จังหวัดขอนแก่น โชว์โมเดล ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ “CI จังหวัดขอนแก่น” แก่กลุ่มงานวิจัย กรมการปกครอง ด้านผู้ว่าฯ ขอนแก่น เผยใช้แนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ”

จังหวัดขอนแก่น โชว์โมเดล ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ “CI จังหวัดขอนแก่น” แก่กลุ่มงานวิจัย กรมการปกครอง ด้านผู้ว่าฯ ขอนแก่น เผยใช้แนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ” เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างยั่งยืน

วันนี้ (12 มี.ค. 67) นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า จังหวัดขอนแก่นได้ให้การต้อนรับ และสนับสนุนคณะทำงานกลุ่มงานวิจัย ส่วนวิจัยและประเมินผล กองวิชาการและแผนงาน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยมีการศึกษาและเก็บข้อมูล ณ ที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่น ที่ทำการปกครองอำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอบ้านฝาง และอำเภอหนองเรือ รวมถึงกองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดขอนแก่น ในประเด็นการบูรณาการเพื่อยกระดับภารกิจด้านการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนแก่พี่น้องประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยให้จังหวัดขอนแก่นสามารถพัฒนาและนำข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมไปใช้ประโยชน์ด้านวิชาการร่วมกับส่วนวิจัยและประเมินผล กรมการปกครอง เพื่อประมวลความรู้ และแนวทางการทำงานในทุกมิติต่อไป

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ส่วนวิจัยและประเมินผล กองวิชาการและแผนงาน กรมการปกครอง ได้บูรณาการร่วมกับ ส่วนส่งเสริมและเผยแพร่ (เทศาภิบาล) ลงพื้นที่ศึกษาวิจัยการปรับสมดุลการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยได้ศึกษาผลการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายปกครองในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กรณีศึกษาบทบาทนายอำเภอกับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ จากผู้ให้ข้อมูลตามกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอ ประชาชนผู้มารับบริการในประเด็นต่าง ๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายจาก 1. โครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน และหนึ่งตำบลหนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีผลการดำเนินการโครงการตามแนวพระราชดำริ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร จังหวัดขอนแก่น มีการดำเนินการแล้ว 158 เส้นทาง จำนวนต้นไม้ที่ปลูก 15,262 ต้น ระยะทางรวม 108 กิโลเมตร 2. กลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลระบบ ThaiQM และการดำเนินการตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ. สถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจังหวัดขอนแก่นมีจำนวนลูกหนี้ 3,959 คน แก้ไขปัญหาแล้ว 1,644 คน คิดเป็นร้อยละ 41.52 โดยจังหวัดขอนแก่นได้ดำเนินการเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้มาพบปะพูดคุยกัน ผ่านกลไกของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานก็เป็นที่น่าพึงพอใจ และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญโดยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้ และลูกหนี้ ให้สองฝ่ายได้รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียม
.
นอกจากนี้ ยังได้มีการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขับเคลื่อนศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ การขับเคลื่อนการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ThaID มีผู้ลงทะเบียน 387,230 คน คิดเป็นร้อยละ 23.77 (ข้อมูล ณ วันที่ 6 มีนาคม 2567) การขับเคลื่อนศูนย์ราชการสะดวก (GECC) ของจังหวัดขอนแก่น

“สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้นำเสนอคณะกลุ่มงานวิจัยฯ คือแนวทางในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในการทำสงครามกับยาเสพติด ตัดวงจรทั้งในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ตอนในของประเทศ เพื่อป้องกัน ปราบปราม และลดผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด รวมถึงการคืนคนดีสู่สังคมผ่านกระบวนการ บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม” นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าว

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต่อว่า ภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) จังหวัด ขอนแก่น ตามแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ด้วยแนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ” เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดจากสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ยังไม่หายขาดจากยาเสพติดที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน มาเข้ารับการบำบัดที่กองร้อย อส.จังหวัด/กองร้อย อส.อำเภอ โดยการดูแลของนายอำเภอ/พนักงานฝ่ายปกครอง ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2566 (ดำเนินการเป็นแห่งแรกของประเทศ) มีวัตถุประสงค์ เพื่อแยกผู้ป่วยยาเสพติดที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในชุมชน ออกมาพักคอยจนกว่าจะมีความพร้อมกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อลดอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยยาเสพติด
.
“ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด หรือ ศูนย์ CI จังหวัดขอนแก่น มีรูปแบบโครงสร้างการดำเนินงาน 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 โดย นายอำเภอ/ผอ.ศป.ปส.อ. เป็นหัวหน้าศูนย์ CI อำเภอ และกำหนดอาคารสถานที่ดำเนินงาน CI อำเภอ และส่วนที่ 2 โดยปลัดอำเภอ, ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน, สาธารณสุขอำเภอ เป็นเลขานุการร่วม และเจ้าหน้าที่ศูนย์ CI ผู้แทนส่วนราชการ/หน่วยงาน ในอำเภอ ได้แก่ ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร, ท้องถิ่นอำเภอ, นายกเทศบาล, นายก อบต., ปลัดเทศบาล, ปลัด อบต., กำนัน, ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้าน, สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนประจำกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอ ซึ่งศูนย์ CI มีหน้าที่เป็นฝ่ายอำนวยการ และพัฒนาหลักสูตรการดูแลให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่และบุคคล เป็นครูฝึก/ครูพี่เลี้ยง/ชุดรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ CI ประสานข้อมูลรองรับการส่งต่อผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิต หรือมีพฤติกรรมรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด จากสถานพยาบาลที่ผ่านการบำบัดเข้ามาติดตามดูแลต่อเนื่อง จัดให้มีการสนับสนุนช่วยเหลือ และให้การสงเคราะห์ด้านอาชีพให้แก่ผู้เข้ารับบริการ ประเมินผลสภาวะทางกาย จิตใจ จ่ายยาจนกว่าตัวผู้ป่วยพร้อมกลับคืนสู่ชุมชน” นายไกรสรฯ กล่าว
.
นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ CI มีหน้าที่จัดเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติการดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการเพื่อยกระดับและพัฒนาการดำเนินงานในระยะต่อ ๆ ไป โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของศูนย์ CI จังหวัดขอนแก่น ขณะนี้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) ครบทั้ง 26 อำเภอ มีการให้บริการและสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 246 คน ดำเนินการต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 156 คน รวมมีจำนวนผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการช่วยเหลือจากศูนย์ CI ขอนแก่น รวมทั้งสิ้น 402 คน

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาระดับชาติที่อยู่ในขั้นวิกฤตและจำเป็นต้องมีการบูรณาการแก้ไขร่วมกัน ผ่านหน่วยงานที่หลากหลายและตรงภารกิจ และควรมีการศึกษาวิจัยด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงการประชาสัมพันธ์ผลงานแบบบูรณาการที่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ โดยในส่วนการประชาสัมพันธ์จะต้องเน้นการสื่อสารเชิงรุกที่เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งเด็กนักเรียนในสถานศึกษา กลุ่มแรงงานในสถานประกอบการ หรือไซต์งานก่อสร้าง กลุ่มผู้อยู่ระหว่างการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ซึ่งจะต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องเเละต้องช่วยกันสื่อสารให้เห็นถึงโทษ และภัยที่เกิดจากยาเสพติด รวมไปถึงช่องทางในการแจ้งเบาะเเส ทั้งศูนย์ดำรงธรรม 1567 หรือเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงในพื้นที่ นอกจากนี้ จังหวัดขอนแก่นจะได้ประสานและพัฒนาการปฏิบัติร่วมกับส่วนวิจัยและประเมินผล กรมการปกครอง ดำเนินการประมวลความรู้ และแนวทางการทำงานที่ได้รับในทุกมิติ บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อยกระดับภารกิจการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้กับประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป
.
##WorldSoilDay #วันดินโลก
#UN #FAO #GlobalSoilPartnership #MOI
#กระทรวงมหาดไทย #บำบัดทุกข์บำรุงสุข
#SoilandWaterasourceoflife
#SustainableSoilandWaterforbetterlife
#ดินดีน้ำดีชีวีมีสุขอย่างยั่งยืน
#SDGsforAll #ChangeforGood