับความจริงประการสำคัญว่า ความเป็นผู้นำของประเทศไทยในเวทีภูมิภาคลดลงอย่างมาก ข้อจำกัดจากการยึดอำนาจทำให้รัฐบาลทหารไม่มี “จุดขาย” ในประชาคมระหว่างประเทศ และสถานะของประเทศเองก็ตกต่ำลงด้วย ดังนั้นในระยะเวลาประมาณครึ่งปีที่เหลืออยู่จึงน่าสนใจอย่างมากว่า ผู้นำไทยจะฟื้นความเป็นผู้นำในอาเซียนได้มากน้อยเพียงใด

8) ในตำแหน่งประธานอาเซียนนั้น ผู้นำทหารไทยจะต้องอยู่ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะต้องตระหนักว่า การแสดงออกทั้งการสัมภาษณ์ ภาษากาย ตลอดรวมถึงการแสดงท่าทางต่างๆเช่นที่ปรากฏให้เห็นในการสัมภาษณ์กับสื่อไทย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมอีกต่อไป และเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำไทยจะเผชิญกับคำถามจากสื่อระหว่างประเทศอีกแบบในขณะที่ดำรงตำแหน่งนี้

9) ผู้นำทหารไทยจะต้องตระหนักเสมอว่า ตำแหน่งที่ได้รับนี้ผูกพันกับสถานะระหว่างประเทศ กล่าวคือ การตัดสินใจ การแสดงออกด้วยท่าทีต่างๆ ตลอดรวมถึงถ้อยแถลงทั้งหลายล้วนมีผลต่อสถานะของอาเซียน และรวมถึงของไทยเองด้วย จะคิดง่ายๆเหมือนกับการใช้อำนาจพิเศษที่มีในการเมืองไทยไม่ได้อีกต่อไป และที่สำคัญจะต้องตระหนักเสมอว่า ผู้นำไทยในตำแหน่งนี้จะไม่แสดงอะไรที่ทำให้ไทยกลายเป็น “ตัวตลก” ทางการเมืองในอาเซียน

10) นอกจากนี้ยังคงต้องรอว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยในรัฐบาลใหม่คือใคร เพราะผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้จะเป็นอีกคนที่จะต้องรับบทบาทในการประชุมอาเซียน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าสนใจเฉพาะหน้าว่า ในการประชุมผู้นำสูงสุดของอาเซียนที่กรุงเทพนี้ เราจะเห็น “ว่าที่รัฐมนตรีต่างประเทศไทย” มาสังเกตการประชุมด้วยหรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีไทยจะยังคงใช้รัฐมนตรีต่างประเทศคนเดิม (ที่จากรัฐบาลรัฐประหาร) ให้มาร่วมประชุม ซึ่งก็จะทำให้เกิดปัญหากับสถานะของรัฐบาลไทยเองว่า ตกลงแล้วรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลเลือกตั้งเป็นประธานอาเซียน เว้นแต่สุดท้ายแล้ว ผู้นำในอาเซียนอาจจะต้องยอม “หลับตา” ให้กับสถานะของรัฐบาลไทย ภายใต้หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน

ทุกขลาภ!
สุดท้ายนี้คงต้องขอแสดงความยินดีกับผู้นำไทยที่เข้าดำรงตำแหน่งอันมีเกียรติของภูมิภาคในฐานะประธานอาเซียน แต่ขณะเดียวกันก็อดประหวั่นพรั่นพรึงใจกับลาภครั้งนี้ไม่ได้ และก็หวังว่าจะไม่เป็น “ทุกขลาภ” ที่โหดร้ายจนเกินไปนัก
อีกทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การรับตำแหน่งนี้จะไม่เป็นปัญหาให้ผู้นำไทยต้องขาดการประชุมรัฐสภาที่กรุงเทพ ด้วยเหตุผลว่า “ต้องไปประชุมอาเซียน” เพราะการประชุมอาเซียนอาจจะดูน่ากลัวอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นการประชุมระหว่างประเทศ แต่การประชุมสภากับฝ่ายค้านที่กรุงเทพน่ากลัวกว่า(และอาจจะโหดร้ายด้วย)แน่นอน!