E-DUANG : เดือนธันวาคม อันทรงความหมาย “วินเตอร์ อิซ คัมมิ่ง” สู่เปลี่ยนผ่าน

ทำไม วลีที่ว่า วินเตอร์ อิซ คัมมิ่ง จึงทรงความหมายเป็นอย่างสูงในยุค “7 อาณาจักร”

เพราะว่าเป็น “การเตือน”

เหมือนกับเป็นการเตือนในเรื่อง “ฤดูกาล” แต่ก็แฝงนัยยะในทาง “การเมือง” อย่างแนบแน่น

นัยยะ 1 คือ การเปลี่ยนผ่าน

ไม่เพียงแต่คนซึ่งอยู่ในดินแดนฝ่ายเหนือเท่านั้นที่รับรู้และซึมซาบอย่างเป็นพิเศษ

คนในภาคกลาง คนในตอนใต้ ก็รับรู้

ไม่เพียงแต่เป็นสำนวนอันยอมรับกันภายใน”7 อาณาจักร”เท่า นั้น หากแม้ในแผ่นดินจีนที่มีการสัประยุทธ์ในทางการเมืองดำเนินไปอย่างเข้มข้น

“เหมาเจ๋อตง” ก็เคยนำเสนอบทความสั้นๆแต่สำคัญ เน้นให้เห็นว่า “ฤดูกาล”ได้”เปลี่ยน”ไปแล้ว

มีความจำเป็นต้อง”ตระเตรียม” และ”ปรับตัว”

 

กล่าวสำหรับสังคมประเทศไทย เมื่อใดที่เดือนธันวาคมเดินทางมาถึงนั่นหมายถึง “ระยะผ่าน”

ผ่านจากปีเก่า เข้าสู่ปีใหม่ในเดือนมกราคม

คนรุ่นก่อนเก่ารับรู้กันอย่างดีว่า เดือนธันวาคมคือเดือนที่ย่างเข้าสู่ “หน้าหนาว”

เมื่อย่างเข้าสู่”หน้าหนาว” ลมหนาวย่อมพัด โชยกระหน่ำ

เหมือนกับจะเป็นบทเพลงที่สะท้อนออกมาและได้รับความนิยมในยุคของ ล้วน ควันธรรม

แต่ก็ดำเนินไปเหมือนกับ วินเตอร์ อิซ คัมมิ่ง

และก็ดำเนินไปเหมือนกับที่ “เหมาเจ๋อตง”เคยเตือนเอาไว้ในยุคแห่งสงครามกลางเมืองอันยาวนาน

“ฤดูกาล” ได้ “เปลี่ยน”ไปแล้ว

 

ความหมายสำหรับสังคมประเทศไทยพลันที่สิ้นเดือนธันวาคมและ เข้าสู่เดือนมกราคม

นั่นก็คือการจบลงของปี 2559

ในอีกด้านหนึ่ง นั่นก็คือ การเริ่มต้นของปีใหม่ในเดือนมกราคม 2560

บาทก้าว 1 ของ”โรดแมป”

“โรดแมป” อันเป็นไปตามสัญญาประชาคมที่ให้ไว้หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

นั่นหมายถึงการเดินไปสู่ “การเลือกตั้ง”

การเลือกตั้งซึ่งว่างเว้นมาตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

การเลือกตั้งซึ่งถูก “ชัตดาวน์”อย่างจงใจในเดือนกุมภาพันธ์ 2557

พลันที่เดือนมกราคม 2560 มาเยือน จึงทรงความหมายไม่เพียงแต่ วินเตอร์ อิซ คัมมิ่ง หากยืนยันความจริงแห่ง”ฤดูกาล”ที่ “เปลี่ยน”

เปลี่ยนจากยุคแห่ง “รัฐประหาร” เข้าสู่ยุคแห่ง “การเลือกตั้ง” ของประชาชน