ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล

ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารวางพวงมาลาถวายราชสักการะพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566 พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมกันปฏิบัติบูชาด้วยการทำความดี ถวายเป็นพระราชกุศล

วันนี้ (24 ก.ย. 66) เวลา 07.00 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการกอง และเจ้าหน้าที่ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

และในเวลาเดียวกันนี้ ที่บริเวณลานพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย นำข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมวางพวงมาลาถวายราชสักการะ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เนื่องในวันมหิดล ประจำปี 2566

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ประสูติเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณินทรวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัตติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ ลักษณวิจิตรพิสิฐบุรุศย์ ชนุตมรัตน์พัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร” และต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมที่ “กรมขุนสงขลานครินทร์” และเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2513 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” โดยพระองค์ได้ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชโอรส พระราชธิดา รวม 3 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นคุณูปการและประโยชน์อันไพศาลแก่ประเทศชาติและประชาชนชาวไทยอย่างอเนกอนันต์ โดยเฉพาะในด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้วยทรงเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพระราชทานทรัพย์สินส่วนพระองค์เพื่อการแพทย์ไทยอย่างมากมาย โดยทรงเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาแพทย์ ทรงช่วยเหลือในการขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช สนองพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สร้างตึกคนไข้ พระราชทานทุนส่งนักเรียนแพทย์และนักเรียนพยาบาลไปศึกษาต่อในต่างประเทศ อันเป็นการวางรากฐานทางการแพทย์และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยะประเทศ

“ปวงชนชาวไทยได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแด่ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์ไทย” และเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นวันครบ 100 ปี วันพระราชสมภพ องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข ต่อมาวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 เนื่องในโอกาสวันพระราชสมภพครบ 120 ปี ได้ถวายพระราชสมัญญาว่า “พระบิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย””

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เสด็จสวรรคต ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สิริพระชนมายุ 38 พรรษา ซึ่งจากพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ของพระองค์ จึงได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” ซึ่งในปี พ.ศ. 2493 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล และบรรดาศิษย์เก่า ตลอดจนประชาชนทั่วไป ได้มีการร่วมใจกันสร้างพระราชาอนุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2493 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ของทุกปี จึงเป็น “วันมหิดล”

“กระทรวงมหาดไทยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประโยคข้อความในพระลิขิต ที่ได้ถูกนำไปใช้เป็นคำขวัญเตือนใจและแนวทางการทำงานของเหล่าบรรดาแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนข้าราชการ และประชาชนคนไทยทุกคน ที่ว่า “ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์” ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ให้เป็นแสงสว่างแห่งการประกอบอาชีพในทุกอาชีพ ซึ่งข้าราชการกระทรวงมหาดไทยผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจก็ได้นำแนวทางพระราชทานนี้มาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและตักเตือนใจตนเองในการทำหน้าที่ด้วยความทุ่มเทกำลังกาย กำลังสติปัญญา เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อันจะยังประโยชน์ให้เกิดความมั่นคงของประเทศชาติ สนองตามพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันเปี่ยมล้นของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐที่ทรงมีคุณูปการอันเป็นรากฐานความมั่นคงด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของพสกนิกรชาวไทยตราบจนถึงปัจจุบัน จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันตั้งจิตเป็นกุศล ประกอบคุณงามความดี เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต 24 กันยายน 2566 โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย