ปลัด มท. จับมือ CEO PTTOR ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เพิ่มช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้า OTOP ณ ร้านค้าไทยเด็ด PTT Station กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ

ปลัด มท. จับมือ CEO PTTOR ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง เพิ่มช่องทางการตลาดและจำหน่ายสินค้า OTOP ณ ร้านค้าไทยเด็ด PTT Station กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน

วันนี้ (15 ส.ค. 66) เวลา 16.00 น.พร้อมด้วยนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เป็นประธานร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การเพิ่มช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP เพื่อวางจำหน่าย ณ ร้านค้าไทยเด็ด หรือมุมสินค้าไทยเด็ด และการบริหารจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระหว่างกระทรวงมหาดไทย และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) โดย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นสักขีพยาน โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายชูชีพ พงษ์ไชย นายวิฑูรย์ นวลนุกูล นายวรงค์ แสงเมือง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ดร.ศรินดา จามรมาน ที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยและที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชนและภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธีฯ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ที่ได้กรุณาช่วยทำให้สิ่งที่พวกเราอยากเห็นได้เกิดขึ้นจริง ด้วยการประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าคนที่แข็งแรง คือ “บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้ทอดทิ้งสังคม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่พวกเรามีพี่น้องประชาชนเกษตรกรถึงร้อยละ 70 – 80 ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มากด้วยภูมิปัญญา ถ่ายทอดผ่านงานศิลป์ทั้งผ้าไทย หัตถศิลป์ และหัตถกรรม ทั้งนี้ ในการมาเป็น Partnership ร่วมกันระหว่าง PTTOR และกระทรวงมหาดไทย ในครั้งนี้ได้รับความกรุณายิ่งจากคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการเป็นทีมผู้ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ทำให้พี่น้องประชาชนในถิ่นที่ชนบทได้ดึงเอาทักษะความสามารถของตนเองมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จนกระทั่งได้รับความสนใจจาก PTTOR ลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมเลือกซื้อเลือกหาสินค้ามาจัดจำหน่าย เช่น ผลงานผ้าย้อมครามบ้านดอนกอย จ.สกลนคร

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของ PTTOR ใน 4 ประการที่สำคัญ คือ 1) PTTOR ได้ให้ความสำคัญในการเหลียวแลดูแลชุมชนในชนบทห่างไกลที่ยังมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจน้อยกว่าคนในเมือง ให้ได้มีช่องทาง มีโอกาสในการนำเสนอผลงานจากฝีไม้ลายมือให้เป็นที่ปรากฏและเข้าถึงประชาชนผู้มีกำลังซื้อผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น 2) PTTOR เป็นต้นแบบในการทำให้บริษัทขนาดใหญ่หันมาเหลียวแลดูแลในการ Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้กับส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่แม่ฮ่องสอน หรือพื้นที่อำเภอขนาดใหญ่ที่อุบลราชธานี ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผู้คนที่ตั้งอกตั้งใจในการที่จะใช้ภูมิปัญญา ใช้ความอดทน ในการผลิตชิ้นงาน และเฝ้ารอการส่งเสริมด้านการ coaching และช่องทางการตลาดอยู่ โดย PTTOR จะช่วยทำให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งชาวมหาดไทยในฐานะภาครัฐรู้สึกดีใจที่ท่านมาช่วยเติมเต็ม 3) สิ่งที่ PTTOR ทำเป็นการประกาศจุดยืนในการช่วยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “เศรษฐกิจสีเขียว” ที่จะช่วยทำให้คนที่เข้มแข็งน้อยกว่าได้มีพลัง และ 4) ในด้านการลดภาวะโลกร้อน PTTOR คือ ภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนของกระทรวงมหาดไทยที่จะได้ร่วมกันเป็นผู้นำการส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ทำให้ได้มีพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร ไว้รับประทานในครัวเรือน ไว้แบ่งปันให้กับสมาชิกในชุมชน และจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน ซึ่งในระยะเวลาอันใกล้เราอาจจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ปลอดสารพิษเป็นจำนวนมาก เพราะทุกครัวเรือนทั้ง 14 – 15 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศได้ช่วยกันปลูกผักสวนครัวทั้งในที่ส่วนตัวและที่สาธารณะ ซึ่งจะทำให้เกิดปรากฏการณ์การต่อยอดพืชผักปลอดภัยให้เป็นที่แพร่หลายและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งผู้ปลูก และผู้บริโภค นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยและสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ผนึกกำลัง UN Thailand และ KBANK ประกาศความสำเร็จการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 จังหวัดนำร่อง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้ 22 ล้านครัวเรือนได้รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและองค์การสหประชาชาติว่าสามารถแปลงเป็นหน่วยคาร์บอนที่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่ชั้นบรรยากาศได้ คือ จังหวัดลำพูน จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดเลย และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยทาง Kbank ได้รับซื้อไปที่ 260 บาท/ตัน ได้เป็นเม็ดเงิน 8 แสนกว่าบาทกลับไปสู่ชุมชนที่ร่วมโครงการ

“ขอให้ความร่วมมือในครั้งนี้ของพวกเราทุกคนได้ขยับขยายทั้งในแง่ระยะเวลาและพื้นที่แห่งโอกาส เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ยังรอคอยโอกาสจะได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตบนพื้นฐานความสามารถและศักยภาพที่ PTTOR และกระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ร้านไทยเด็ด” เป็นแหล่งกระจายสินค้า เป็นจุดมุ่งหมายที่ PTTOR ปรารถนาให้เกิดพื้นที่ในการช่วยเหลือชุมชนและสังคมทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะ PTTOR ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและกระจายรายได้ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ที่ PTTOR ไปประกอบกิจการในทุกจังหวัด ทั้ง PTT Station ร้าน Café AMAZON และคลังน้ำมันทั่วประเทศ 17 แห่ง ซึ่งเราต้องการที่จะขยายความร่วมมือในทุก ๆ จังหวัด และทุก ๆ ชุมชน เพราะเป็นสิ่งที่เราวางเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน

“วันนี้เราได้รับโอกาสจากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และท่านอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และท่านอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เชิญชวน PTTOR เข้ามาเป็นภาคีเครือข่ายการทำกิจกรรมดี ๆ ในการที่เราประกาศเป็น “ช่องทาง” ที่จะให้โอกาสผลิตภัณฑ์ดี ๆ มาอยู่ใน Physical Platform เพราะเรามีจุดจำหน่ายมากกว่า 2,000 Stations ทั่วประเทศไทย และจะพัฒนาไปสู่ออนไลน์แพลตฟอร์ม เพราะเราไม่หยุดที่จะนำสินค้า OTOP ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดี ๆ ในทุก ๆ พื้นที่ ขึ้นอยู่บนระบบออนไลน์ของเราด้วย อันจะทำให้เกิดการขยายช่องทางการตลาด ทำให้สินค้าสามารถเข้าถึงประชาชนมากขึ้น และสามารถซื้อได้ทุกที่แม้แต่อยู่ที่บ้าน โดย PTT Station จะเป็นจุดกระจายสินค้าที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ให้คนมาสัมผัสจริง โดยเราจะกระจายสินค้าไปในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม” นายดิษทัตฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กล่าวต่ออีกว่า “เราสนับสนุนให้ Eco System เข้ามาอยู่ใน PTT Station ด้วยการให้โอกาสพี่น้องประชาชนเข้ามาจำหน่ายสินค้า ณ ร้านไทยเด็ด ใน PTT Station ซึ่งตัวผมเองก็ได้ลงพื้นที่ไปคัดสรรสินค้าด้วยตนเอง ที่บ้านดอนกอย ต.สว่าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งทำให้ผมต้องทึ่งและหลงใหลในผืนผ้าย้อมครามที่มีลวดลายสวยงาม มีสีสันสดใส และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ย้อมสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับพันธกิจของ PTTOR และพวกเราก็มีความยินดีที่จะได้เป็นภาคีเครือข่ายกับกระทรวงมหาดไทยในการน้อมนำแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยความภูมิใจที่ได้ใส่ผ้าไทย

“ประการสุดท้าย ในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต PTTOR เป็นองค์กรหนึ่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยเราพยายามที่จะชดเชย (Offset) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ชัดเจน คือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 โดย PTTOR จะได้พิจารณาการซื้อคาร์บอนเครดิตจากกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะมาชดเชยในส่วนที่เราปล่อยออกไป เพราะกระทรวงมหาดไทยคือผู้นำด้านองค์ความรู้การบริหารจัดการขยะที่เราก็จะได้นำทีมงานไปเรียนรู้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป และเรามีความยินดีที่ในอนาคตจะได้ขยายระยะเวลาความร่วมมือมากกว่า 1 ปี เป็น 5 ปีหรือ 10 ปี PTTOR ก็ยินดีที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อทำให้ประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคนเป็นพื้นที่แห่งความสุขที่ยั่งยืน