กรณี “โต ซิลลี่ฟูลส์” ความท้าทายของมุสลิม ในสังคมพหุวัฒนธรรมยุคสื่อไร้พรมแดน

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

เมื่อ 30 มีนาคม 2561 กรณีนายวีรชน ศรัทธายิ่ง หรือ “โต” อดีตนักร้องนำวง “ซิลลี่ฟูลส์” ได้จัดรายการโต-ตาล กับพิธีกรคู่หูตาล และมีการตอบคำถามจากทางบ้าน “ทำไมอิสลามไม่มีรูปปั้นของพระเจ้าเหมือนชาวพุทธไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจ”

โดย “โต” ได้ตอบคำถามตอนหนึ่งว่า “การเป็นพระเจ้า หนึ่งข้อแม้คือต้องไม่เหมือนสิ่งใดที่พระองค์สร้าง เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่ท่านปั้นไม่มีทางเหมือนพระองค์ พระองค์ยิ่งใหญ่เกินจินตนาการของมนุษย์ที่จะสามารถจับพระองค์ได้ นี่คือพระเจ้า ในฐานะผู้ศรัทธา ผมจะไม่กราบสิ่งใดที่ต่ำเท่าผม หรือต่ำกว่าผม รูปปั้นผลักก็ตกแตกแล้ว มันต่ำกว่าผมและมันไม่มีชีวิต” (โปรดดู https://www.isanbanthung.com/18282)

หลังจากนั้นก็มีกระแสวิจารณ์มากมายในโลกโซเชียลถึงความไม่เหมาะสมของโต “ซิลลี่ฟูลส์” ในการให้ทัศนะครั้งนี้

และทำท่าจะบานปลายเมื่อมีการโต้ในสื่อ เช่น ทัศนะของเสก โลโซ หรือทัศนะของอาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ ที่ชี้ว่า “โต” ไม่เข้าใจโลกจากมุมมองคนอื่น เผยรูปเคารพเป็น “สัญลักษณ์” สื่อสิ่งที่เคารพ รวมทั้งมีการแจ้งความจะให้ดำเนินคดีโตฐานหมิ่นศาสนาพุทธจากหนุ่มเชียงใหม่

ในขณะเดียวกันฝั่งมุสลิมเอง นำโดยจุฬาราชมนตรีและนักวิชาการอิสลามได้ออกมาเตือนและแนะนำโตเช่นกันในกรณีนี้

(โปรดดู 1.https://www.okmuslim.com/%e0%b8%88%e0%b8%b8%e0%b8%ac%e0%b8…/ 2.https://www.deepsouthwatch.org/node/11808)

ต่อมาวันที่ 4 เมษายน ด้วยจิตสำนึกของโตในฐานะบ่าวผู้ศรัทธาต่อเอกองค์อัลลอฮ์ได้ออกมาขอโทษต่อพุทธศาสนิกชนและทุกท่าน (โปรดดู http://www.partiharn.com/contents/bf/914)

เจนส์ มุสลิม หรืออาจารย์มังโซร์ คงคาลิมีน นักบรรยายชื่อดังอีกคนได้ให้ทัศนะว่า (ก่อนโตออกมาขอโทษนิดหนึ่ง)

“จริงๆ แล้ว คุณโตและตาลทำงานที่ดีๆ มีมากมายนะครับ ต้องชื่นชม เพียงแต่ครั้งนี้มันหมิ่นเหม่ไปหน่อย ผมว่าหากออกมาขอโทษบางเรื่องบางราว บางความรู้สึก…ทั้งสองก็ยังคงดะวะฮฺ (การเผยแผ่ศาสนาอิสลาม) ต่อไปด้วยความสง่างามครับ ความดีของทั้งสองมีเยอะมากๆ ครับ เยอะมากกว่าเป็นร้อยเท่า…เปลี่ยนวัยรุ่นมาสู่หนทางที่ถูกต้องมามากมาย…คนเราเผลอไผลพลาดพลั้งกันได้บ้าง สิ่งที่ผิดพลาดก็รีบขออภัยสังคมและเปลี่ยนแปลงตนเองเสีย”…

ผู้เขียนก็ต้องชื่นชมโตในการรีบขอโทษสังคมไทยและทุกท่านที่ช่วยชี้แนะในการแก้ปัญหาครั้งนี้

หวังว่าบทเรียนครั้งนี้จะทำให้มุสลิมฝ่าความท้าทายในสังคมพหุวัฒนธรรมในยุคสื่อไร้พรมแดน

เป็นที่น่ายินดีว่า เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม 2561 ณ Patani Art Space ตำบลดอนรัก อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ผู้เขียนได้ร่วมเสวนาสาธารณะ หัวข้อ “สนทนากับพหุวัฒนธรรม บทสะท้อนจากนักวิชาการอิสลาม” ซึ่งมีนักวิชาการอิสลามอย่าง ผศ.เจ๊ะเลาะห์ แขกพงษ์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ดร.ฆอซาลี เบ็นหมัด มหาวิทยาลัยฟาฏอนี และอุสตาซซอลาฮุดดิน หะยียูโซ๊ะ เลขานุการคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.มูฮำหมัดอิลยาส หญ้าปรัง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

จากการเสวนาครั้งนี้มีความท้าทายสำหรับผู้เขียนในการจัดการพหุวัฒนธรรมสองส่วน

หนึ่ง พหุวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมกับต่างศาสนิก

สอง พหุวัฒนธรรมระหว่างมุสลิมกันเอง

สำหรับความท้าทายข้อที่หนึ่งผู้อ่านสามารถอ่านรายละเอียดในหนังสือผู้เขียนได้ในหนังสือวิถีมุสลิมกับความหลากหลายวัฒนธรรม (โปรดดู http://www.prd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=75311) ซึ่งในหนังสือนี้จะฉายภาพถึงวิถีชีวิตมุสลิมในภาพรวม มีหลักศรัทธา หลักปฏิบัติที่แตกต่างจากคนต่างศาสนิก

ในขณะที่เป้าหมายของศาสนาอิสลามซึ่งพระเจ้าได้ส่งศาสนทูตมุฮัมมัดเพื่อให้ความเมตตาต่อประชาชาติทั้งมวล ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด เชื้อชาติ สีผิวใด หรือแม้กระทั่งสิงสาราสัตว์

แต่เมื่อกลับไปดูปฏิบัติการบางอย่าง บางคน ในพื้นที่ซึ่งได้รับข้อมูลจากคนต่างศาสนิกผ่านเวทีพูดคุยสาธารณะหลายครั้งโดยเฉพาะพระในพื้นที่ กล่าวคือ เด็กๆ มุสลิมบางคนเมื่อเห็นพระ ยังถ่มน้ำลายต่อพระ ซึ่งสิ่งนี้ยังเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับนักวิชาการมุสลิมว่าจะทำอย่างไรที่จะอธิบายให้คนของตัวเองได้เข้าใจในหลักการอิสลามที่ถูกต้องจากทฤษฎีสู่ปฏิบัติให้ได้

ไม่เพียงเท่านั้น หากกิจกรรมใดที่เป็นกิจกรรม (อาจจะ) ร่วม แต่อาจจะมีบางส่วนเกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่น กิจกรรมวันไหว้ครู การเสียชีวิตของต่างศาสนิกและกิจกรรมทางสังคมที่อาจมีบางส่วนที่มีพิธีกรรมทางศาสนา

เรื่องเหล่านี้ก็เป็นโจทย์สำคัญสำหรับมุสลิมโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สำนักจุฬาราชมนตรี ที่จะช่วยชี้เหตุผล หลักการว่าส่วนไหนทำได้ไม่ได้แค่ไหนอย่างไร เพื่อมุสลิมเองจะได้ปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน

รัฐเองก็จะได้จัดการให้ถูกต้องและชาวบ้านต่างศาสนิกจะได้เข้าใจ

สำหรับประเด็นนี้ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะต่อมุสลิมดังนี้

หนึ่ง การศึกษาหลักการอิสลามกับพหุวัฒนธรรม

สอง การยอมรับเรื่องพหุวัฒนธรรม

สาม การสานเสวนาระหว่างคนต่างศาสนิกต่างวัฒนธรรมในทุกระดับ ไม่ว่าประชาชน นักวิชาการ ผู้นำศาสนา

สี่ การหนุนเสริมการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี

สําหรับความท้าทายข้อที่สองคือความเห็นต่างระหว่างนักวิชาการอิสลามในพื้นที่ในประเด็นปลีกย่อยด้านหลักศรัทธา (ท่านสามารถอ่านรายละเอียดวิทยานิพนธ์ผู้เขียนได้ใน http://soreda.oas.psu.ac.th/show_detail.php?research_id=108) หรือความแตกต่างด้านหลักปฏิบัติอันเนื่องมาจากในโลกมุสลิมเองมีนิกายต่างๆ อันส่งผลวิถีปฏิบัติของมุสลิมเองต่างกันด้วย (โปรดอ่านรายละเอียดในหนังสือกฎหมายอิสลามของผู้เขียน https://www.deepsouthwatch.org/node/10243)

จากทัศนะที่แตกต่างของนักวิชาการอิสลามในอดีตส่งผลให้วิถีหลักศรัทธา หลักปฏิบัติของมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จนเป็นวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตที่แตกต่างด้วยเช่นกัน

ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งด้วยเช่นกัน

หรืออาจจะพูดได้ว่า “จากพหุทัศนะสู่พหุวัฒนธรรมในสังคมมุสลิม” ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายของมุสลิมโดยเฉพาะผู้นำศาสนา ซึ่งประชาชนมักจะอ้างแบบชาวบ้านระหว่างสายเก่ากับสายใหม่ว่ามีทัศนะที่แตกต่าง

จะสามารถสานเสวนาผ่านปฏิบัติการทางวิชาการภายใต้แนวคิดแสวงหาจุดร่วมสงวนจุดต่าง

ในขณะเดียวกัน ปัญหาร่วมสมัยต่างๆ จะทำอย่างไรที่จะมีการปรึกษาหารือ ปฏิสัมพันธ์กับผู้รู้ทั้งสองสายกับผู้รู้ระดับโลกเพื่อสามารถแก้ปัญหาให้สอดคล้องเหมาะสมทันยุคทันสมัย

ทั้งสองความท้าทายของมุสลิมยุคสื่อสารไร้พรมแดนนั้น องค์กรศาสนาอิสลามเองโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีจะสร้างนักสื่อสารมุสลิมรวมทั้งผู้เผยแผ่ศาสนาตามทีวีมุสลิมและสื่ออื่นๆ ให้มีอารยะในการเผยแผ่ได้อย่างไร

เพราะนับวันกระแสชาวบ้านทั้งมุสลิมเองหรือต่างศาสนิกมองว่า คนที่บรรยายศาสนาอิสลามยังมีอีกหลายคนขาดศาสตร์และศิลป์ในการสื่อสารอันนำไปสู่ความขัดแย้งไม่เฉพาะต่างศาสนิก แต่ในสังคมมุสลิมด้วยกันเอง

อับดุลกอเดร์ มันแสละ นักกิจกรรมมุสลิมคนหนึ่งในสังคมไทยเสนอว่า คนที่จะพูดเรื่องศาสนาอิสลามในสังคมพหุวัฒนธรรม ที่มีความเชื่อหลายศาสนา ต้องคำนึงในสิ่งต่อไปนี้

1. สำนักคิด (มัสฮับ/นิกายไหน)

2. ต้องเข้าใจหลายวิชา

3. รู้เขารู้เรา (เรียนรู้กติกาของทุกศาสนา)

4. ต้องสำรวม (มีนิสัยไม่ก้าวร้าว)

5. ต้องเข้าใจศาสนาต่างๆ ด้วย ไม่ใช่รู้ศาสนาอย่างเดียว อิสลามดีอย่างเดียว ศาสนาอื่นผิดหมด

ถ้าคิดแบบนี้ในมุมกลับ คนในศาสนาอื่นๆ ก็ต้องคิดว่าศาสนาตัวเองดี ศาสนาอื่นๆ ไม่ดี

หลายๆ ประเด็นที่เกิดความขัดแย้งกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากสื่อปัจจุบันเผยแพร่เร็วมาก ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกคนเป็นสื่อกันหมดแล้ว ใครจะคิด ใครจะสอน ใครจะวิพากษ์อะไรก็ได้ในเรื่องศาสนา ก็เลยทำให้มีผลกระทบกับสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรมแบบสังคมไทยการอยู่ร่วมกัน

แม้ว่าเราจะไม่เชื่อในอีกความเชื่อหนึ่ง แต่เราก็ไม่ควรไปวิพากษ์อีกความเชื่อหนึ่ง…