เหาะคุมลงกา

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมหยิบหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” มาอ่านอย่างตั้งใจอีกครั้ง หนังสือเล่มนี้เขียนโดย “วิษณุ เครืองาม” คนที่ทำงานกับนายกรัฐมนตรีมาเกือบ 10 คน

ตั้งแต่สมัยเป็นข้าราชการ จนเป็นรองนายกรัฐมนตรี

มีเรื่องหนึ่งที่ผมพับหนังสือไว้ พร้อมกับขีดเส้นข้อความสำคัญบางตอนไว้

เป็นเรื่องตอนที่คุณวิษณุเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

คุณชวน หลีกภัย เป็นคนแต่งตั้ง

แต่อยู่มาได้ 2 ปี ลมการเมืองก็เปลี่ยนทิศ

พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง

คุณบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ในหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” คุณวิษณุเล่าว่าแกนนำพรรคชาติไทยไม่ค่อยไว้วางใจเขา เพราะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้สมัยคุณชวนเป็นนายกฯ ตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนั้นมีความสำคัญมาก เพราะกุม “ความลับ” หลายเรื่อง

ครับ ช่วงนั้นมีการวิเคราะห์กันว่าคุณวิษณุอาจโดนโยกย้ายจากตำแหน่งนี้

และเอาคนที่ไว้ใจได้มาทำงานแทน

คุณวิษณุเล่าว่าคุณบรรหารไม่เคยพูดหรือแสดงท่าทีใดๆ ว่าจะให้เป็นเลขาธิการ ครม.ต่อไป

แต่เนื่องจากเขายังไม่มีอำนาจโยกย้ายข้าราชการ เพราะยังไม่ได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี

และยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ

รวมถึงยังไม่ได้แถลงนโยบายกับรัฐสภา

ช่วง 1 เดือนก่อนที่กระบวนการจะเสร็จสิ้น คุณบรรหารก็ยังต้องใช้งาน “วิษณุ”

เป็นห้วงเวลาของการดูใจระหว่างกัน

 

มีตอนหนึ่งที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ คือ ตอนที่นายกฯ บรรหารเข้าเฝ้าฯ เพื่อนำรายชื่อคณะรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ คุณวิษณุเข้าไปด้วย “เมื่อรับสั่งถึงเรื่องปัญหาอื่นๆ ของบ้านเมือง ผมเห็นว่าไม่สมควรจะเฝ้าฯ อยู่ด้วย จึงกราบถวายบังคมลาแล้วถอยออกไปรออยู่อีกห้องพักใหญ่ๆ

ท่านนายกฯ บรรหารก็กลับออกมาด้วยสีหน้าแช่มชื่น เล่าให้ฟังว่ามีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติอย่างไร

ตอนหนึ่งเล่าว่าท่านปรารภถึงข้าราชการประจำว่าทุกคนทุกฝ่ายต่างช่วยประเทศชาติบ้านเมืองกันตามหน้าที่ ข้าราชการการเมืองมาแล้วก็ไป แต่ข้าราชการประจำยังต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไป

‘นักบริหารที่ดีจึงต้องรู้จักใช้คน อัศวินที่เก่งต้องรู้จักบังคับม้าที่พยศ ไม่ใช่เปลี่ยนม้าทั้งฝูง นักบริหารที่ดีไม่ควรบริหารด้วยการยกทีมใหม่เข้ามาทำงานทุกอย่างแทนคนเก่า โดยไม่ปรากฏว่าคนเก่าบกพร่องอย่างไร ถ้าทำอย่างนั้นแสดงว่าไม่ใช่นักบริหารที่แท้จริง บางคนเข้ามาคนเดียวยังทำงานได้ อยู่ที่การผูกใจให้คนรักและเชื่อฟัง นักบริหารต้องเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน อย่าสักแต่ว่าใช้คนให้ถูกใจ’ ผมเชื่อว่าพระราชดำรัสนี้เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ไม่จำเพาะแก่ใคร เพราะขณะนั้นวิธีปฏิบัติว่าพอเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนข้าราชการประจำดูจะเป็นธรรมเนียมอยู่

แต่พอท่านนายกฯ บรรหารเล่ามาถึงตอนนี้ ท่านก็ทำท่านึกขึ้นได้ จึงจ้องหน้าผมแล้วตบบ่าผมแรงๆ ถามว่า ‘ท่านเลขาฯ ทำงานกับผมได้ไหม’

ผมกราบเรียนไปว่าผมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะเลือกนายได้อย่างไร

ท่านจึงบอกว่างั้นมาทำงานด้วยกันเถอะ ใครจะว่าอย่างไรไม่ต้องสนใจ”

เรื่องนี้คุณวิษณุนำมาเล่าอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะตอนที่คุณบรรหารเสียชีวิต

มุมหนึ่ง คือ ความประทับใจในตัวนายกฯ บรรหาร

แต่อีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่ามี “ความหมาย” ระหว่างบรรทัดที่คุณวิษณุตั้งใจสื่อแบบระมัดระวัง

เป็นความปลื้มปีติส่วนตัว

หนังสือ “เรื่องเล่าผู้นำ”  เขียนโดย วิษณุ เครืองาม สำนักพิมพ์มติชน

ตอนที่คุณเศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์ว่าจะตั้งคุณวิษณุเป็นที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ผมรู้สึกแปร่งๆ ในใจ

เพราะในช่วงที่ผ่านมา คุณวิษณุยืนอยู่คนละฟากฝั่งกับพรรคเพื่อไทย เขายืนเคียงข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาโดยตลอด

มีการตอบโต้กับคุณทักษิณ ชินวัตร และคนของพรรคเพื่อไทยอยู่เรื่อยๆ

อยู่ดีๆ คุณเศรษฐาก็ดึง “วิษณุ” เข้ามาหลังเกิดกรณีการแต่งตั้งคุณพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี

คนในพรรคเพื่อไทยย่อมไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเหมือนเป็นการด้อยค่าขุนพลด้านกฎหมายภายในพรรค

ทำไมต้องเป็น “วิษณุ”

และทำไม “วิษณุ” ถึงยอมรับตำแหน่ง

เพราะก่อนการเลือกตั้ง เขาประกาศเองว่าจะวางมือทางการเมืองเพราะปัญหาด้านสุขภาพ

ไม่พร้อมรับตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากนั้น เขาเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองสูงถึงรองนายกรัฐมนตรี จะให้มาเป็น “ที่ปรึกษา” ก็เหมือนลดตำแหน่งตัวเอง

ที่สำคัญก็คือ คุณเศรษฐาก็ไม่ได้มีบารมีหรือมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจนคุณวิษณุต้องยอมมาช่วยงาน

ในวันที่ต้องฟอกไตวันละ 10 ชั่วโมง

ทำไม?

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม มีข่าวหลุดออกมา และคุณเศรษฐาให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเขาไปหาคุณวิษณุถึงที่บ้านเพื่อเชิญมาเป็นที่ปรึกษาจริง

แต่ก่อนหน้านั้น 1 วัน “วิษณุ” ไปพูดในงานเลี้ยงรุ่นนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม

เขาบอกว่าต้องเข้ามาเกี่ยวกับการเมืองถึง 7 ครั้ง

“ในนี้ไม่มีผู้สื่อข่าว ก็พอบอกได้ว่ากำลังเดือดร้อนกับครั้งที่ 8 แต่ก็พยายามที่จะเบี่ยงบ่าย และคิดว่าน่าจะเบี่ยงบ่ายได้สำเร็จ เพราะว่าผมมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ใครมาชวนก็จะเปิดพุงให้ดู ผมฟอกไตอาทิตย์ละ 7 วัน วันละ 10 ชั่วโมง”

ถ้า “วิษณุ” ตั้งใจบ่ายเบี่ยงจริง

อะไรทำให้เขาต้องยอมรับตำแหน่งนี้

“วิษณุ” เปิดเผยในเวลาต่อมาว่าจริงๆ แล้ว “เศรษฐา” ไม่ได้เชิญมาเป็น “ที่ปรึกษา”

แต่เชิญมาเป็น “รองนายกรัฐมนตรี”

“วิษณุ” ปฏิเสธ

ก่อนจะลงตัวที่ตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” ของนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมายและระเบียบปฏิบัติราชการ

แม้ตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษา” แต่อำนาจหน้าที่ยิ่งกว่า “รองนายกรัฐมนตรี”

เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้

มีอำนาจตรวจสอบกลั่นกรองวาระต่างๆ ก่อน

เชิญหน่วยงานต่างๆ มาประชุมหรือให้ข้อมูลรายละเอียดได้

ให้สัมภาษณ์ได้

แต่งตั้งคณะทำงานหรืออนุกรรมการต่างๆ ได้

ในทางการเมือง ไม่มีทางที่พรรคเพื่อไทย หรือคุณทักษิณ ชินวัตร จะให้อำนาจกับ “คนนอก” มากมายขนาดนี้

ในขณะที่คุณเศรษฐาคงไม่กล้าให้อำนาจแก่คนที่ไม่คุ้นเคยเช่นกัน

หรือนี่คือ “ข้อเสนอ” ที่ปฏิเสธไม่ได้ เพื่อพันธนาการและควบคุมรัฐบาล “เศรษฐา” และ “ทักษิณ” ให้อยู่ในพื้นที่เหมาะสม

ทั้งหมดก็ย้อนกลับไปที่คำถามว่าทำไมคุณวิษณุจึงยอมรับตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลชุดนี้

ทั้งที่เขาต้องฟอกไตวันละ 10 ชั่วโมง

และคุณเศรษฐาหรือคุณทักษิณก็ไม่ได้มีบุญคุณกับ “วิษณุ” จนปฏิเสธไม่ได้

ทำไม?

 

ผมเปิดหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” อ่านเนื้อหาต่อในเรื่องที่ขีดเส้นใต้ไว้

“พูดมาถึงตอนนั้นเราสองคนก็ต้องรีบกลับออกไปเพราะมีคนกระซิบว่าขณะนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีซึ่งประชวรอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชอาการไม่สู้ดีนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังจะเสด็จออกไปทรงเยี่ยมพระอาการ

ผมคุกเข่าลงกราบถวายบังคมไปทางที่ประทับ น้ำตาคลอ ในใจรู้สึกชุ่มชื่นอย่างประหลาดว่าได้รับกระแสแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อข้าราชการทั่วประเทศ

และพระมหากรุณาธิคุณนั้นได้แผ่ซ่านมาถึงผมส่วนหนึ่งอย่างทันตาเป็นที่อัศจรรย์ พระกรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้”

จบข้อความที่ผมขีดเส้นใต้ในหนังสือเล่มนี้ •