ปลัด มท. กำชับผู้ว่าฯ นายอำเภอ ซักซ้อม ทบทวน 5 แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก หากพบการลักลอบกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายไม่มีละเว้น

ปลัด มท. กำชับผู้ว่าฯ นายอำเภอ ซักซ้อม ทบทวน 5 แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก หากพบการลักลอบกระทำผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายไม่มีละเว้น พร้อมเน้นย้ำ เด็ก เยาวชน และพี่น้องประชาชนทุกช่วงวัย คือ เป้าหมายของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” เพื่อทำให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน

วันนี้ (23 พ.ค. 2567) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยเพื่อขับเคลื่อนงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่คณะผู้บริหารระดับสูง ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสสำคัญของชีวิตในการเข้าเฝ้ารับเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระราชินีซิลเวียแห่งสวีเดน และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในวโรกาสทรงเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา Child Protection Summit, Bangkok 2024 และพระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าร่วมประชุม ณ สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นความโชคดีของเด็กไทยและเด็กทั่วโลกที่ทั้ง 2 พระองค์ ทรงเป็นหลักชัยในการหนุนเสริมบทบาทของส่วนราชการตลอดจนภาคีเครือข่ายทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนการปกป้องคุ้มครองสวัสดิภาพและพิทักษ์สิทธิของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการดูแลเด็กและเยาวชน เพื่อสนองพระราชปณิธานดังพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชดำรัส “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้น้อมนำพระราชปณิธานทั้งปวงมาขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้เด็กและเยาวชนไทยทุกคนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติและของโลกใบเดียวนี้

“ปัจจุบันประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก คือ “พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546” และเพื่อให้พนักงานฝ่ายปกครอง ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย อันได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ได้ซักซ้อม ทบทวน ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามหน้าที่อย่างเคร่งครัด ในด้านการดูแลประชาชนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยเหลือดูแลและให้ความคุ้มครองเด็ก เยาวชน ผู้เป็นอนาคตของชาติ ตลอดจนดูแลครอบครัว ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการศึกษาและการเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอาหาร ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของประชาชน กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดถือปฏิบัติ พร้อมทั้งเน้นย้ำในที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด รวมถึงกำชับที่ทำการปกครองอำเภอได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ในหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและเพื่อความผาสุกของสังคมไทย” นายสุทธิพงษ์ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยได้กำชับไปยังทุกจังหวัด มีจำนวน 5 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการดำเนินการในการอำนวยการ กำหนดนโยบายและแผนงานในการคุ้มครองเด็กในฐานะคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมาย สามารถเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน งบประมาณ และมาตรการในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก โดยในพื้นที่จังหวัดในความรับผิดชอบนั้น ผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ให้คำปรึกษา แนะนำ และประสานงานแก่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ปฏิบัติงานด้านการศึกษา การสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก โดยกฎหมายยังให้อำนาจในการกำหนดแนวทาง และการเข้าไปตรวจสอบสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กของรัฐและเอกชน ภายในเขตจังหวัด รวมไปถึงในด้านการสงเคราะห์ มีหน้าที่ในการจัดหาทุนเพื่อการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กในเขตจังหวัด และรายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาทุนและการจัดการทุนต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติทราบ นอกจากนี้ ในกรณีมีพบว่ามีการปฏิบัติต่อเด็กโดยมิชอบ สามารถตรวจสอบหรือเรียกบุคคลมาชี้แจง และเรียกเอกสารหรือพยานหลักฐาน หรือขอคำชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการวินิจฉัย และมีอำนาจติดตาม ประเมินผลและตรวจสอบการดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ และส่งเสริมความประพฤติเด็กในพื้นที่จังหวัดแล้วรายงานผลต่อคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ 2) ด้านการปฏิบัติต่อเด็ก การสงเคราะห์เด็ก และการส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอ มีหน้าที่ เช่น คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ไม่ว่าเด็กจะมีผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งมีอำนาจและหน้าที่ดูแลและตรวจสอบสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ สถานพัฒนาและฟื้นฟู และสถานพินิจที่ตั้งอยู่ในเขตอำนาจ และมีอำนาจตรวจค้นในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำทารุณกรรมเด็ก มีการกักขังหรือเลี้ยงดูโดยมิชอบ และเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการในทันทีเด็กอาจได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ หรือถูกนำพาไปสถานที่อื่นซึ่งยากแก่การติดตามช่วยเหลือ พร้อมทั้งซักถามเด็กเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าเด็กจำต้องได้รับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กอาจนำตัวเด็กไปยังที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก และสามารถออกหนังสือเรียกผู้ปกครอง หรือบุคคลอื่นใดมาให้ถ้อยคำหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ ความประพฤติ สุขภาพ และความสัมพันธ์ในครอบครัวของเด็ก เป็นต้น 3) ด้านการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ โดย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ รวมถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ มีอำนาจเข้าตรวจค้นและแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กโดยเร็วที่สุด หากพบเห็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดให้สอบถามเด็ก และหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเด็กรวมทั้งสภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู อุปนิสัย และความประพฤติของเด็ก และถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กโดยวิธีส่งเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพหรือสถานพัฒนาและฟื้นฟูก็ให้เสนอประวัติพร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจตามกฎหมายเพื่อพิจารณาสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็ก และหากเห็นว่ามีเหตุสมควรแต่งตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กเพื่อกำกับดูแลเด็กคนใด ก็ให้ยื่นคำขอต่อผู้มีอำนาจตามกฎหมาย แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลที่สมัครใจและมีความเหมาะสมเป็นผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก โดยจะกำหนดสถานที่อยู่อาศัยของเด็กที่อยู่ในการกำกับดูแลของผู้คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กด้วยก็ได้ 4) ด้านการดำเนินการเกี่ยวกับสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครอง สวัสดิภาพ และสถานพัฒนาฟื้นฟู โดยผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจจัดตั้ง กำกับดูแล และส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูภายในเขตจังหวัด และมีอำนาจแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ปกครองสวัสดิภาพของสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟู ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และ 5) ด้านการบังคับใช้กฎหมายของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ สามารถดำเนินการสืบสวน จับกุม ในฐานความผิดตามกฎหมาย อาทิ กรณีการบังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดควบคู่การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ รวมถึงกรณีมีการบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่ง ค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด ควบคู่การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และตามอำนาจหน้าที่ที่สามารถตรวจสอบสถานที่ที่เกี่ยวข้องนั้น โดยหากพบการลักลอบจัดตั้งหรือดำเนินกิจการสถานรับเลี้ยงเด็ก สถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟูโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือใบอนุญาตถูกเพิกถอน หรือหมดอายุ ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

“ขอเน้นย้ำให้พนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ตลอดจนพนักงานฝ่ายปกครองอื่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยึดถือแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครอง ในบทบาทและอำนาจหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการบูรณาการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อเด็กเยาวชนและสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปัญหายาเสพติด ปัญหาการไม่มีที่อยู่อาศัย รวมถึงการสงเคราะห์เด็กในบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัด และสถานสงเคราะห์อื่น ๆ ในพื้นที่ โดยใช้องคาพยพของกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ควบคู่กับการเดินหน้า Re X-Ray การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามระบบ ThaiQM มุ่งมั่นทำให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตที่ดี มีครอบครัวที่ดี มีความปลอดภัย มีความมั่นคงในชีวิต ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยใช้แนวทางการเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” อันจะนำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดีของ “เด็ก” เพราะเมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ชุมชนและหมู่บ้านยั่งยืน เด็กก็จะได้รับสิ่งที่ดีอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าวในช่วงท้าย

#WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood