ฉัตรสุมาลย์ : พุทธ-คริสต์ วิสาสะ

การพบปะสนทนาระหว่างพุทธ-คริสต์คราวนี้ เฉพาะศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน และลูเธอรันค่ะ ทางตัวแทนของพุทธก็เป็นพุทธนิกายเถรวาทและมหายานของญี่ปุ่น

ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Anglican-Lutheran-Buddhist Consultation ที่เขาเอาแองกลิกันขึ้นก่อน น่าจะเป็นเพราะเจ้าภาพจริงๆ เป็นแองกลิกัน ลูเธอรันเข้ามาประกอบ และพุทธมาจากอีกศาสนาหนึ่งที่เขาอยากจะวิสาสะด้วย

การประชุมที่เขาเรียกว่า วิสาสะ (Consultation) ที่ใส่วงเล็บภาษาอังกฤษเพราะผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่าจะใช้คำไหนให้ใกล้เคียงกับศัพท์เดิมที่เขาใช้

สำหรับท่านที่ไม่มีพื้นฐานศาสนาคริสต์ อธิบายง่ายๆ ว่า แองกลิกัน เป็นนิกายศาสนาคริสต์จากอังกฤษ ขณะที่ลูเธอรัน มาจากเยอรมนี

น่าสนใจไหมคะว่า ทำไมเขาถึงเลือกที่ประชุมที่ประเทศพม่า

 

เราทราบกันดีว่า ประเทศพม่านั้น เหมือนประเทศไทยตรงที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นพุทธ เน้นนิกายเถรวาทด้วยกัน ประเทศไทยมีประชากรพุทธสูงที่สุดในโลกถึงร้อยละ 95 ขณะที่พม่ามีประชากรพุทธ ร้อยละ 87

ชาวคริสต์จึงเป็นชนส่วนน้อยในพม่า ในชาวคริสต์จำนวนน้อยนั้น ยังแบ่งนิกายต่อไปอีก มีทั้งคาทอลิก แบบติสต์ แองกลิกัน ลูเธอรัน ฯลฯ เรียกได้ว่า ในส่วนของคริสต์เอง ทั้งแองกลิกันและลูเธอรันก็ยิ่งเป็นชนส่วนน้อยของศาสนาคริสต์ที่เป็นส่วนน้อยอยู่แล้ว

และในชนส่วนน้อยของส่วนน้อยเช่นนี้ ผู้ปกครองส่วนกลาง ของแองกลิกันก็คงหมายถึงจากอังกฤษเป็นหลัก เมื่อเข้าใจบริบทเช่นนี้ ถึงเกิดความเข้าใจว่า ในการประชุมวิสาสะในกลุ่มน้อย มีผู้เดินทางเข้ามาประชุมจากต่างประเทศไม่เกิน 40 คน แต่เขามีอาร์ชบิชอปของแองกลิกันมาร่วมถึง 3 คน

คือ อาร์ชบิชอปจากดับลิน อาร์ชบิชอปจากไนจีเรียแต่ทำงานอยู่ในอังกฤษ และอาร์ชบิชอปชาวพม่าของพม่าเอง

เพราะในความเป็นส่วนน้อยของส่วนน้อยนี้เอง ที่ทำให้ผู้นำในระดับอาร์ชบิชอปมีท่าทีอ่อนน้อม เปิดกว้าง เข้าถึงได้ง่าย โอภาปราศรัย ทักทาย ต่างจากบาทหลวงของคาทอลิกที่เคยพบมาอย่างเช่นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเราเข้าไม่ถึงเลยค่ะ

 

เจ้าภาพในการจัดงานอีกส่วนหนึ่งคือ สภาคริสตจักรโลก World Council of Churches มีสำนักงานกลางที่เจนีวา ในประเทสวิตเซอร์แลนด์ มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานนี้เดินทางเข้ามาเป็นผู้ประสานและดำเนินการอย่างน้อย 3 คน เป็นนักวิชาการและผู้บริหารระดับสูงผิวขาว หมายถึงเป็นแหม่มผิวขาว อีกสองคนเป็นอินเดียใต้ที่ไปทำงานที่สำนักงานกลางที่เจนีวา

เมื่อพูดถึงความเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า รัฐบาลทหารของพม่ามีนโยบายที่บีบศาสนาอื่นไม่ให้ขยาย

เช่น ไม่ให้สร้างหรือแม้กระทั่งซ่อมแซมอาคารที่มีอยู่แล้ว ที่เราไปรู้เรื่องนี้ เพราะเห็นห้องน้ำที่ใช้ชักโครกแบบโบราณ ที่ดึงโซ่มาจากถังน้ำสูงเหนือศีรษะ ในเมืองไทยใช้ชักโครกแบบนี้เมื่อ 60 ปีก่อน อัศจรรย์ว่ายังทำงานได้

ในแต่ละวันของการประชุม ที่เรียกว่า วิสาสะก็ไม่ค่อยวิสาสะสักเท่าไร เพราะเป็นกิจกรรมของคริสต์เป็นส่วนมาก

เช่น ตลอดสามวันของการประชุมตอนเช้าจะมีเวลาของการอ่านคัมภีร์ไบเบิล เป็นเช่นนั้นทั้ง 3 วัน ผู้เขียนเองไม่รู้สึกอึดอัด เพราะสมัยที่ไปเรียนที่แคนาดานั้น ตั้งใจจะเรียนต่อทางศาสนา แต่ปริญญาแรกเป็นปรัชญา จึงถูกบังคับให้เรียนปี 4 ไม่ได้เรียนอะไรอื่นนอกจากศาสนาคริสต์อย่างเดียว อ่านคัมภีร์ไบเบิลทั้งในส่วนพันธสัญญาเดิม และพันธสัญญาใหม่

เมื่อเขาพูดถึงการอ่านพระคัมภีร์ ก็เท่ากับทบทวนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนมา และสามารถพูดคุยกับเจ้าภาพได้

แต่ปรากฏว่า ชาวพุทธอีก 3 ท่านที่มาจากสายมหายานญี่ปุ่นท่านไม่สนุกด้วย

ข้อนี้เราก็นำไปเสนอแนะในวันสุดท้ายของการประชุมเพื่อให้มีการปรับให้มีความสมดุล เป็นลักษณะของการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ให้เรามารู้ของคริสต์เท่านั้น

 

เพื่อทำให้เป็นการวิสาสะมากขึ้น วันที่สองของการประชุม เจ้าภาพจัดให้เราได้ออกไปเยี่ยมมหาวิทยาลัยพุทธเถรวาทของรัฐบาล เท่ากับให้ฝั่งชาวคริสต์ได้ลิ้มรสสัมผัสพูดคุยกับทางฝั่งพุทธของเจ้าบ้าน คือ พม่า

ก่อนอื่นต้องบอกว่า สถานที่ของมหาวิทยาลัยพุทธเถรวาทนี้ อลังการมาก รัฐให้การสนับสนุนเต็มที่ น่าจะมีนักศึกษาเป็นหมื่น หรือหลายหมื่น (พูดแบบเทียบกับธรรมศาสตร์สมัยที่อยู่ที่ท่าพระจันทร์) ปรากฏว่ามีนักศึกษา 300 คน

อ้าว ตกใจเลย

ทางเจ้าภาพของมหาวิทยาลัยต้อนรับเราอย่างหรูที่ห้องรับรองของมหาวิทยาลัย จัดเป็นโต๊ะสองแถว หันหน้าเข้าหากัน (ให้ความรู้สึกแบบการเผชิญหน้ากัน) ทางเจ้าภาพนั่งฝั่งหนึ่ง คณะเราก็ไปอย่างแขกผู้มาเยือน นั่งอีกฝั่งหนึ่ง มีน้ำร้อน น้ำชาไว้ต้อนรับอย่างดี ไม่เคยเห็นที่ไหนเหมือนกัน น้ำร้อนที่ว่านั้น มาในกระติกขนาดใหญ่ แต่ละท่านมีคนละกระติก ประมาณนั้น

นี่ก็เป็นวัฒนธรรมที่ชวนตะลึง

ทางฝั่งผู้มาเยือน นั่งรอเจ้าภาพ มีถิลาชิ่น คือแม่ชีพม่าที่ใส่สีชมพูมาต้อนรับตั้งแต่แรก ทั้งสองท่านจบปริญญาเอกมาจากมหาวิทยาลัยเดลลี ในอินเดีย ใช้ภาษาอังกฤษชัดเจนและคล่องแคล่ว

ประทับใจไปจุดหนึ่งแล้ว รอสักพัก มีพระผู้ใหญ่เข้ามา 3 ท่าน

เราได้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยในการพูดคุยตรงนี้ ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลดูแล 100% ส่วนที่ดีคือ ไม่ต้องกังวลเรื่องงบประมาณการใช้จ่าย แต่จะทำอะไรต้องขออนุญาตจากทางการก่อน แปลเอาเองว่าไม่น่าจะคล่องตัวนัก

มหาวิทยาลัยเพิ่งเริ่มต้นมาสัก 10 ปี เพิ่งเปิด 4 คณะ คณะของเขาก็แปลกดีค่ะ คณะปริยัติ คณะปฏิบัติ คณะภาษา และคณะธรรมทูต

แม่ชี ดร. เจ้าภาพที่รับรองเรานั้น รูปหนึ่งสังกัดกับคณะปริยัติ เพราะสอนอภิธรรม อีกรูปหนึ่งสอนวิปัสสนาภาคทฤษฎี สังกัดคณะปฏิบัติ

พระอาจารย์ที่หัวหน้ามารับคณะของเราเป็นคณบดีคณะปริยัติ

ที่สนทนากับแม่ชีเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนานั้น แยกไปเขียนอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ขอเว้นไปก่อนนะคะ

 

วันนั้น เราเป็นแขกของมหาวิทยาลัย กินข้าวที่โรงอาหาร หรือจะเรียกว่าหอฉันก็ได้ เพราะทั้งอาจารย์และนักศึกษาส่วนใหญ่เป็นพระทั้งสิ้น แยกโซนของพระเณรและฆราวาส และแยกโซนมังสวิรัติสำหรับพระเณรและภิกษุณีมหายานที่ถือมังสวิรัติ

ตอนบ่ายกลับมา พระอาจารย์ที่เป็นคณบดี นำการทำสมาธิ ตรงนี้ต้องบอกว่าไม่เวิร์กกับกลุ่มของเราเลย เพราะไม่มีการนำเข้าสู่บริบท จับนั่งสมาธิเลย ชาวคริสต์และฝรั่งนั่งงงอยู่ ขณะเดียวกันก็พยายามรักษามารยาท นั่งเหยียดขาอยู่กับพื้น บ้างก็นั่งรัดเข่า

การนั่งวิปัสสนาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพุทธเถรวาทที่พม่า สังเกตว่าคนไทยไม่น้อยนิยมไปเข้าคอร์สวิปัสสนาที่พม่า แต่สำหรับกลุ่มที่มาจากต่างศาสนาและวัฒนธรรม การสอนต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง

ตรงนี้ ทำให้เราชาวพุทธเองต้องปรับตัวมากขึ้นว่าทำอย่างไรที่จะสื่อกับคนที่มาจากต่างศาสนาและต่างวัฒนธรรมให้เขาเข้าใจและชื่นชมในการปฏิบัติของเราได้

 

กลับมาที่กลุ่มของเราในที่ประชุม ในกลุ่มชาวพุทธที่ไปร่วมนั้น นอกจากท่านธัมมนันทา ซึ่งเป็นตัวแทนของพระในพุทธศาสนาแล้ว มีอาจารย์ชาวพุทธอีกท่านหนึ่งมาจากศรีลังกา มีชาวญี่ปุ่น 3 ท่าน

ท่านหนึ่งเป็นพระในนิกายสุขาวดี เป็นลูกศิษย์ของท่านอาจารย์ซูซูกิที่นำนิกายเซนไปอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่านมากับหลานชายที่กำลังฝึกเป็นพระอยู่ที่อังกฤษ

อีกท่านหนึ่งเป็นตัวแทนของนิวาโน ซึ่งเป็นหน่วยงานทางศาสนาพุทธมหายานที่เน้นงานของฆราวาส ไม่มีพระในนิกายนี้

ในกลุ่มชาวพุทธกลุ่มเล็กๆ นี้ มีความสมานฉันท์ชื่นชมซึ่งกันและกันอยู่มากอยู่

ท่านธัมมนันทามักจะถูกนิมนต์ออกไปแสดงความคิดเห็นเป็นตัวแทนของฝั่งพุทธ

เมื่อชาวคริสต์พูดถึงพระนามของพระเจ้าที่คลุมเครือ ท่านธัมมนันทาชี้ว่า พระเจ้าที่เรียกว่า พระยะโฮวาห์ นั้น ในภาษาเดิมแม้เวลาเขียนก็ไม่มีสระ YHWH ที่ชาวคริสต์ว่าพระนามของท่านคลุมเครือนั้น เป็นเพราะความไม่สมบูรณ์ของมนุษย์ต่างหาก จึงไม่สามารถเข้าถึงพระเจ้าได้

ประเด็นที่ท่านธัมมนันทาเตือนศาสนิกทั้งสองศาสนาคือ ท่าทีที่เราต่างฝ่ายต่างเน้นในความต่าง เช่น เน้นที่เถรวาท เน้นที่มหายาน โดยลืมไปว่า ฐานของทั้งเถรวาทและมหายาน คือพุทธ เราเป็นพุทธก่อน แล้วจึงจะบอกรายละเอียดว่าเราเป็นพุทธเถรวาท อย่าไปเน้นเถรวาทจนลืมพุทธ

ศาสนิกทั้งสองนิกายของศาสนาคริสต์ที่เข้าร่วมพยักหน้า ต่างเห็นพ้องในประเด็นนี้

 

ในตอนท้ายของการประชุม ทางฝ่ายผู้เข้าร่วมชาวพุทธเสนอว่า เจ้าภาพควรเชิญชาวพุทธท้องถิ่น และพระหรือแม่ชีท้องถิ่นมาร่วมด้วย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมจากต่างประเทศได้เรียนรู้ศาสนาพุทธโดยตรงจากคนท้องถิ่น

ประเด็นนี้ ผู้เขียนเองให้ความสำคัญมาก เพราะการเรียนรู้โดยตรงจากการพูดคุยในระดับบุคคลนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีกับคนท้องถิ่นที่เราอุตส่าห์เดินทางไปถึงประเทศเขาแล้ว กลับต้องมาเรียนรู้พุทธศาสนาผ่านชาวคริสต์ก็ดูจะแปลกๆ อยู่

โดยส่วนตัว ในการไปร่วมงานวิสาสะครั้งนี้ ประทับใจสองเรื่อง คือท่าทีที่เปิดกว้าง อ่อนน้อม ของอาร์ชบิชอปแห่งดับลิน และที่มาจากไนจีเรีย

อาร์บิชอปพูดว่าต้องการความช่วยเหลือจากศาสนาพุทธ เป็นท่าทีที่เป็นมิตรมาก

ในการประชุมข้ามศาสนาหลายครั้งที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประทับใจท่าทีของอาร์ชบิชอปที่เป็นผู้นำศาสนาของศาสนาคริสต์

อีกเรื่องหนึ่ง คือบทบาทของแม่ชีพม่าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพุทธ ชาวพุทธส่วนใหญ่จะมีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษ อาจารย์แม่ชีทั้งสองท่านมีจริยวัตรงดงามและมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำที่ดี สื่อกับต่างชาติได้ดี

ในขณะที่หาพระอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุชาวพม่าพูดภาษาอังกฤษดีๆ ยาก

หากทางการจะเปิดพื้นที่ให้มากขึ้น ผู้หญิงจะทำหน้าที่ได้อย่างดงามสมศักดิ์ศรีของชาวพุทธทีเดียว