เส้นทางความสัมพันธ์ทางสังคม-เศรษฐกิจ ไทย-มาเลย์ : ความร่วมมือของปชช.

จรัญ มะลูลีม

ความร่วมมือของประชาชนต่อประชาชนในด้านเศรษฐกิจ

ตามรอยต่อชายแดนระหว่างประเทศไทยและมาเลเซีย จะพบว่าชาวไทยกับชาวมาเลเซียค้าขายลงทุนร่วมกันหรือแม้แต่ศึกษาร่วมกัน

นักศึกษาไทยจำนวนมากจากชายแดนไทยชอบที่จะศึกษาในมาเลเซีย ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ใกล้กับบ้านของพวกเขา

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยอุตารา (University Utara) แห่งรัฐเกดะฮ์ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดสงขลาของประเทศไทย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีของมาเลเซีย (University of Technology Malaysia – UTM) แห่งรัฐกลันตัน ซึ่งอยู่ใกล้จังหวัดนราธิวาส

มีอาจารย์จำนวนหนึ่งจากประเทศไทย ซึ่งสอนด้านเกษตรกรรมอยู่ในมหาวิทยาลัยของมาเลเซียในรัฐกลันตัน

ส่วนใหญ่ของพวกเขาจะมาจากภาคใต้ตอนล่าง

 

ซัลเลฮ์ ยูสุฟ (Salleh Yusuf) ชาวไทยซึ่งเปลี่ยนเชื้อชาติเป็นชาวมาเลเซีย กล่าวว่า

เมื่อเขาอายุ 25 ปี เขาได้แต่งงานกับสตรีมาเลเซียจากเมืองเจลี (Jeli) แห่งรัฐกลันตัน ซึ่งมีชายแดนติดต่อกับตำบลบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

นับจากนั้นชีวิตของเขาและครอบครัวของเขาก็เกี่ยวข้องกับชาวไทยในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำธุรกิจ

นอกเหนือจากการขนส่งสินค้าทางเรือ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเขาแล้ว เขายังสั่งสินค้าหลายอย่างจากประเทศไทยเพื่อขายในประเทศมาเลเซีย

ตัวอย่างเช่น ผ้านวมยี่ห้อโตโต (Toto) นาริตะ (Narita) และกรีนเท็กซ์ (Greentex)

สำหรับยูสุฟแล้วการทำธุรกิจกับชาวไทยจะไม่มีปัญหาทางการเงินแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ตัวเขายังนำเข้ายางและยางดิบอีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานส่งเสริมการปลูกยางของมาเลเซีย ในการทำธุรกิจกับชาวไทยนั้นยูสุฟบอกว่าเขาได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลมาเลเซีย

ยิ่งไปกว่านั้น พ่อค้าไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคใต้ตอนล่างยังส่งผลไม้นานาชนิดไปยังมาเลเซียจำนวนมาก

บทบาทของยูสุฟในฐานะคนกลางแห่งความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียนั้นค่อนข้างจะได้รับความสำเร็จ

เขาเริ่มทำงานในมาเลเซียในฐานะเจ้าหน้าที่ที่คอยส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ไทย-มาเลเซีย

หลังจากแต่งงานแล้วเขาได้ก่อตั้งบริษัทของตนเองขึ้นมาและทำธุรกิจกับชาวไทยทั่วไป

แต่ส่วนใหญ่จะทำธุรกิจอยู่ตามชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยจะซื้อเครื่องมือก่อสร้างจากอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส

ทั้งนี้ เขาบอกว่ากาวจากประเทศไทยเป็นกาวที่มีคุณภาพ รวมทั้งวัสดุที่ใช้ทำหลังคาจากประเทศไทยก็มีความแข็งแกร่งทนทานเป็นอย่างมาก

บางครั้งยูสุฟไปซื้อยางไกลถึงประเทศลาวและกัมพูชา

สำหรับความยากลำบากที่เขาได้รับขณะทำธุรกิจกับคนไทยนั้นจะเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์และข้อกำหนดในฝ่ายของไทย ซึ่งค่อนข้างจะเข้มงวด

ยิ่งไปกว่านั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลของไทยอยู่เป็นประจำก็มีผลต่อธุรกิจของเขาในทางอ้อม (สัมภาษณ์ ซัลเลฮ์ ยูสุฟ เจ้าของบริษัท Cindaisary Inter Connect Logistic ,LTD. ที่เมืองตะเนาะแมเราะฮ์ รัฐกลันตัน มาเลเซีย, 25 มกราคม , 2015)

 

ความสัมพันธ์ระหว่างชายแดนของสองประเทศในเรื่องของการแต่งงานก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เป็นชาวมาเลเซียหรือชาวมาเลเซียจากทุกสาขาอาชีพ

เราจะพบว่าในทุกๆ ชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย การแต่งงานจะเกิดขึ้นและสตรีไทยส่วนใหญ่จะไปอยู่กับสามี ยกเว้นสตรีบางคนที่มีบ้านอยู่ในประเทศไทย

มุฮัมมัด รอซี บินสุลัยมาน (Mohd Razi Bin Sulaiman) อดีตตำรวจซึ่งเคยทำงานอยู่ในสถานกงสุลของมาเลเซียที่สงขลาพบกับ อำนวย หนูรักษ์ ภรรยาของเขาที่สงขลาและแต่งงานกัน

อำนวยถือกำเนิดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ภาคใต้ตอนบนของไทย ส่วน มุฮัมมัด รอซี ทำงานในประเทศไทยจากปี 1991-1992 และพบกันอำนวย ขณะที่ทำงานที่สถานกงสุลมาเลเซีย

หลังจากนั้นเขาก็ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ตัวเขาเองมีความสัมพันธ์กับชาวไทยมุสลิมที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส อันเป็นญาติจากฝ่ายมารดา และบ่อยครั้งได้มาเยือนญาติพี่น้องในหลายโอกาส อย่างเช่น ในการแต่งงาน งานประเพณีหรือกิจการศาสนาและญาติของเขา (ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องลำดับที่สอง) จากประเทศไทยก็จะมาเยี่ยมตัวเขาและครอบครัวของเขาเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ทางชายแดนของชาวไทยและชาวมาเลเซียยังคงมีความเข้มแข็งอยู่มาก

(สัมภาษณ์ มุฮัมมัด รอซี ฝ่ายที่ปรึกษาธนาคาร CIMB (กลุ่ม CIMB) โกตาบาห์รู กลันตัน มาเลเซีย, 25 มกราคม, 2015)

 

อํานวย หนูรักษ์ ภรรยาของ มุฮัมมัด รอซี อาศัยอยู่กับ มุฮัมมัด รอซี ผู้เป็นสามีที่เมืองโกตา บาห์รู กล่าวว่า ในฐานะที่เธอเป็นผู้ออกแบบแฟชั่นการแต่งกายจากประเทศไทย เธอได้รับการยอมรับจากลูกค้าชาวมาเลเซียทุกระดับ และสตรีมาเลเซียก็ชอบการออกแบบโดยสตรีไทย อาหารไทย และการเดินทางมาประเทศไทยคือสิ่งที่สตรีชาวมาเลเซียชอบมากที่สุด

เมื่อเธอหันมาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เธอก็ได้รับชื่อใหม่ว่า นูรีดา บินติ อับดุลลอฮ์ (Nurida binti Abdullah) หรือนูรีดาบุตรสาวของผู้เป็นบ่าวของอัลลอฮ์ อันเป็นชื่อในภาษาอาหรับ ซึ่งอย่างน้อยครอบครัวมุสลิมก็มีความปรารถนาให้มีชื่อภาษาอาหรับดังกล่าว

หลังการแต่งงาน ความสัมพันธ์ของเธอที่มีกับครอบครัวของเธอเองซึ่งเป็นพี่น้องชาวพุทธยังดำรงอยู่เหมือนเดิม

ครอบครัวของเธอชอบที่จะเดินทางมาประเทศมาเลเซียและมาเยี่ยมครอบครัวของเธอ

อำนวยหรือนูรีดาจบการศึกษาจากสงขลาโปลีเทคนิค (Songkla Poly Technic) จังหวัดสงขลา

แต่ตัวเธอเรียนรู้ศิลปะการออกแบบมาจากน้องสาวของสามีและต่อมาก็พัฒนาสไตล์การออกแบบเป็นของตัวเธอเอง

เธอกล่าวว่าองค์สุลต่าน (สุลฏอน) แห่งรัฐกลันตัน (Sultan of Kalantan) ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อคนมุอัลลัฟหรือผู้เข้ามารับนับถือศาสนาอิสลาม

องค์กรที่มีชื่อว่ามัจญ์ลิส อุกะมา อิสลาม กลันตัน หรือ MIAK จะเปิดให้มีการสอนศาสนาอิสลามตั้งแต่เวลา 09.00 น. ไปจนถึง 12.00 น. และมีอาหารว่างบริการในเวลา 10.00 น.

มีมุอัลลัฟ ในเมืองโกตาบาห์รู แห่งรัฐกลันตันอยู่ 200-300 คน และแต่ละคนที่เข้ามาเรียนรู้เรื่องอิสลามจะได้รับเงินช่วยเหลือ 30 ริงกิต หรือเท่ากับ 300 บาทไทย เงินจำนวนนี้มอบให้เพื่อการเดินทางไปกลับ MIAK

อย่างไรก็ตาม สำหรับอำนวยหรือนูรีดา เธอรู้สึกว่ามีอยู่อย่างหนึ่งที่เธอรู้สึกเสียใจ นั่นก็คือเพื่อนๆ ของเธอที่มาแต่งงานกับชาวมาเลเซียนั้นพบว่าเมื่อสามีของพวกเธอซึ่งเป็นชาวมาเลเซียจบชีวิตลง ครอบครัวของสามีก็มักจะไม่ยอมรับสตรีไทยเหล่านั้น แม้ว่าเพื่อนเธอเหล่านั้นจะมีบุตรก็ตาม ครอบครัวของสามีก็ดูเหมือนจะเมินเฉย

บิดามารดาของสามีมักเลือกที่จะให้พวกเธอกลับประเทศไทย ด้วยเหตุนี้หลายคนที่สามีจากไปจึงต้องเผชิญกับชีวิตที่เหลืออยู่ด้วยความยากลำบาก

 

สําหรับอำนวยหรือนูรีดา ซึ่งมีบุตรอยู่เพียงหนึ่งคน เธอไม่ประสบปัญหาอะไร ทั้งนี้ ตัวเธอเองก็มีบ้านเป็นของตัวเองและเธอก็รู้สึกมีความสุขอยู่กับครอบครัวของสามี

เธอมีความสุขที่บุตรชายของเธอสามารถพูดได้หลายภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษามาเลย์และภาษาอื่นๆ (สัมภาษณ์ อำนวย หนูรักษ์ นักออกแบบเสื้อผ้า, เมืองโกตาบาห์รู, 25 มกราคม 2015)

เธอรู้สึกมีความสุขที่สุลต่านของรัฐกลันตันได้ให้ความช่วยเหลือด้วยการเชิญพวกเธอที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามไปที่บ้านและมอบเงินจำนวนหนึ่งให้พวกเธอโดยตรง

แต่ละปีผู้ที่เป็นมุอัลลัฟจะได้รับเงินซะกาต (zakat) หรือเงินจากภาษีศาสนาราว 800 ริงกิต หรือราว 8,000 บาททุกปี

ยิ่งไปกว่านั้นองค์สุลต่านยังได้เชิญพวกเธอไปร่วมงานอิฟตาร (iftar) หรืองานละศีลอดในเดือนเราะมะฏอนที่พระราชวังอิสตานา (Istana Palace) อีกด้วย

 

ในขณะที่นักศึกษาอย่าง อัสรา ฟิซะฮ์ อะห์มัด (Azra Fiza Ahmad) จากมหาวิทยาลัยมาเลเซียในรัฐตรังกานู กล่าวว่า ตัวเธอมีโอกาสพบกับคนไทยที่มารัฐตรังกานู ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่ติดกับรัฐโกตาบาห์รู ที่เชื่อมต่อกับประเทศไทยไม่มากนัก

กระนั้นภาพรวมที่เธอมีต่อคนไทยก็คือคนไทยมีวัฒนธรรมที่อ่อนโยนและหากเป็นไปได้เธอก็จะทำงานกับคนไทยโดยเธอมีความประทับใจกับคนไทยมาโดยตลอด

(สัมภาษณ์ มุฮัมมัด รอซี ฝ่ายที่ปรึกษาธนาคาร CIMB (กลุ่ม CIMB) โกตาบาห์รู กลันตัน มาเลเซีย, 25 มกราคม, 2015)