เสฐียรพงษ์ วรรณปก : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (10) อุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนา

ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา มีอุบาสกอุบาสิกา 2 คู่

คู่หนึ่งเป็นอุบาสกล้วน ถึงรัตนะ 2 คือ พระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ

คู่ที่สองเป็นอุบาสกกับอุบาสิกา ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

ขอเล่าโดยย่อดังนี้

(1)

ผู้ถึงรัตนะสองคู่แรก

อุบาสกคู่นี้มีนามว่า ตปุสสะ กับ ภัลลิกะ ว่ากันว่าเธอทั้งสองมาจากอุกกลชนบท (หรืออุกกลาชนบท) อยู่แห่งหนตำบลใดไม่แจ้ง แต่น่าจะจากภาคเหนือของชมพูทวีปแถวตักสิลาโน่นแหละครับ

ทั้งสองคนนี้เป็นพ่อค้าเดินทางมาค้าขายผ่านมาทางตำบลคยา สถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ได้พบพระพุทธเจ้าขณะประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นราชายตนะ (ต้นเกด) ในสัปดาห์ที่ 4 หลังจากตรัสรู้ (หลักฐานฝ่ายอรรถกถาว่าเป็นสัปดาห์ที่ 7)

เมื่อเห็นพระพุทธองค์ก็มีจิตเลื่อมใส ได้น้อมนำเอา “ข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง” (ความจริงต้องพูดสับลำดับเป็น “สัตตุผง สัตตุก้อน”) ไปถวาย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังไม่มีบาตร ร้อนถึงท้าวโลกบาลทั้ง 4 ได้น้อมนำบาตรมาถวายองค์ละใบ พระพุทธองค์ทรงดำริว่าใบเดียวก็เพียงพอแก่เรา จึงทรงอธิษฐานให้บาตรทั้ง 4 ใบ ประสานเป็นใบเดียว ทรงรับข้าวสัตตุผงและสัตตุก้อนจากพ่อค้าทั้งสอง เสวยเสร็จแล้วก็ประทานอนุโมทนา

สัตตุผงนั้นบาลีเรียกว่า “มันถะ” คือข้าวตากที่ตำละเอียด สัตตุก้อนบาลีเรียกว่า “มธุบิณฑิกะ” คือข้าวตากที่ผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นก้อน

พ่อค้าทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะ ไม่ได้เปล่งวาจาถึงพระสงฆ์ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีพระสงฆ์ทั้งสองจึงเรียกว่าอุบาสกผู้ถึงรัตนะสองเป็นสรณะ (เทววาจิกอุบาสก)

ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดเพียงว่า เมื่อถวายสัตตุผง สัตตุก้อน แด่พระพุทธเจ้าแล้ว พ่อค้าทั้งสองก็กลับมาตุภูมิเรื่องจบแค่นี้ครับ

แค่นี้จริงๆ แต่พี่หม่องไม่ยอมให้จบ ได้แต่งต่อว่าพ่อค้าทั้งสองก่อนกลับได้กราบทูลขอของที่ระลึกเพื่อไปสักการะบูชาเมื่อจากพระพุทธองค์ไป พระพุทธองค์ทรงเอาพระหัตถ์ลูบพระเศียร เส้นพระเกศา 8 องค์หลุดติดพระหัตถ์มาพระพุทธองค์ประทานให้พ่อค้าทั้งสอง

พ่อค้าทั้งสองได้นำพระเกศาธาตุ 8 องค์นั้นไปก่อเจดีย์บรรจุไว้บูชาที่บ้านเมืองของตน พระเจดีย์นั้นรู้จักกันในปัจจุบันนี้ว่า ชเวดากอง

ตปุสสะกับภัลลิกะจะเป็นใครไม่ได้นอกจากชาวพม่าหงสาวดี พี่หม่องอ้างปานนั้นแหละครับ ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่จะพิจารณา

การแต่งตำนานเพิ่มเติมจากต้นฉบับเดิมทำกันทั่วไป พี่ไทยเราก็แต่งเติมครับ อย่างเรื่องนาคแปลงกายเป็นคนมาบวช ภายหลังความลับเปิดเผยขึ้น พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้ลาสิกขา แล้วบัญญัติข้อห้ามว่าสัตว์เดียรัจฉานห้ามบวชเป็นภิกษุ ถึงกับมีคำซักถามตอนจะบวชว่า “มนุสฺโสสิ = เจ้าเป็นมนุษย์หรือไม่”

เรื่องเดิมมีแค่นี้ แต่พี่ไทยแต่งเพิ่มว่า นาคแกเสียอกเสียใจมากที่ไม่มีวาสนาบวชอยู่ในพระพุทธศาสนา จึงกราบขอพรพระพุทธองค์ ขอฝากชื่อไว้ในพระพุทธศาสนาต่อไปใครจะมาบวชขอให้เรียกว่า “นาค” เถิด พระพุทธองค์ก็ทรงรับ

เพราะเหตุนี้แล ผู้จะเข้ามาบวชจึงเรียกว่านาค และการบวชเรียกว่าบวชนาค มิใช่บวชนาย ก. นาย ข. เห็นหรือยังครับพี่ไทยก็ “ตัดต่อ” เก่งไม่แพ้พี่หม่องเหมือนกัน

ดีเท่าไรแล้วที่ไม่แย่งเอาตปุสสะ ภัลลิกะมาเป็นคนไทยเพราะฟังชื่อแล้วน่าจะใกล้มาทางไทยมากกว่าพม่า

ตปุสสะ ก็ “ตาบุตร” ภัลลิกะ ก็ “ตาพัน” ยังไงล่ะครับ

(2)

ผู้ถึงพระรัตนตรัยคู่แรก

บิดามารดาของยสกุมาร บิดาชื่อเรียงเสียงใดไม่แจ้ง บอกแต่ว่าเป็นเศรษฐีเมืองพาราณสี ส่วนมารดานั้น แม้พระไตรปิฎกจะไม่เอ่ยนาม แต่อรรถกถาก็โยงว่าคือนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนตรัสรู้นั้นแล (ดังได้เล่าไว้แล้วในตอนที่ 3)

เมื่อยสกุมารผู้บุตร เกิดเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส มองเห็นแต่ความทุกข์ที่รุมเร้าจิตใจ จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านกลางดึก หลังจากตื่นขึ้นมาเห็นภาพอันน่าสังเวชของเหล่านางรำที่นอนหลับใหล แสดง “ทัศนะอุจาด” ต่างๆ เช่น บางนางก็นอนกรนเสียงดัง น้ำลายไหลจากปาก บางนางก็กัดฟัน ละเมอฟังไม่ได้ศัพท์ บางนางผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดอวัยวะที่ควรปิด เป็นต้น

ถ้าสมัยที่ยสกุมารยังสนุกอยู่กับความทุกข์ทางกาม ก็คงเห็นภาพเหล่านั้นน่าดูน่าชม แต่บังเอิญว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ยสกุมารเอือมกับความสุขทางเนื้อหนังมังสาเสียแล้ว ภาพเหล่านี้จึงปรากฏต่อเธอดุจซากศพในป่าช้าปานนั้น

จึงเดินลงเรือไป พลางเปล่งอุทานด้วยความสลดใจว่า “อุปทฺทูตํ วต โภ อุปสฏฐ” สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ” ถ้าจะแปลให้ถึงใจก็ต้องว่า “วุ่นวายจริงโว้ย กลุ้มจริงโว้ย” ประมาณนั้น

เขาเดินบ่นไปจนถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ขณะพระพุทธองค์เสด็จจงกรมอยู่ พระองค์ตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ ยสะ เราจะแสดงธรรมให้ฟัง” เขาจึงเข้าไปกราบพระบาท สดับพระเทศนาจนกระทั่งได้ดวงตาเห็นธรรมและทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ

บิดามารดาของยสกุมารตามหาบุตรมายังป่าอิสิปตนมฤคทายวันพบพระพุทธองค์ ได้ฟังธรรมเทศนา ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมแก่บิดามารดาของตนนั้น พระยสะนั่งอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์โดยต่างฝ่ายต่างก็มองไม่เห็นกัน ด้วยการบันดาลฤทธิ์ของพระพุทธองค์ เมื่อพระเทศนาจบลง พระยสะได้บรรลุพระอรหัต บิดามารดาได้ดวงตาเห็นธรรม

ทั้งสองได้เปล่งวาจาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิตนับเป็นอุบาสกอุบาสิกาคู่แรกที่ถึงพระรัตนตรัย