ในหลวง ร.9 กับงานด้าน “สมุนไพร”

เป็นที่ทราบกันอย่างดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ มากมาย อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอดพระชนมายุของพระองค์ ซึ่งประชาชนชาวไทยทั้งปวงเห็นพ้องกันว่า พระองค์ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรมและนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง จึงร่วมกันลงนามเพื่อถวายสมัญญานามให้ทรงเป็น “มหาราช” อยู่ในใจคนไทยทั้งชาติ

พระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ในงานด้านต่างๆ งานด้านเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมากมาย งานที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนช่วยให้มีงานทำ การฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะทรัพยากรทางน้ำ ไม่ว่าจะมีโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม แก้ปัญหาน้ำเสีย

รวมถึงโครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ งานฟื้นฟูอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์

และงานด้านส่งเสริมการใช้สมุนไพร ฯลฯ

กล่าวเฉพาะงานด้านสมุนไพร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระองค์ท่านทรงมีวิสัยทัศน์ลึกซึ้งและกว้างไกลยิ่งนัก ทรงเห็นความสำคัญของสมุนไพรและการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรมาตั้งแต่เมื่อ 36 ปีที่แล้ว

โดยพระองค์ท่านดำริให้ตั้ง โครงการศูนย์การศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อน ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในพื้นที่ 15 ไร่ จัดสร้างสวนป่าสมุนไพรเพื่อรวบรวมและปลูกพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ ไว้ศึกษาวิจัยทางวิชา และส่งเสริมการเผยแพร่การใช้ประโยชน์ ให้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2523 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นมหาโพธิ์ ณ สวนป่าสมุนไพรนี้ และมีการจารึกข้อความบนศิลาจารึก ณ สวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ซึ่งมีด้วยกัน 4 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่าสมุนไพรอันเกิดในพระราชอาณาเขต มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคอย่างวิเศษมาแต่โบราณกาลนั้นนับวันจะลดน้อยถอยลงตามลำดับ เพราะขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ศึกษาให้ชัดเจน มิได้เป็นกาลต่อเนื่องแต่กาลก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จัดทำเป็นโครงการสวนป่าสมุนไพร

ด้านที่ 2 วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2525 ตรงกับวันพุธขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ ร.ศ.201 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงวางศิลาฤกษ์ สร้างศิลาจารึก ณ โครงการสวนป่าสมุนไพร ศูนย์การศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อนแห่งนี้

ด้านที่ 3 เริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยใช้เงินงบประมาณพัฒนาจังหวัด จำนวน 1,000,000 บาท เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2535 ตรงกับวันจันทร์ แรม 5 ค่ำ เดือน 8 ปีมะแม ร.ศ.210 ขอให้สวนป่าสมุนไพรแห่งนี้ จงเจริญก้าวหน้า และยังประโยชน์สงเคราะห์เกื้อกูลแก่ประชาชนคนไทย โดยทั่วหน้าสืบไปชั่วกาลนานเทอญ

ด้านที่ 4 ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นศูนย์กลางการสมุนไพร เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการวิจัยทางวิชาการอันเป็นแหล่งทัศนศึกษา และเผยแพร่ ให้ความรู้การใช้สมุนไพรเป็นอาหาร บำบัดโรค บำรุงรักษาสุขภาพ

อันจะช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจในครัวเรือนแก่พสกนิกรทั่วไป

 

โครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับสมุนไพรยังมีอีกหลายโครงการ แต่อาจกล่าวว่า โครงการศูนย์การศึกษาและพัฒนาเขาหินซ้อน เป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้กับวงการสมุนไพรของไทย เพราะยังจำได้ดีว่า สมัยโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองเริ่มก่อตั้งและทำงานในพื้นที่กับชาวบ้านกับผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ที่อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ในช่วงปี 2523 ถึงราวปี 2530 นั้น ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ในโครงการดังกล่าวอย่างมาก และถือเป็นแหล่งที่เก็บพันธุ์สมุนไพรมาจนถึงปัจจุบัน

มูลนิธิสุขภาพไทยขอน้อมสืบสานพระราชปณิธาน ใคร่ขอนำตัวอย่างผลงานชิ้นเล็กๆ จากการประชุมวิชาการประจำปี การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความตั้งใจของพระองค์ที่สนับสนุนการศึกษาวิจัยการปลูกพืชสมุนไพร

ขอนำเรื่อง การศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของพลูคาว ที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดย สุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง (ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร) มาเล่าโดยย่อ

 

การศึกษานี้มาจากโจทย์ว่า พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.) พบมากในภาคเหนือ ทั้งที่ขึ้นตามธรรมชาติและที่ปลูกเอง สารออกฤทธิ์ที่มีในพลูคาวมีคุณสมบัติในการทำลายและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง มีฤทธิ์ต้านไวรัสและแบคทีเรีย

แต่ปัจจุบันในการผลิตพลูคาวยังขาดพันธุ์ที่ให้สารสำคัญสม่ำเสมอ การปลูกในสภาพพื้นที่ต่างกันให้สารสำคัญต่างกัน จึงต้องศึกษาการปลูก การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ มีสาระสำคัญที่มีฤทธิ์ทางเภสัชที่สูง

ผลสรุป โดยย่อ จากการทดลองเมื่อบำรุงรักษาไปจนครบระยะ 6 เดือน ซึ่งพืชมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยว พบว่า สายพันธุ์ใบเขียวลำปาง สายพันธุ์ใบแดงพิษณุโลก สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 2 และ สายพันธุ์ใบเขียวสุโขทัย มีแนวโน้มให้ผลผลิตที่คิดเป็นน้ำหนักสดต่อตารางเมตรสูงกว่าสายพันธุ์อื่น

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำผลผลิตสดดังกล่าวมาอบแห้ง พบว่าน้ำหนักแห้งที่ได้จากทุกสายพันธุ์ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ

แต่ที่สำคัญของการศึกษานี้อยู่ที่ การพิจารณาจากปริมาณสารสำคัญสองชนิดที่ทำการตรวจวิเคราะห์ คือ Quercitin พบว่า สายพันธุ์ก้านม่วงแพร่ 1 มีแนวโน้มพบสารสำคัญดังกล่าวในผลผลิตสดมากกว่าสายพันธุ์อื่น

ส่วน Rutin พบว่ามีแนวโน้มพบในสายพันธุ์ใบเขียวลำปางสูงกว่าสายพันธุ์อื่น แม้ว่าเป็นการศึกษาเบื้องต้นแต่ก็ช่วยให้กลุ่มผู้ปลูกสมุนไพรที่คิดจะผลิตวัตถุดิบพลูคาว ได้รู้ว่าควรปลูกสายพันธุ์ไหน

สถิตอยู่ในใจตราบนิรันดร์ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้า คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิสุขภาพไทย