ปลัด มท. นำคณะผู้เชี่ยวชาญ น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ลงพื้นที่อบรมโค้ชชิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ

ปลัด มท. นำคณะผู้เชี่ยวชาญ น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ลงพื้นที่อบรมโค้ชชิ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ เน้นย้ำ เพราะแฟชั่นความนิยม “มาเร็วไปเร็ว” คนรุ่นใหม่จึงต้องนำความรู้แฟชั่นสมัยใหม่ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย เพื่อทำให้เกิดการสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

วันนี้ (24 มี.ค. 67) เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเมอร์เคียว เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้งที่ 6 พร้อมบรรยายพิเศษ “พระอัจฉริยภาพด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้า” โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ศรินดา จามรมาน ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย นายศิริชัย ทหรานนท์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ THEATRE อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และรักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักวิชาการสร้างสรรค์ วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มศว. ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า และนายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) หัวหน้าส่วนราชการ เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย Young OTOP และผู้ที่สนใจพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาด้านผ้าไทย รวมกว่า 120 คน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ด้วยทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระกรณียกิจที่เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง คือ การส่งเสริมให้ผู้คนนำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาใช้ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ แล้วนำไปจำหน่ายเกิดเป็นรายได้ ภายใต้ชื่อมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นครั้งแรกที่อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ตั้งแต่ ปี 2513 กระทั่งผ่านเลยล่วงมาเป็นเวลากว่า 50 ปี จวบจนปัจจุบัน และด้วยพระอัจฉริยภาพและพระวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เกิดเป็นภาพที่พวกเราคนไทยจดจำไม่รู้ลืม นั่นคือการเสด็จไปเป็นประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 และพระราชทานแบบลายผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เป็นครั้งแรก โดยทรงนำเอาลวดลายโบราณมามาผสมลวดลายใหม่ และยังได้พระราชทานลายผ้าอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ลายนารีรัตนราชกัญญา ลายปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง ท้องทะเลไทย ป่าแดนใต้ ลายดอกรักราชกัญญา ลายพระนามาภิไธยสิริกิติ์ ลายชบาปัตตานี และล่าสุด คือ ลายสิริวชิราภรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป อันเป็นการจุดประกายให้กับสังคมไทยได้เกิดความตื่นตัวและเกิดกระแสความนิยมชมชอบผ้าไทยอย่างเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญถึงทุกวันนี้”

“ดังนั้น ลูก ๆ หลาน ๆ เด็กและเยาวชนผู้มีความตั้งใจจะเพิ่มพูนความรู้ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนายกระดับคุณภาพฝีมือที่ได้เดินทางมาร่วมฝึกอบรมในวันนี้ ทุกคน คือ ผู้สนองงาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่จะได้นำเอาสิ่งที่มีค่าที่สุด นั่นคือสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานลงมา ไปเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและต่อยอดให้เกิดองค์ความรู้ด้านแฟชั่น สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงด้านการตลาดอย่างครบวงจร โดยมีคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ผู้เป็น Ambassador โครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ผู้สนองงานในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีให้กับลูกหลาน เพราะความยั่งยืนของภูมิปัญญาผ้าไทยอยู่ที่เด็กและเยาวชน ทำให้ทุกคนนำผ้าไทยไปตัดเย็บไปสวมใส่ในทุกโอกาสอย่างเป็นที่สนุกสนาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับโอกาสร่วมสนองงานกับคณะทำงานฯ เพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตให้พี่น้องคนไทย ด้วยการนำเอาภูมิปัญญาหัตถศิลป์หัตถกรรมสร้างสรรค์ต่อยอดให้เกิดรายได้ที่เพิ่มพูนขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการทำให้คนไทยตระหนักถึงการ “แก้ไขในสิ่งผิด” ดังพระราชดำรัสหรือพระบรมราชโองการองค์ที่ 2 ที่ได้พระราชทานไว้ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งล่าสุดเมื่อวานนี้ (23 มี.ค. 67) เป็นภาพที่พวกเราคนไทยทุกคนได้เห็น คือ การพัฒนาพื้นที่บึงสีไฟ อันเป็นโครงการพระราชดำริโดยแท้ โดยพระองค์ท่านทรงทำจากรากฐานสิ่งดีงามที่มีอยู่แล้ว โดยนำจุดแข็งหรือศักยภาพของชาติที่มีอยู่มาพัฒนาต่อยอดให้ยังประโยชน์ที่เพิ่มพูนมากขึ้น ทั้งนี้ โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เป็นการแก้ไขในสิ่งผิด โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า ในปี 2563 บึงสีไฟสามารถเก็บน้ำได้เพียง 2 ล้านคิว แต่ในปัจจุบันภายหลังจากพระองค์พระราชทานพระราชดำริในการพัฒนา ทำให้บึงสีไฟสามารถเก็บน้ำได้ถึง 12 ล้านคิว สะท้อนว่าในช่วงหน้าฝนก็จะมีที่กักเก็บน้ำ เมื่อถึงหน้าแล้งก็มีน้ำใช้ อีกทั้งยังได้มีการก่อสร้างทางจักรยานรอบบึงสีไฟ โดยได้รับพระราชทานชื่อสนามจักรยานว่า “สราญจิตมงคลสุข” แบ่งเป็น สนามจักรยาน BMX ความยาว 356 เมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 8,400 ตารางเมตร สนามจักรยานขาไถ (Balance Bike) ความยาว 120 เมตร พื้นที่รวมทั้งหมด 1,600 ตารางเมตร และสนามปั๊มแทร็ก (Pump Track) ความยาว 350 เมตร พื้นที่รวม 1,683 ตารางเมตร สนามจักรยานทุกประเภทที่บึงสีไฟ ได้รับการการันตีจากสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นหนึ่งในสนามที่ดีที่สุดมาตรฐานติด 1 ใน 5 ของประเทศไทย และสามารถจัดการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ 10.28 กิโลเมตร บรรยากาศแวดล้อมร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีจังหวัดเชียงใหม่ที่มีพื้นที่พัฒนาตามแนวพระราชดำริที่สำคัญ คือ “คลองแม่ข่า” ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ทั้งด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนที่เคยบุกรุก รวมถึงการบำบัดน้ำเสียครบวงจรทั้งระบบ

“ในเรื่องผ้าไทยก็เช่นกัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นความสำคัญในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ด้วยการทำให้ผ้าไทยตอบโจทย์ความต้องการคนรุ่นใหม่และคนในสังคม ให้มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นตามขนาดตามไซส์ มีลวดลายที่ทันสมัย มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นที่ชื่นชอบ มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้น น่าค้นหา ซึ่งการทำธุรกิจต้องคำนึงถึงเทรนด์ความต้องการด้วย แฟชั่นผ้าไทยก็เช่นกัน เราต้องรู้ว่าฤดูต่าง ๆ ในปีหน้าจะเกิดความนิยมอย่างไร เพื่อจะสามารถผลิตผ้าได้ทันต่อความต้องการ เพราะแฟชั่นความนิยมนั้น “มาเร็วไปเร็ว” ดังนั้น คนที่ไวกว่าจะมีโอกาสมีรายได้ จึงทรงนำเอาความรู้ (Know-how) แฟชั่นสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับงานภูมิปัญญาผ้าไทย และในด้านการออกแบบตัดเย็บพระองค์โปรดให้เชิญดีไซเนอร์ชั้นแนวหน้าของประเทศ อาทิ คุณหมู Asava คุณจ๋อม THEATRE คุณโรจน์ ISSUE คุณอู๋ WISHARAWISH ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มีลูกค้าประจำ ทำให้ผ้าไทยขายดีอย่างเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เช่น ที่บ้านดอนกอย จาก 400 บาท/คน/เดือน เป็น 15,000 บาท/คน/เดือน ควบคู่กับการส่งเสริมให้ใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า นอกจากนี้ พระองค์ได้พระราชทานพระดำริในการเสริมสร้างชุมชนหมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ในรูปแบบ “วิชชาลัยผ้า” เพื่อเป็นหมู่บ้านต้นแบบ หรือ “ตักศิลาผ้าไทย” ทั้งปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปลูกพืชให้สีธรรมชาติ ตัดเย็บ จำหน่ายอย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ใน 2 จังหวัด คือ วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู ขวัญตา ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู วิชชาลัยดอนกอย ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และอยู่ในระหว่างก่อสร้างขณะนี้ คือ วิชชาลัยผ้าบาติกปัตตานี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่เป็นทั้งที่ทำงานและที่ศึกษาเรียนรู้ดูงาน เป็นศูนย์รวมการถ่ายทอดภูมิปัญญาควบคู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่สอดคล้องกับความนิยมชมชอบและความต้องการของตลาด” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า การฝึกอบรมในวันนี้เป็นส่วนที่มีความสำคัญที่ลูก ๆ หลาน ๆ ตลอดจนผู้ประกอบการทุกคนโชคดีที่ได้มา เพราะเราจะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการย้อมสีธรรมชาติ การออกแบบตัดเย็บ การตลาด บรรจุภัณฑ์ การเขียน Story telling และที่สำคัญ คือ เราได้เพื่อน ได้ Connection กับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งทุกท่านเป็นครูจิตอาสา และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็นแบบอย่างให้เราว่า ถ้าเราไม่หยุดนิ่งกับการรับความรู้ใหม่ ๆ และรู้จักนำไปประยุกต์ดัดแปลงใช้ในชีวิตประจำวัน เราจะมีโอกาสที่ดี ขอให้พวกเรามั่นใจว่าความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย หัตถกรรมไทยของบรรพบุรุษ เป็นอาชีพที่น่ายกย่องสรรเสริญ และน่าภาคภูมิใจ ที่จะทำให้เกิดการสร้างฐานะ สร้างอาชีพ ทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความมั่นคงของชาติ รักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน

ดร.ศรินดา จามรมาน กล่าวว่า การฝึกอบรมวันนี้เป็นการผสมผสานระหว่างวัย ทั้งน้อง ๆ นักศึกษา และแม่ ๆ พี่ ๆ ป้า ๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้เราได้เรียนรู้จากครูผู้มีประสบการณ์ ไม่ต้องดูแค่ใน YouTube และเราสามารถขอ contact ไปเรียนรู้ถึงพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน เฉกเช่นพระองค์ท่านทรงเรียนรู้ผ่านการ Learning by doing จนทำให้เกิดการซึมซับ เพราะโอกาสคือสิ่งที่อยู่ในชุมชน จึงขอให้น้อง ๆ คว้าโอกาสและสิ่งดี ๆ ให้มากที่สุด เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต

คุณศิริชัย ทหรานนท์ กล่าวว่า ผ้าไทยเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเติบโต ดังนั้น ถ้าเรามีโอกาสได้ผลิตผ้าไทยที่มีความผสมผสานระหว่างลายอัตลักษณ์และภูมิปัญญาดั้งเดิมมาประกอบกันให้เป็นผ้าไทยในรูปแบบใหม่ ก็จะทำให้มีรายได้ที่เพิ่มพูนอย่างต่อเนื่องยั่งยืน

อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข กล่าวว่า น้อง ๆ ที่มาอบรมวันนี้จะได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมจากทุกท่านที่มีประสบการณ์ดั้งเดิมผสมกับความชอบความสนใจ อันเป็นการจับคู่ระหว่างผู้มีประสบการณ์และน้อง ๆ นิสิตนักศึกษารุ่นใหม่ เพื่อทำให้ผ้าไทยได้รับการพัฒนาต่อยอดอย่างหลากหลายและยั่งยืน

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร กล่าวว่า ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567 จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 2,393 รายการ จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 7,568 รายการ คิดเป็น 31.62% ทั้งนี้ จากผลการขับเคลื่อนโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยการส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้และสวมใส่ผ้าไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้จากการจำหน่ายผ้าตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ถึงวันที่ 10 มีนาคม 2567 จำนวนกว่า 114 ล้านบาท