ผี พราหมณ์ พุทธ : การเมืองเรื่องกินเจ / คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

 

การเมืองเรื่องกินเจ

 

ผมเป็นลูกหลานฮกเกี้ยนฝั่งอันดามัน ซึ่งมีงานประเพณีสำคัญคือ กินเจ หรือที่บ้านเราเรียกอย่างตรงตัวว่า “เจี๊ยะฉ่าย” (แปลว่ากินผัก โดยเลี่ยงคำว่า “เจ” ซึ่งมักมีความหมายทางพุทธศาสนา) ในเดือนเก้า

แต่ผมไม่ได้กินเจมาหลายปี ทั้งที่สมัยเด็กๆ วนเวียนอยู่กับ “อ๊าม” หรือศาลเจ้าเป็นประจำ

ที่เลิกกินไปก็เพราะคิดอะไรในความ “คับแคบ” ของตัวเองครับ เป็นต้นว่า ไม่ชอบเรื่องการทรงเจ้าซึ่งเป็นส่วนที่แตกต่างกับเทศกาลกินเจของที่อื่นๆ ไปเห็นว่าเป็นความงมงาย แถมยังไม่ชอบท่าทีของคนกินเจบางคนที่คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนกินเนื้อ และไม่ชอบการยึดมั่นใน “รูปแบบ” เช่น ทำไมต้องใส่ชุดขาวกินเจ (ไปคิดในทำนองเหมือนเครื่องแบบปฏิบัติธรรม) อะไรแบบนี้

ปรากฏว่าปีนี้ผมกลับมาเจี๊ยะฉ่ายอีกครั้ง แถมใส่ชุดขาวด้วยนะครับ ขาดแต่การไปร่วมพิธีกรรม เพราะใน กทม.ไม่ได้มีรูปแบบพิธีอย่างที่บ้านของผม แต่ก็มีแวบไปศาลเจ้าเทพเช็งจุ้ยจ้อซู (โจวซือก๋ง) ตลาดน้อย ซึ่งเป็นศาลของชาวฮกเกี้ยนเพื่อไป “ป่ายกิ่วหองไต่เต่/กิ่วอ๋องไต่เต่” ไหว้เทพเจ้าประธานงานกินเจ

เทพกลุ่มนี้มาจากคติเดิมของเต๋าคือการนับถือดวงดาวทั้งเก้าซึ่งเป็นที่มาของสรรพสิ่ง ต่อมาพุทธศาสนาแปลงให้เป็นคติพุทธโดยถือเป็นพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ทั้งเก้า

คนฮกเกี้ยนยังเรียกตามคติเดิมว่า “กิ่วหองไต่เต่หรือกิ่วอ๋องไต่เต่” “นพราชาธิราช”

แต่คนแต้จิ๋วซึ่งรับคติทางพุทธศาสนามากกว่า เรียกเป็น “เก้าอ้วงฮุดโจ้ว” “นพราชาพุทธะ”

มีผู้ให้ข้อมูลว่า คนแต้จิ๋วนิยมเรียกเทพใหญ่ๆ ของศาสนาเต๋าว่า ฮุดโจ้ว เช่น “เฮียงบู๊ซัวฮุดโจ้ว” หรือเจ้าพ่อเสือที่คนไทยรู้จัก

 

ที่ผมกลับมากินเจ จริงๆ เป็นเหตุผล “เชิงการเมือง” ครับ

เพราะเมื่อได้ทราบอะไรบางอย่างเบื้องหลังงานเจี๊ยะฉ่าย ผมจึงต้องการจะเชื่อมโยงตนเองกับบรรพชนในกระแสธารแห่งความทรงจำและความทุกข์ยาก

รวมทั้ง “เจี๊ยะฉ่ายอธิษฐานมุ่งหมายขจัดเภทภัย” ด้วย

จึงกลายเป็นที่มาของบทความวันนี้

ซึ่งขอออกตัวว่าผมไม่ใช่ผู้รู้ แต่ประมวลจากคำบอกเล่าและความทรงจำ

มีผิดพลาดใดขอท่านได้โปรดชี้แนะด้วย

 

พิธีเจี๊ยะฉ่ายแบบบ้านเราหรือที่ปฏิบัติในกลุ่มคนฮกเกี้ยนโพ้นทะเล แตกต่างกันกับทางกรุงเทพฯ หรือจีนกลุ่มอื่นบ้าง

โดยสรุป คือมีลักษณะพิธีทางศาสนาเต๋าและพื้นบ้านมากกว่าพุทธศาสนา เช่น มีการขึ้นเสา “เต็งโก” หรือโกเต้ง เสานี้แขวนประทีปเก้าดวงเอาไว้ และดวงประทีปจะค่อยๆ ถูกยกขึ้นจนสูงสุดในวันที่เก้า

นักวิชาการบางท่านว่านอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของงานว่ามีพระกิ่วหองมาประทับอยู่ ยังเป็นสัญลักษณ์ของดวงดาวที่คอยนำทางคนฮกเกี้ยนที่อพยพจากบ้านเกิดมายัง “หนานหยาง” (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)

ยังมีพิธีส่งทหารพระมารักษาการณ์ (ป้างเอี๋ย) การเลี้ยงทหารพระ (โข้กุ้น) พิธีเลือกเถ้าเก้หลอจู้หรือกรรมการผู้ดำเนินงานในปีถัดไป การแสดงอภินิหารของกี่ต๋องหรือเจ้าทรง เช่น ลุยไฟ (โกยโห้ย) การอ่านรายนามผู้ร่วมพิธี การเสด็จออกโปรดประชาชน (อิ้วเก้ง)

และที่สำคัญอาจมีพิธี “ลับ” ที่ผมยังไม่ทราบอีกมาก

ปีนี้เพื่อนชาวภูเก็ตหลายคนตกใจเมื่อเห็นภาพถ่ายการนำเอาป้ายชื่อกิ่วหองไต่เต่ของเก่าของศาลเจ้าโจวซือก๋งออกมาตั้งให้คนเห็น

เพราะธรรมเนียมที่ยังปฏิบัติในงานกินเจของกลุ่มคนฮกเกี้ยนนั้น ศาลเจ้าที่จัดพิธีกินเจจะต้องสร้างปะรำพิธีหรือห้องที่เป็นเหมือนตำหนักของพระนพราชาธิราช ในปะรำนั้นไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปโดยเด็ดขาด โดยมีม่านกั้นไว้ ผู้บูชาจะสามารถปักธูปเฉพาะกระถางด้านนอก แต่ป้ายพระนาม (อย่างเดียวกับที่โจวซือก๋ง) และกระถางธูปอีกอันเขาจะเก็บไว้ด้านในไม่ให้คนเห็น ส่วนภายในนั้นเกิดอะไรขึ้นหรือคุยอะไรกันก็ห้ามนำมาบอกคนภายนอก

ห้องนี้สำคัญมากๆ ครับ นี่คือหลักฐาน “การเมือง” ของพิธีกินเจอย่างหนึ่ง เพราะพิธีกินเจนั้น นอกจากจะเป็นพิธีไหว้ดวงดาวของศาสนาเต๋าที่แพร่หลายมากและพุทธศาสนาก็ไปแปลงให้เป็นคติพุทธแล้ว

สำหรับบรรพชนของเราเป็นการสร้างพิธี “ฉากหน้า” สำหรับกิจกรรมทางการเมืองด้วย

 

ที่มาของพิธีกินเจ/เจี๊ยะฉ่ายนอกเหนือจากคติทางศาสนา สิ่งที่ฝังอยู่ในความทรงจำคนฮกเกี้ยนและคนจีนใต้กลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลไป คือในปลายสมัยหมิงต่อชิง ราชนิกูลหมิงคือ โล้วอ๋อง (เป็นอ๋องคนที่เก้า) หนีภัยจากพวกเช็ง (ชิง) มาพึ่งแม่ทัพเจิ้งเฉิงกงซึ่งดูแลมณฑลฮกเกี้ยนและเมืองชายฝั่งทะเล ได้เสียชีวิตลงที่เกาะกิมหมึนในมณฑลนั้น ซึ่งเท่ากับหมิงได้สูญสิ้นผู้สืบราชบัลลังก์ รวมทั้งยังมีการฆ่าพี่น้องอั้งยี่เก้าคนผู้ต่อต้านชิงในมณฑลฮกเกี้ยน รวมทั้งการทำลายวัดเส้าหลินใต้ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมกบฏ

เรื่องนี้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจและโศกเศร้าแก่ผู้คนมาก พิธีกรรมกินเจหรือเจี๊ยะฉ่ายจึงมีการ “ไว้ทุกข์” เป็นองค์ประกอบสำคัญ

อั้งยี่เป็นขบวนการต่อต้านราชวงศ์ชิงโดยตั้งเป็นสมาคมลับฟ้าดิน กิจกรรมของอั้งยี่ยังคงสืบทอดมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย แน่นอนว่า การกราบไหว้ดวงวิญญาณอั้งยี่ทั้งเก้าในสมัยชิงอย่างเปิดเผยย่อมจะกระทำไม่ได้ เพราะจะโดนลงโทษอย่างรุนแรงจากราชสำนัก ด้วยเหตุนี้ พิธีกินเจเดือนเก้าและการไหว้นพราชาทั้งเก้าองค์จึงมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวของพี่น้องอั้งยี่และเป็นเหตุให้ต้องกระทำอะไร “ลับๆ” แฝงเร้นไปด้วย

พิธีการไปเชิญองค์กิ่วหองที่ทะเลและการไปส่งกลับที่ทะเล ผมคิดว่าคงมีนัยถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้เช่นกัน เพราะนอกจากชาวบ้านเชื่อว่าทะเลและแม่น้ำเป็นเส้นทางของวิญญาณแล้ว ก็คงเกี่ยวกับการที่อั้งยี่ทั้งเก้าคนถูกฆ่าตัดหัวโยนลงทะเลในตอนนั้น

 

ขณะที่จีนกลุ่มอื่นมีภาพวาดหรือรูปเคารพนพราชาพุทธะ/นพราชาธิราชให้กราบไหว้อย่างเปิดเผย แต่ศาลเจ้าในกลุ่มคนฮกเกี้ยนภาคใต้กลับมีเพียงป้ายนามหรือกระถางรูปที่ปกปิดซ่อนเร้นไว้ภายในห้องหรือตำหนักในเท่านั้น ถ้ามีเทวรูปหรือกิมสิ้น (มีผู้ให้ข้อมูลว่า มีบางอ๊ามในภูเก็ตมีอยู่แต่ก็น้อยมาก) ก็ซ่อนไว้ภายในห้องนั้นอยู่ดี ไม่ให้คนภายนอกเห็น

จากกฎเกณฑ์ปกปิดเข้มงวด ห้องประทับหรือปะรำของกิ่วหองไต่เต่จึงอาจเป็นห้องสำหรับการประชุมลับสำหรับกลุ่มสนับสนุนอั้งยี่ ในการ “ล้มชิงกู้หมิง” ด้วยก็เป็นได้

ส่วนการสวมชุดขาวในพิธีกินเจหรือเจี๊ยะฉ่าย ก็ไม่ได้สวมในความหมายของความบริสุทธิ์สะอาดตามความคิดแบบพุทธศาสนาเท่านั้น

แต่เพราะมันเป็นชุด “ไว้ทุกข์” ในวัฒนธรรมจีนอยู่แล้ว ที่จังหวัดภูเก็ตนอกจากสวมชุดขาวยังมีการ “โพกผ้า” ในชุดของพิธีเจี๊ยะฉ่าย ซึ่งแสดงถึงการไว้ทุกข์และเกี่ยวข้องกับกลุ่มสมาคมลับ

อีกทั้งการกินเจ-เจี๊ยะฉ่ายหรือการกินมังสวิรัติอาจมิได้หมายถึงความบริสุทธิ์เท่านั้น ในวัฒนธรรมจีน การกินอาหารไร้รสหรือกินแต่สิ่งเรียบง่าย ก็อาจแสดงถึงความทุกข์ได้เช่นกัน

เพราะตามมโนคติแบบขงจื่อ อาหารในช่วงไว้ทุกข์ไม่ควรมีรสชาติหรือประณีต

มิตรสหายผู้ชำนาญภาษาจีนยังบอกผมอีกว่า บรรดาคำกลอนจีน (ตุ้ยเหลียน) ที่ติดตั้งในศาลเจ้าช่วงกินเจ มักเป็น “รหัสลับ” ของสมาคมอั้งยี่ที่มีความหมายแฝงนัยอยู่

ดังนั้น เมื่อหมดเทศกาลแล้ว ศาลเจ้าหลายแห่งจึงต้องเปลี่ยนตุ้ยเหลียนมาใช้แบบปกติเพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตได้ กลายเป็นธรรมเนียมสืบมา

 

แม้ปัจจุบันหมิง-ชิงจะปลาสนาการไปหมดแล้ว ความแค้นทั้งหลายก็จบสิ้นไปด้วย แต่ผมคิดว่าร่องรอยความทรงจำของบรรพชนไม่ควรถูกลืม และความหมายของสัญญะต่างๆ ในพิธีก็แจ่มชัดขึ้นเมื่อถอดแว่นของศาสนาออกไปบ้าง

ด้วยเหตุนี้การกลับมาเจี๊ยะฉ่ายของผมจึงเป็นความพยายามจะคืนความหมายเช่นนี้ให้กับตัวเอง ในฐานะลูกหลานของ “ผู้อพยพชาวจีน” คนหนึ่ง

แน่นอนว่า ใครที่ไหนจะกินเจหรือเจี๊ยะฉ่ายในความคิดความเชื่อแบบไหนก็ไม่ผิดทั้งนั้น แต่ควรมองให้รอบด้าน เพื่อจะได้ไม่เอาไม้บรรทัดของตัวเองไปฟาดฟันคนอื่น เพื่อจะได้ทราบว่าเขากินเจด้วยมโนคติแบบใด ต่างกับเราอย่างไร

ผมเห็นการฟาดฟันเรื่องนี้ในเฟซบุ๊กมาก ก็คิดว่านี่คือการเมืองของการกินเจสมัยใหม่ที่เป็นเรื่องของการช่วงชิงความหมายมากกว่าอย่างอื่น

การเชื่อมโยงตนเองกับความแค้นในอดีตผ่านพิธีเจี๊ยะฉ่าย สำหรับตัวผมเองก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ปัจจุบันที่การกดขี่ยังคงดำเนินต่อไปแม้อาจไม่รุนแรงเท่าเก่า แต่ก็แหลมคมหลากแง่ ด้วยเหตุนี้ขอให้การเจี๊ยะฉ่ายของผมที่มีความคับแค้นเจืออยู่กลายเป็นพลังใจเฉกเช่นที่บรรพชนได้รับ ดลให้ขจัดเภทภัยทั้งหลาย บ้านเมืองกลับสู่ครรลองมรรควิถี ประกอบด้วยธรรมนีติ ปวงประชาสุขสวัสดีถ้วนหน้า

คิดเล่นๆ นะครับ จะเป็นไปได้ไหม ในยุคนี้เราอาจต้องเปลี่ยนคำขวัญกินเจ-เจี๊ยะฉ่ายจาก “ล้มชิงกู้หมิง” มาเป็น

“ล้มเผด็จการ ฟื้นประชาธิปไตย”