เปิดใจ  ปลัด มท.“การส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้มีจิตอาสาของคนรุ่นใหม่”

เปิดใจ  ปลัด มท.“การส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้มีจิตอาสาของคนรุ่นใหม่” เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมรับฟังการนำเสนอผลการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้มีจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ในมุมมองของ นปส. รุ่นที่ 80 ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่อง “การส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้มีจิตอาสาของคนรุ่นใหม่” มาร่วมกันหารือเพื่อค้นหาแนวทางในการส่งเสริมการมีจิตอาสาด้วยความคิดและประสบการณ์ที่หลากหลาย พร้อมทั้งได้ร่วมให้คำแนะนำ ให้ข้อคิดเกี่ยวกับหลักการของการเป็นผู้มี “จิตอาสา” ไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้สะท้อนความมุ่งมั่นตั้งใจของคนมหาดไทย ผู้ซึ่งมีองคาพยพในทุกพื้นที่ เริ่มตั้งแต่ ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นผู้นำของหมู่บ้าน กำนันที่เป็นผู้นำของตำบล นายอำเภอเป็นผู้นำของอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำของจังหวัด ที่ต้องบูรณาการหลอมรวมพลังแห่งความตั้งใจของส่วนราชการทุกหน่วยงานตลอดจนภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่รวมไปด้วย “ความรู้รักสามัคคี ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใสใจจริง ตามขนบธรรมเนียมความเป็นไทยตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ที่ทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล หรือเรียก “ทุกพื้นที่” เป็นพื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งน้ำใจไมตรีต่อกัน”

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สะท้อนผ่านพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาประชาราษฎรตลอดไป” ด้วยเพราะทรงปรารถนาที่จะเห็นพสกนิกรของพระองค์ท่านได้มีแต่ความสุขที่ยั่งยืน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราโชวาทที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ที่ทรงอยากให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งความสุข คือ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นหลักชัยในการน้อมนำมาปฏิบัติราชการของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการ หน่วยงานใด ก็มีเป้าหมายที่เดียวกัน คือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” อยากเห็นคนไทยรักกัน ช่วยเหลือกัน เพื่อสร้างสังคมไทยที่พึงปรารถนาให้เกิดขึ้น เหมือนเมื่อในอดีต โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน “โครงการจิตอาสาพระราชทาน” ขึ้น และทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่างให้กับข้าราชการบริพารนำไปสู่การบำเพ็ญประโยชน์พื้นที่ชุมชนโดยรอบพระราชวังดุสิตร่วมกับประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” จนเกิดกระแสนิยมของการเป็น “จิตอาสา” ในหมู่พี่น้องประชาชนคนไทย ขยายผลไปสู่ทุกพื้นที่ของประเทศ โดยคำว่า “จิตอาสา” นั้นหมายถึง จิตแห่งการให้ความดีงามทั้งปวงแก่เพื่อนมนุษย์โดยเต็มใจ โดยสมัครใจ เพื่อให้เกิดความอิ่มเอิบใจ ความซาบซึ้งใจ ความปีติสุขยินดี ด้วยพลังแห่งการเสียสละ ทั้งสละเวลา แรงกาย แรงสติปัญญา เพื่อสาธารณประโยชน์ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลใดใด ๆ ตอบแทน  และกลายเป็น “ความสุขที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น” จนเกิดเป็นนิสัย เป็นวิถีชีวิตที่ไม่นิ่งดูดายเมื่อเราพบเจอหรือเห็นปัญหาหรือความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นกับผู้คน ด้วยการแก้ไขในสิ่งผิด และเร่งทำความดีเพื่อเปลี่ยนหยดน้ำตาแห่งความทุกข์ทรมานให้กลายเป็นรอยยิ้มแห่งความสุข” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า การสร้างสังคมแห่งจิตอาสาในสังคมไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าขาด “ผู้นำ” และสังคมจิตอาสาจะเกิดขึ้นได้นั้น “ตัวผู้นำ” ต้องเป็นจิตอาสาเองเสียก่อน ซึ่งการเป็นผู้นำจิตอาสาง่าย ๆ คือ ต้องทำหน้าที่ของตนเองอย่างจริงจัง สมบูรณ์ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ  1) Routine Job หรืองานตามอำนาจหน้าที่ทั้งที่กฎหมายได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ รวมถึงแบบแผนปฏิบัติราชการ ธรรมเนียมปฏิบัติราชการ ที่จะต้องทำอย่างสมบูรณ์ตามกรอบที่กำหนด  2) Extra Job หรืองานนอกเหนือเพิ่มเติมจากงานในหน้าที่ ซึ่งการเป็นข้าราชการหรือเป็นผู้นำนั้น งานทุกงานคืองานราชการ เพราะการเป็นข้าราชการ หรือการเป็นผู้นำภาครัฐ เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่า งานไหนใช่หน้าที่หรือไม่ใช่หน้าที่ เพราะทุกงานย่อมหนีไม่พ้นจากปณิธานความมุ่งมั่นของข้าราชการทุกคน คือ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จิตอาสา” ที่ถือเป็น Extra Job ที่สำคัญของผู้นำทุกคน ที่จะต้องแสดงออกถึงการเป็นผู้เสียสละ แสดงออกด้วย “การกระทำ” ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ของคนโดยส่วนรวม โดยไม่คิดว่าเป็นงานนอกเหนือหน้าที่ หรืองานที่ไม่ใช่หน้าที่ และไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของระยะเวลา ว่าต้องทำเฉพาะในเวลาราชการ ทำเฉพาะตอนสวมเครื่องแบบสีกากี ทำเฉพาะตอนสวมเครื่องแบบจิตอาสา “ต้องทำทุกเวลา ทุกโอกาส ทุกวินาทีที่เรามีแรงปรารถนา หรือมีใจ มี Passion ของการอยากทำความดี” ซึ่งเมื่อเราทำสิ่งเหล่านี้อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง จนกลายเป็นวิถีชีวิตที่แทรกซึมเป็นอณูหนึ่งของเซลล์ในร่างกาย เป็น DNA ที่ฝังลึกไปถึงสุดขั้วของหัวใจ ประดุจดั่งเลือดที่สูบฉีดตลอดเวลา ด้วยความอยากที่จะทำแต่ประโยชน์เพื่อส่วนรวมแล้ว ก็จะส่งผลไปถึงหน้าที่ที่

และ 3) Report หรือการรายงานสร้างการรับรู้ไปสู่สังคม ไปสู่ลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา จากผลของการกระทำของตัวผู้นำเอง โดยไม่ต้องมีกระดาษรายงาน เพราะ “ผู้นำได้ทำให้ดูแล้ว” และเมื่อสังคมโดยรวม หรือผู้ใต้บังคับบัญชาได้เห็นสิ่งที่ผู้นำทำอย่างสม่ำเสมอ ทำอย่างมุ่งมั่น ทำอย่างที่พวกเขาไม่คิดว่าคนเป็นผู้นำจะทำ สุดท้าย “เขาก็จะทำตามในที่สุด” พร้อมบอกปากต่อปาก และร่วมกันทำ ทำจนไม่มีใครคนไหนในสำนักงานจะไม่เป็นจิตอาสา ก็เพราะผู้นำได้ทำ ผู้ตาม (ผู้ใต้บังคับบัญชา) ได้ทำ ประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ผู้มาขอรับบริการเห็น ก็จะชื่นอกชื่นใจ ยกย่องชมเชยข้าราชการ ว่าเป็นผู้มีจิตอาสา มีน้ำใจไมตรี ยิ้ม ไหว้ ทักทาย สวัสดี ขอบคุณ สำนักงานสะอาดสะอ้าน โอ่โถง หลังคา ฝ้าเพดานมีความสะอาด ไม่มีหยากไย่ ไม่มีฝุ่น เก้าอี้ โต๊ะทำงานมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย สนามหญ้าไม่มีวัชพืชหรือเศษขยะสร้างความสกปรกรกรุงรัง

ขณะเดียวกันก็จะเป็นส่วนสำคัญทำให้สังคมไทยได้กลับมาเป็นสังคมแห่งรอยยิ้ม สังคมแห่งความสุขด้วยพลังของคนไทย พลังของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่มี “ผู้นำ” เป็นผู้ริเริ่ม และสิ่งดี ๆ เหล่านี้ ก็จะแผ่ขยายผลไปสู่ในระดับพื้นที่ คือ “หมู่บ้าน” ที่เป็นจุดหมายปลายน้ำของความมุ่งมั่นตั้งใจของนักปกครองระดับสูง นักบริหารระดับสูง ตลอดจนข้าราชการทุกคน ด้วยการน้อมนำพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ได้พระราชทานแนวพระดำริ “Sustainable City” สู่การขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ด้วยทรงมีพระปณิธานที่มุ่งมั้นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทำให้พสกนิกรของพระองค์มีความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญของ “หมู่บ้านยั่งยืน” คือ การสร้างสังคมแห่งความรัก ความสามัคคีของสมาชิกในหมู่บ้านผ่านการขับเคลื่อน “กิจกรรม” ร่วมกันตั้งแต่ในครัวเรือน

พร้อมน้อมนำพระราชดำริด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” การร่วมกันบริหารจัดการขยะในหมู่บ้านเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ ครัวเรือน ให้สมาชิกในครัวเรือนเป็นมนุษย์ 3ช (3Rs) คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) หรือนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ทั้งการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การคัดแยกขยะเพื่อนำไปจำหน่ายและนำรายได้มาเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ไป มา ลา ไหว้ เคารพนบนอบต่อผู้อาวุโสกว่า เมตตาปราณีรักใคร่เอ็นดูลูกหลานหรือผู้อาวุโสน้อยกว่า และการแบ่งกลุ่มบ้าน หย่อมบ้าน คุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน ให้รวมกลุ่มครัวเรือนขนาดย่อมเพื่อช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้สังคมของหมู่บ้านเป็นสังคมที่ปลอดภัย สังคมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเจือจุน บ้านเรือนสะอาด ปลูกต้นไม้ร่มรื่น มีกินมีใช้ มีเหลือก็แบ่งปัน อยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เกื้อกูลกันและกันของชุมชน เมื่อมีแขกมาเยือนก็ต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต เดินไปไหนมาไหนเจ้าของบ้านต่างยิ้มแย้มยินดี และประการที่สำคัญที่สุด คือ การส่งต่อสิ่งดี ๆ เหล่านี้ไปสู่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ นั่นคือ “ลูก ๆ หลาน ๆ ของพวกเราทุกคน” ทั้งลูกหลานโดยสายโลหิต หรือลูกหลานของสมาชิกในหมู่บ้าน รวมไปถึงลูกเด็กเล็กแดงที่เราพบเห็นพบเจอ เมื่อเขาได้เห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลุงผู้ใหญ่บ้าน ป้ากำนันได้ทำ พวกเขาก็จะซึมซับ และถูกหล่อหลอมให้ใช้ชีวิตเฉกเช่นที่ผู้ใหญ่ได้ทำให้เห็น ได้ทำให้ดู แล้วสังคมในหมู่บ้านก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความสุขที่ยั่งยืน” ซึ่งเมื่อ “ทุกหมู่บ้าน” ใน 878 อำเภอทั่วประเทศ ภายใต้การนำของท่านนายอำเภอ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการในทุกสังกัดกระทรวง ทบวง กรม จะส่งผลให้ “ประเทศชาติมั่นคง” ในที่สุด

นาย สุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย“ว่าถึงเวลาแล้วที่ผู้เข้ารับการศึกษาอบรมนักปกครองระดับสูง (นปส.) รุ่นที่ 80 จะต้องลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ด้วยการเริ่มต้นเป็น “จิตอาสา” เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบให้กับข้าราชการผู้ใต้บังคับบัญชา และเน้นย้ำกำชับให้ข้าราชการทุกคน ได้หมั่นลงพื้นที่เข้าไปหา เข้าไปเยี่ยมเยียน เข้าไปพบปะ ติดตามถามไถ่ พูดคุย สนทนาพาทีกับพี่น้องประชาชน กับชาวบ้านในทุกหมู่บ้าน ในทุกตำบล ภายใต้การนำของ “ท่านนายอำเภอ” และปลัดอำเภอประจำตำบล เป็นเหมือนรวงข้าวสุกที่โน้มเข้าหาประชาชน เห็นพี่น้องประชาชนญาติมิตร เป็นเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ เป็นผู้ที่เราต้องช่วยกันบ่มเพาะให้เขาเป็นผู้เห็นประโยชน์ของส่วนรวมของส่วนตน เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเป็นจิตอาสา ไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง เพื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด “แต่เพื่อให้เราสามารถมีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย สามารถยืนอยู่ด้วยลำแข้งตัวเองได้หรือสามารถพึ่งพาตนเองได้ที่ต้อง “เริ่มต้นจากผู้นำ” เพื่อจะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”