ปลัด มท.ร่วมเสวนา “การบริหารการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน” ในงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1

ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเสวนา “การบริหารการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน” ในงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ครั้งที่ 1 พร้อมเน้นย้ำ น้อมนำแนวพระราชดำริ ช่วยกันแก้ไขในสิ่งที่ผิด เพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

วันนี้ (25 ก.ค. 66) เวลา 09:00 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเสวนา หัวข้อ “การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมอย่างยั่งยืน” ในงานสมัชชาการจัดการสาธารณภัยระดับชาติ ภายใต้แนวคิด “ลดความเสี่ยงเดิม ป้องกันความเสี่ยงใหม่ เสริมสร้างหุ้นส่วนการจัดการจากภัย เพื่อสังคมไทยปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมเวทีเสวนา โดยมี นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายรัฐพล นราดิศร นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัฐ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร หน่วยงานด้านการจัดการภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องทั้งของภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อมวลชน ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริทั้งปวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ความว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานพระราชปณิธาน ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สะท้อนผ่านแนวทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ คู คลอง เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้มีแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค นำมาซึ่งความสุขที่ยั่งยืน และเมื่อประชาชนมีความสุข ประเทศชาติก็จะมั่นคง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำแนวพระราชดำริดังกล่าว มาเป็นแนวทางสู่โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ คู คลอง ในทุกจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเตือนคนไทยในเรื่องการจัดการน้ำมาตลอดระยะเวลาทรงงานตลอด 70 ปี เพราะทรงเล็งเห็นว่า “น้ำคือชีวิต” และประเทศไทยก็ประสบปัญหาด้านน้ำที่เป็นปัญหาซ้ำซากอยู่ 3 ปัญหา คือ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง และปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งพระองค์ได้ทรงเตือนให้พวกเราได้แก้ปัญหาแบบองค์รวม เนื่องจากเราจะคุ้นชินกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ เมื่อน้ำท่วมเราเร่งระบายน้ำ แต่พอน้ำแล้ง เราก็ไม่มีน้ำใช้ ดังนั้น จึงต้องหาที่อยู่ให้น้ำ เพื่อเราก็จะได้ประโยชน์ 2 ต่อ คือ เมื่อน้ำเยอะเรามีที่พักน้ำ และเมื่อน้ำน้อย เรามีน้ำสำรองไว้ใช้ จึงได้พระราชทานแนวทางโครงการในพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำทั้งระบบ ที่บูรณาการการพัฒนา ดิน น้ำ ป่า คน อาชีพ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่พี่น้องประชาชน เป็นตัวอย่างมากมาย อาทิ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทั้ง 6 ภูมิภาคของประเทศ เช่น ศูนย์ฯห้วยฮ่องไคร้ เป็นตัวแทนของการพัฒนาพื้นที่ในระบบลุ่มน้ำในบริบทของภูมิสังคมภาคเหนือ ศูนย์ฯภูพาน ฯ เป็นตัวแทนของการพัฒนาพื้นที่ในระบบลุ่มน้ำในบริบทของภูมิสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการแก้มลิง โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของหลักทฤษฎีใหม่ในการบริหารจัดการพื้นที่การเกษตรขนาดเล็กออกเป็น 4 ส่วน คือ 30:30:30:10 โดยให้ความสำคัญกับ 30 แรก คือพื้นที่ต้องมีแหล่งน้ำ เพราะน้ำคือชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับที่ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรมที่ต้องบริหารจัดการพื้นที่ภายใต้หลักอารยเกษตร และหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในยามแล้ง ซึ่งโครงการพระราชดำริเหล่านี้ล้วนเกิดจากการที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินลงพื้นที่ไปทรงงาน ไปหาความจริง เพื่อทรงศึกษาเรียนรู้ สืบค้นหาแนวทางในการดับทุกข์ให้กับราษฎรตามหลัก “อริยสัจ 4″ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จึงทำให้เกิดเป็นภาพที่พระองค์ท่านประทับนั่งพบปะพูดคุยกับชาวบ้าน พระศอทรงคล้องกล้องถ่ายรูป พระหัตถ์ทรงถือแผนที่และดินสอ รวมถึงทุกภาพที่พระองค์ท่านเสด็จฯ ไป เป็นที่ตราตรึงใจของพสกนิกรไทย เป็นรูปที่มีทุกบ้านตราบถึงปัจจุบัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที” เป็นองค์ความรู้ด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ได้สะท้อนแนวทางด้านการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ คือ การที่พวกเราต้องรื้อฟื้นการทำให้คนอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุลตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้กลับมา เริ่มตั้งแต่การกำหนดผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ ทั้งพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ชนบท พื้นที่กึ่งชนบท พื้นที่เมือง พื้นที่น้ำหลาก หรือพื้นที่สีเขียวที่ต้องมีไม้ยืนต้น ทุ่งนาต้องมีหัวคันนาทองคำ เพื่อกักเก็บน้ำ ตลอดจนมีต้นไม้ที่เป็นทั้งร่มเงา ที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งอาหาร ประกอบด้วย ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง หรือป่า 5 ระดับตามศาสตร์พระราชา ซึ่งไม้ยืนต้นที่รวมกันเป็นป่าจะส่งผลโดยตรงต่อความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ นำไปสู่การเกิดฝน ซึ่งมีหลักการเดียวกับฝนหลวง ดังนั้น คำว่า “ทฤษฎีใหม่” ไม่ได้มีแค่โคก หนอง นา แต่คือโครงการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์ พัฒนาอาชีพ วิถีชีวิต ซึ่งทั้งหมดมุ่งไปสู่เป้าหมายความยั่งยืน ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – Social Map) เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนได้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค ในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน
.
“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำให้ประชาชนมีความสุขได้ คือ เราต้องช่วยกันแก้ไขในสิ่งผิด ดังนั้นการขับเคลื่อนงานในด้านการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ตามนโยบายการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของภาคีภาคส่วนต่างๆทั้ง 7 ภาคี โดยภาครัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ผลักดันและดำเนินนโยบายการบริหารจัดการน้ำในระบบลุ่มน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างเหมาะสมกับภูมิสังคมของพื้นที่ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อให้ทุกคนมีความตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ให้เกิดการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนคนไทย สร้างชีวิตให้มีความมั่นคง ครอบครัวมีความมั่งคั่ง ชุมชนมีความยั่งยืนและมีความสุข ยังผลให้ประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า หัวใจของการจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริอย่างยั่งยืน คือ การคุยกับชาวบ้าน ด้วยภาษาชาวบ้าน หรือ “ภาษาคน” คือพูดให้คนทั่วไปรู้เรื่องควบคู่การใช้ภาษาถิ่น เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ และต้องรู้ภาษาเทคนิคที่สากลเข้าใจได้ ดังนั้นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้เริ่มศึกษาวิธีของบรรพบุรุษด้วยความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้รู้สาเหตุของการเกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง ที่ประเทศไทยเผชิญในทุกปี ซึ่งบรรพบุรุษของเราในอดีต ล้วนมีวิธีการภูมิปัญญาของชาวบ้านเพื่อทำให้เกิดฝน อาทิ ประเพณีบุญบั้งไฟ ที่อาศัยปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้เกิดการระเบิดควบแน่นท้องฟ้า เกิดความชื้นสัมพัทธ์ ตามหลักการเลี้ยงเมฆให้อ้วนแล้วโจมตี เช่นเดียวกับโครงการฝนหลวง ที่ได้รับการยอมรับ จนได้รับการทูลเกล้าฯถวายรางวัลยกย่องเชิดชูจากนานาชาติว่าพระองค์ท่านทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลก หัวใจสำคัญประการถัดมา คือการระมัดระวังในการดำเนินนโยบาย โดยเราต้องมองแบบนก (Bird eye view) เริ่มตั้งแต่การจัดการต้นน้ำ การกักเก็บน้ำ ใช้พื้นที่ของประชาชนโดยทำเป็นคันนา สำหรับการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งนอกจากจะเก็บน้ำแล้ว จะทำให้มีน้ำที่ไหลซึมลงใต้ดิน เป็นธนาคารน้ำใต้ดิน ดินไม่สูญเสียน้ำ ทำให้ไม่เกิดภัยแล้ง ซึ่งเป็นอีกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย สอดคล้องกับ หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อันมีหลักประกันสำคัญคือ “การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” ด้วยการทำให้ชาวบ้านรวมพลังกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับตนเองและชุมชน ที่เป็นหลักสำคัญของโครงการพระราชดำริกว่า 4,741 โครงการ แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน จนกระทั่ง UNDP ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Life Time Achievement Award) ในปี 2549

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สนทช. กล่าวว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ของ สนทช. ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์กับสภาพภูมิอากาศของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง Climate Change และภาวะโรคระบาดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก ควบคู่กับการขับเคลื่อนตามแนวทาง Nature Based Solution เพื่อให้มนุษย์ทุกคนได้ปรับตัวตามเงื่อนไขสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาภัยแล้ง จากปรากฏการณ์เอลนีโญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ หรือจากฟ้าสู่มหานที ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานโครงการฝนหลวง เพื่อฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับป่าต้นน้ำ การป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็ม และการจัดการน้ำเสียของครัวเรือนและชุมชน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในชุมชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาสอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ซึ่งจากการผลการประเมินขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (Noaa) ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ จะทำให้ทั่วโลกมีปริมาณฝนลดลงกว่า 40% และมีโอกาสสูงที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงและมีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ทาง สนทช. ได้เตรียมแผนการจัดการน้ำ และได้มีมาตรการเตรียมความพร้อมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำประจำจังหวัด จึงเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มแข็ง ทั้งการบริหารจัดการน้ำในเขื่อน โดยนำน้ำจากเขื่อนที่มีน้ำมากมาสู่เขื่อนที่มีน้ำน้อย หรือการกักเก็บน้ำโดยทำให้มีน้ำใต้ดิน เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการดำเนินการตามรอยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพราะพระองค์ท่านเป็นปราชญ์ในด้านการบริหารจัดการน้ำจากฟ้าสู่ดิน และทำให้ชุมชนมีความสำคัญ เป็นไปตามแผนแม่บท ด้านที่ 5 การขับเคลื่อนในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมโยธาธิการและผังเมือง มีหน้าที่หลักในการดูแลความปลอดภัยในด้านอาคารสิ่งก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินในด้านผังเมือง เพื่อให้ประชาชนทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมในการนำแผนการจัดทำผังน้ำชุมชน ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ขยายผลไปสู่ผังภูมิสังคม (Geo-Social Map) โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริ ซึ่งกระทรวงมหาดไทย มีพันธกิจสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และบรรเทาความเดือนร้อนของพี่น้องประชาชน นับเป็นสิ่งที่เรารีรอไม่ได้ กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้นำแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการน้ำและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามข้อสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทย มาขับเคลื่อนสู่การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่