พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ กลไกขับเคลื่อนกีฬาสู่เอเชีย-โลก

ปัจจุบันวงการกีฬาของเมืองไทยถูกยกระดับขึ้นมาจากเมื่อก่อนอย่างมาก กีฬาในยุคนี้กลายเป็นธุรกิจแบบเต็มตัว บางชนิดถูกพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมระดับประเทศในเรื่องของอุปกรณ์กีฬากันแล้ว

เมื่อก่อนตัวชี้วัดความสำเร็จของกีฬาจะอยู่ที่การครองเจ้ากีฬาซีเกมส์, การได้เหรียญทองในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ แต่ปัจจุบันกีฬาอย่างฟุตบอล, วอลเลย์บอล หรือมวยไทย กลายเป็นชนิดกีฬาที่มีแฟนกีฬาให้การติดตามจากการจัดระบบลีกอาชีพขึ้นมาอย่างล้นหลาม

จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของกีฬาอาชีพในเมืองไทย ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดัน “พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556” จนประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน

ที่น่าแปลกใจคือ ประเทศไทย ถือเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกีฬาอาชีพ

“พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 130 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2556 และมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์หลักในการจัดทำ พระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 เพื่อเป็นกฎหมายที่จะส่งเสริมกีฬาอาชีพของประเทศไทยให้มีมาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ และกำหนดมาตรการคุ้มครอง ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอาชีพ บุคลากรกีฬาอาชีพ และผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ เนื่องจากเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมกีฬาอาชีพของเมืองไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองทุกองคาพยพดังกล่าว

“บิ๊กเสือ” “สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการ กกท. เล่าว่า เมื่อปี พ.ศ.2548 เริ่มมีแนวคิดตั้งฝ่ายกีฬาอาชีพขึ้นมา เพื่อขับเคลื่อนดำเนินการจัดการกีฬาอาชีพของเมืองไทย และจำเป็นต้องมีเครื่องมือที่จะเข้ามาพัฒนา ส่งเสริม คุ้มครองบรรดาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้แก่ สมาคม สโมสร นักกีฬา บุคลากรทั้งหมด ซึ่งเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ กฎหมาย กกท. เลยเริ่มเก็บข้อมูล และร่างจนได้ข้อมูลชั้นต้นนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม. เห็นชอบในหลักการ และส่งต่อให้กฤษฎีกาเพื่อดูรายละเอียด

ซึ่งตรงจุดนี้ต้องยกคุณความดีให้กับท่านอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ชุมพล ศิลปอาชา (ถึงแก่กรรม) ที่ผลักดันจนสำเร็จออกมามีผลบังคับใช้ในปี 2556

แต่ว่าที่ผ่านมาทำไมรู้สึกว่าเงียบ ไม่ค่อยมีคนรู้ เพราะในตัวพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 มีกฎหมายลูกอยู่ 28 ฉบับ มีตั้งแต่วิธีการช่วยเหลือ คุ้มครอง มีระบุบทลงโทษหากมีการละเมิดไว้ชัดเจน ทำแล้วเสร็จไป 24 ฉบับ เหลืออยู่อีก 4 ฉบับที่อยู่ระหว่างการดำเนินการคือ

1. มาตรฐานการจัดกีฬาอาชีพ และมาตรฐานความปลอดภัยการแข่งขันกีฬาอาชีพ

2. ประมวลจริยธรรม และจรรยาบรรณของนักกีฬาอาชีพ และบุคลากรกีฬาอาชีพ

3. มาตรฐานการจ้าง

และ 4. การรวมกลุ่มกันเป็นองค์กรของนักกีฬาอาชีพ และบุคลากรกีฬาอาชีพ

นายใหญ่ค่ายหัวหมาก บอกต่อว่า คณะกรรมการกีฬาอาชีพจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง นโยบายดำเนินการ โดยที่มี กกท. เป็นหน่วยธุรการเพื่อทำงานตามนโยบาย โดยในปี 2560 รัฐบาลมุ่งหวังไว้ว่ากีฬาอาชีพจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรืออุตสาหกรรมกีฬา ซึ่งจะมีการส่งเสริมเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล กีฬาอาชีพจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะสร้างศักยภาพคนไทยต่อสายตาชาวโลก

ซึ่งปัจจุบันตัวเลขที่มีการสรุปไว้ในวงจรอุตสาหกรรมกีฬามีตัวเลขอยู่ที่หลักหมื่นล้านบาทต่อปี

ยกตัวอย่างฟุตบอลอาชีพกีฬาเดียว แต่ละสโมสรลงทุนปีละเท่าไหร่ อุตสาหกรรมรอบข้างสนาม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสื้อผ้ากีฬา อุปกรณ์กีฬา ซึ่ง กกท. ก็กำลังรวบรวมตัวเลขให้ชัดเจน รวมไปถึงการนำกีฬาระดับโลกที่เป็นที่นิยมของคนทั้งโลกมาแข่งในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น กอล์ฟ, มาราธอน, รถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์

“วันนี้เรามีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มงบประมาณบางส่วนที่ขาดไปนอกเหนือจากการได้รับอุดหนุนต่อปี ซึ่ง 3 ปีหลังสุดกีฬาอาชีพของไทยได้รับจัดสรรงบฯ ปีละ 300 ล้านบาท แต่ปี 2560 จะได้รับอุดหนุนปีละ 250 ล้านบาท เมื่อผลประเมินเสร็จ กีฬาอาชีพก็จะเป็นอาชีพจริงๆ ในปี 2560 รัฐบาลกำชับว่าต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงๆ จังๆ หลังจากนี้จะมีการเดินทางไปจัดสัมมนาทั่วประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ เรื่องมาตรการลดหย่อนภาษีในกีฬาอาชีพ โดยจะมีการผลักดันให้ผู้ที่เข้ามาสนับสนุนสโมสรกีฬาอาชีพสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าตัว ซึ่งกำลังรวบรวมและนำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. เพื่อลดภาระรายจ่ายของแต่ละสโมสร ขณะเดียวกัน ยังเป็นการช่วยลดภาระการสนับสนุนของภาครัฐด้วย ในส่วนของนักกีฬาอาชีพที่ไปแข่งขันต่างประเทศแล้วได้รับเงินรางวัลกลับมาเมืองไทย ปัจจุบันกรมสรรพากรเรียกเก็บภาษี 35 เปอร์เซ็นต์ แล้วเท่าที่คุยกับนักกีฬาทุกคนเหลือรายได้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องหักรายจ่ายที่สำรองไปก่อนหน้านั้นอีก ตรงจุดนี้กำลังมีความคิดและอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อเตรียมที่จะเสนอรัฐบาลเพื่อให้ลดเพดานการเรียกเก็บภาษีของนักกีฬาอาชีพ รวมถึงให้สามารถนำเอารายจ่ายต่างๆ มาลดหย่อนภาษีได้”

ผู้ว่าการ กกท. กล่าว

สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการ กกท. ย้ำในตอนท้ายว่า ในปี 2560 กกท. ได้ประกาศรับรอง 13 ชนิดกีฬาเดิมยังคงถูกจัดกลุ่มรับงบประมาณสนับสนุนเพื่อพัฒนาไปสู่อาชีพ จำนวน 40 รายการ จำแนกเป็น ฟุตบอล 6 รายการ, กอล์ฟ 11 รายการ, เจ็ตสกี 2 รายการ, วอลเลย์บอล 4 รายการ, ตะกร้อ 2 รายการ, โบว์ลิ่ง 1 รายการ, แข่งรถจักรยานยนต์ 3 รายการ, จักรยาน 2 รายการ, แข่งรถยนต์ 4 รายการ, สนุ้กเกอร์ 1 รายการ, เทนนิส 2 รายการ และบาสเกตบอล 1 รายการ

ซึ่งจากการประเมินตามหลักเกณฑ์ในรอบปีที่ผ่านมานั้น กีฬาประเภททีมที่ได้รับความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม 13 กีฬาอาชีพแน่นอนว่า ฟุตบอลมาเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 คือ วอลเลย์บอล รองลงมาอันดับ 3 คือ บาสเกตบอล

ส่วนกีฬาบุคคล อันดับ 1 คือ กอล์ฟ อันดับ 2 คือ แบดมินตัน อันดับ 3 คือ เทนนิส อันดับ 4 สนุ้กเกอร์ และอันดับ 5 คือ จักรยาน

ซึ่งเมื่อจบปี 2560 จะมีหน่วยงานที่ทำการประเมินผลการดำเนินงานของ 13 ชนิดกีฬา โดยยึดแบบประเมินแยกตามแต่ชนิดกีฬา ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้จัดทำแบบฟอร์มการประเมิน บางกีฬามีจุดอ่อนเรื่องผู้ชมแม้จะพยายามผลักดันแก้ไขยังไงก็ตาม ตรงจุดนี้ก็ต้องมาคุยกันว่าจะต้องกลับไปที่เดิมหรือไม่

“มาตรการคุ้มครองสำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ไม่ใช่แค่คุ้มครองนักกีฬา แต่หมายรวมถึงทุกส่วน ทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้องกับกีฬาอาชีพ หากมีการพบว่าเข้าข่ายละเมิด หรือมีผู้ร้องแจ้งความที่สถานีตำรวจใดก็จะพิจารณาไปตามกระบวนการขั้นตอนโดยยึดพระราชบัญญัติส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ.2556 ซึ่งโทษที่กำหนดไว้มีตั้งแต่การปรับเงินหลักหมื่น หลักแสน ไปจนถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยเชื่อว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะช่วยยกระดับกีฬาอาชีพของเมืองไทยให้มีความโปร่งใส แข่งขันกันแบบนักกีฬา ไม่มีการล็อกผลใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ดีของวงการกีฬาไทยต่อสายตาชาวโลก” บิ๊กเสือ กล่าว

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นต้นไปกีฬาอาชีพของเมืองไทยจะเดินไปในทิศทางใดเมื่อมีทั้งงบประมาณที่มากพอจะผลักดันทั้ง 13 กีฬาไปสู่อาชีพแบบเต็มตัว

เป็นเรื่องน่าติดตามยิ่งนัก…