พลังดัน เทวาลัย แรงส่งจาก จิตร ภูมิศักดิ์ สู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

พลังดัน เทวาลัย

แรงส่งจาก จิตร ภูมิศักดิ์

สู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ที่มาพร้อมกับสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 มิได้เป็นความตื่นตัวอย่างคึกคักในพื้นที่ในทางความคิดอัน สุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงออกผ่าน “กูเป็นนักหนังสือพิมพ์”

หากแต่ยังสัมผัสได้ผ่าน “กูจะเป็นขบถ”

เมื่อพูดกันไม่ได้ก็ไม่พูด จะทำปากให้เป็นตูดพูดไม่ได้ จะได้รู้กันว่า ประเทศไทยเป็นของคนหัวใสสองสามคน

ถ้าความจนถูกหาว่าขบถ

เพื่อให้ความรวยกดกลางถนน กูก็พร้อมจะขบถ รดน้ำมนต์ กราบพระออกปล้นความเป็นธรรม

คนอย่างกูไม่มีเครื่องกำบังเคราะห์

มีขุนแผน มนต์สะเดาะ กลอนตาอ่ำ มีเสื้อยันต์ ลงเลข เสกประจำ ตะกรุด ตะกั่ว ลูกประคำคอยประคบ

ร่ายจำเรียงมาเรื่อยจนถึง

ถ้าความจนถูกหาว่าขบถ เพื่อให้ความรวยกดกลางถนน กูก็พร้อมจะขบถรดน้ำมนต์ กราบพระออกปล้นความเป็นธรรม

ตีพิมพ์ใน “ประชาชาติ” รายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2517

 

เงาสะท้อน ความคิด

จาก เมด อิน U.S.A.

กวีนิพนธ์ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ “กูจะเป็นขบถ” เป็นพัฒนาการและต่อเนื่องไปจาก “เจ้าขุนทอง” ซึ่งตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” ฉบับประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2517

มิได้เป็นพัฒนาการในทาง “รูปแบบ” หากที่สำคัญอยู่ที่ “เนื้อหา”

ในทางรูปแบบ “เจ้าขุนทอง” อาจสะท้อนความชมชอบของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ต่อเพลงพื้นบ้าน อันเป็นโครงสร้างเหมือนกับ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” เมื่อปี 2512

ขณะที่ “กูจะเป็นขบถ” เลือกรูปแบบ “กลอนแปด”

เหมือนกับจะเป็นเงาสะท้อนของ “สุนทรภู่” แต่มองในทางเนื้อหายังยึดอยู่กับขนบแห่ง “เจ้าขุนทองไปปล้น” อยู่

ยังแฝงกลิ่นอายเหมือนกับหนทางออกยุค “เมด อิน U.S.A.”

กระนั้น หากหยั่งลึกลงไปในภาวะดิ้นรนอันสะท้อนผ่าน “เนื้อหา” ในทางความคิด สะท้อนสถานการณ์ในห้วงแห่งการเปลี่ยนผ่านจากยุคก่อนและภายหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ออกมาชัดเจน

นี่ย่อมเป็น “ผลพวง” และ “แรงสะเทือน” ในทางความคิด

หากได้อ่านหนังสือ “วรรณกรรมการเมืองไทย 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519” รากเหง้าการเติบโตและพัฒนาการ อันเป็นงานของ ชัยสิริ สมุทวณิช

ก็จะเข้าใจ

ในบทที่ 2 ว่าด้วย “การก่อเกิดของวรรณกรรมการเมือง 14 ตุลาคม 2516-6 ตุลาคม 2519”

ชัยสิริ สมุทวณิช ระบุว่า

 

ผลงาน จิตร ภูมิศักดิ์

กังวาน จาก ปัญญาชน

ประมาณต้นปี 2517 นั้นเองที่ชีวประวัติของ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้รับการเผยแพร่อย่างละเอียดในวงวิชาการ นักคิด นักเขียน อิทธิพลของ จิตร ภูมิศักดิ์ ในหมู่ปัญญาชนชนชั้นนายทุนน้อยนั้นเริ่มขึ้นในลักษณะที่เป็นวีรบุรุษ

เนื่องจาก จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นแบบอย่างที่หาได้ยากในช่วงปี 2500

เขาเป็นปัญญาชน เป็นนักคิดนักเขียนที่มีผลงานวิจิตรทั้งในรูปแบบในเนื้อหา บทกวีของจิตรได้เป็นแบบอย่างของกวีไทยหลัง 14 ตุลาคมยิ่งขึ้น

“อักษรศาสตร์พิจารณ์” ถึงกับตีพิมพ์ประวัติและบทวิจารณ์ที่ยกย่องความสามารถของจิตรโดยเปิดเผย (เพียงไม่ใส่ชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ลงไปเท่านั้น) แม้ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” จะไม่ระบุชื่อจิตรโดยตรง แต่ก็เป็นที่รู้กันทั่วว่า

เมื่อ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” เขียนถึงศิลปินของประชาชนในฉบับการเมือง (มิถุนายน 2517) ประชาชนระดับปัญญาชนและผู้ที่อยู่ในแวดวงการนักเขียนนักประพันธ์ก็รู้ทันทีว่างานนี้

คือ งานวิเคราะห์ จิตร ภูมิศักดิ์ นั่นเอง

 

บทเพลง วีรชนปฏิวัติ

ดังจาก “เทวาลัย”

ชลธิรา สัตยาวัฒนา ตรีศิลป์ บุญขจร และ อวยพร มิลินทางกูร ผู้เสนอบทความทางวิชาการชี้นนี้ได้กล่าวยกย่องจิตรไว้อย่างสูงเด่น

และชี้ให้เห็นว่า

ในอดีตนักอักษรศาสตร์ก็ผลิตผู้ต่อสู้กู้ชาติมาแล้วเช่น จิตร ภูมิศักดิ์ การตีพิมพ์บทกวีอันเลื่องชื่อเช่น “วีรชนปฏิวัติ” ในวารสารวิชาการของคณะที่ค่อนข้างจะมีแรงผลักดันที่เป็นปฏิปักษ์สูงอย่าง “อักษรศาสตร์พิจารณ์” ในช่วงนั้น

นับเป็นความกล้าหาญชาญชัยอย่างมากมายและควรแก่การยกย่อง

เนื่องจากบทกวีชิ้นนั้นมีข้อความปฏิวัติมากและแรงในเนื้อหา “เมืองไทยต้องเป็นของไทย ลูกไทยห้าวหาญ สู้เผด็จการทารุณไม่เคยไหวหวั่น เผด็จการประหารชีวัน ศรัทธายังมั่น เสมอจนสิ้นใจ”

ชื่อเสียงและเกียรติคุณของ จิตร ภูมิศักดิ์ ตลอดจนผลงานของเขาเป็นสิ่งที่น่าศึกษามาก เพราะในช่วง 14 ตุลาคม-6 ตุลาคม 3 ปีจาก 2516-2519 นี้อิทธิพลของจิตรและผลงานของจิตรมีผลกระทบต่อวงการต่างๆ อย่างมากมาย

ทั้งทางวิชาการและในหมู่นักคิด นักเขียนวรรณกรรมการเมือง

 

ศาสตร์ ศิลป์ อักษร

อักษรศาสตร์พิจารณ์

จะทำความเข้าใจต่อบทบาทของ”อักษรศาสตร์พิจารณ์” จะเข้าใจต่อความกล้าหาญอันมาจาก ชลธิรา สัตยาวัฒนา ตรีศิลป์ บุญขจร และ อวยพร มิลินทางกูร แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต้องย้อนกลับไปอ่านหนังสือและบทความบทเดียวกันนี้ของ ชัยสิริ สมุทวณิช เมื่อกล่าวถึงการเคลื่อนไหวก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516

นั่นก็คือ

การตื่นตัวด้านวรรณกรรมในสังคมไทยช่วงนั้นยังเป็นกระแสตื่นตัวที่ผู้มีหน้าที่ด้านการสอนต้องการการรับรู้ใหม่ เนื่องจากพัฒนาการด้านวรรณกรรมมีความเคลื่อนไหวอย่างหนักหน่วงและคลื่นของการมองวรรณกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไป

ทำให้วงวิชาการด้านการเรียนการสอนได้ตระหนักถึงกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงจนในที่สุดฝ่ายงานวิชาการอักษรศาสตร์ภายใต้การนำของกลุ่มคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์จัด “นิทรรศการทางวิชาการ” ในเดือนธันวาคม 2515 ซึ่งส่อสภาพขัดแย้งทางแนวคิดในคณะอักษรศาสตร์อย่างแท้จริง

ด้านหนึ่ง กระแสจิตสำนึกของผู้จัดงานยังคงสะท้อนลักษณะเดิม และ “ภาพลักษณ์เดิม” ของสังคมนิสิตขณะนั้น คือในงานยังคงมีการเดินแฟชั่นแบบฝรั่งเศส

อีกด้านหนึ่ง ได้มีการเคลื่อนไหวทางวิชาการด้านผลงานตีพิมพ์ “ศาสตร์และศิลปะแห่งอักษร” หนังสือรวบรวมบทความทางวิชาการของคณาจารย์

บุคคลที่เคลื่อนไหวทางวิชาการอย่างเอาเป็นเอางาน คือกลุ่ม อาจารย์สืบแสง พรหมบุญ ชลธิรา สัตยาวัฒนา สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ บทนำของ “อักษรศาสตร์พิจารณ์” (ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 มิถุนายน 2516) ได้กล่าวถึงสภาพทางวิชาการทางด้านอักษรศาสตร์ขณะนั้นว่า

“วิชาการอักษรศาสตร์ในฐานะที่เป็น ‘ศาสตร์’ กำลังหลับใหลหยุดนิ่งอยู่กับที่มานานพอสมควร คนกลุ่มนี้เห็นว่าถึงเวลาเสียทีที่จะต้องปลุกวิชาการอักษรศาสตร์ให้ลืมตาตื่นขึ้นมาสนใจวิทยาการแผนใหม่บ้าง”

นอกจากนั้น ทีมงานวิชาการของอักษรศาสตร์ยังได้ระบุอย่างตรงไปตรงมาที่จะนำเอาวิชาการด้านนี้ลงสู่ประชาชน

ในบทนำดังกล่าวชี้ว่า

“การปลุกวิชาอักษรศาสตร์นี้อาจมีผลช่วยให้นักอักษรศาสตร์อีกเป็นจำนวนมากได้มีโอกาสฟื้นคลายจากมนต์สะกดอันแรงขลังของวิชาอักษรศาสตร์ที่ได้ประดษฐานอยู่บนหิ้งบูชามาเป็นเวลานานแล้ว

และเริ่มตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบอันตนพึงมีต่อสังคมที่ตนสังกัด”

 

แรงส่ง จากเทวาลัย

สู่ สุจิตต์ วงษ์เทศ

หนังสือ “ศาสตร์และศิลปะแห่งอักษร” อันมีพื้นฐานมาจาก “นิทรรศการทางวิชาการ” ที่จัดโดยกลุ่มคณาจารย์และนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนธันวาคม 2515

ตีพิมพ์ผ่านแท่นพิมพ์อันทันสมัยและคึกคักของโรงพิมพ์ “พิฆเนศ”

ในความรับผิดชอบอย่างเปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งจาก สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ขรรค์ชัย บุนปาน

อันเท่ากับส่งมอบอิทธิพล จิตร ภูมิศักดิ์ โดยอ้อมถึง สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

https://x.com/matichonweekly/status/1552197630306177024