ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำพุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญกุศลครบรอบ 56 ปี วิถีพรต เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีรญาณมุนี

“56 ปี วิถีพรต สมเด็จพระมหาธีรญาณมุนี” ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำพุทธศาสนิกชนร่วมบำเพ็ญกุศลครบรอบ 56 ปี วิถีพรต เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีรญาณมุนี (วรชายมหาเถร) กรรมการมหาเถรสมาคม ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1 – 2 – 3 (ธ) และภาค 12 – 13 (ธ) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วถวายมุทิตาสักการะเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีรญาณมุนี เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีรญาณมุนี ถวายสักการะประธานสงฆ์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำพุทธศาสนิกชนถวายจตุปัจจัยไทยธรรม กรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้น เป็นการประกอบพิธีฉลองฐานานุกรมที่ พระครูปลัดสัมพิพัฒนญาณาจารย์ (ธรรมธัช ญาณทฺธโช) และฉลองเปรียญธรรม 9 ประโยค พระมหาศุภเดช สุภเตโช โดยได้รับเมตตาจากพระมหาเถระรับทักษิณานุปทาน และเจริญพระพุทธมนต์

เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี มอบคำปรารภ หัวข้อ “56 พรรษาปรารภ” ความว่า วิถีพรตของข้าพเจ้าลุล่วงมาถึง 56 ปีแล้ว โดยเฉลี่ยการประกอบอาชีพการงานของฆราวาสทั่วไป มักมีเวลาอย่างมากไม่เกิน 40 ปี ถ้านับแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 20 ปี แล้วไปเกษียณอายุการทำงานตอนอายุ 60 ปี ก็ตกค่าเฉลี่ยได้ราว 4 ทศวรรษเป็นประมาณ แต่สำหรับสมณะในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อได้รับบรรพชาอุปสมบท เป็นอุปสัมบันแล้ว บทบาทหน้าที่ของการบำเพ็ญพรต เป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย ย่อมต้องดำเนินสืบไปตราบเท่าที่ดำรงในสมณเพศ จนถึงวันสุดท้ายที่ลาสิกขาหรือกระทำกาลกิริยาจากโลกนี้ไป หน้าที่สำคัญที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โปรดประทานไว้ให้แก่พระภิกษุทุกรูป ย่อมได้แก่การเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ให้ดำรงมั่นและขจรขจายไพศาลไปเป็นหลักใจของชาวโลก ดังพระพุทธบรรหารที่ว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก”

“ตลอดเวลา 56 ปีวิถีพรต ข้าพเจ้าจึงได้สู้อุตส่าห์พยายามทำงานสนองพระคุณพระพุทธศาสนาด้วยการสรรค์สร้างศาสนทายาท ประกาศศาสนธรรม และอุปถัมภ์ศาสนวัตถุ เพื่อให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่คนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลกให้ได้มากที่สุด ครั้นยิ่งวันยิ่งผันผ่านไป ก็ทำให้ยิ่งต้องรีบเร่งขวนขวายประกอบกุศลกิจ และชักชวนญาติมิตรมาร่วมทางบำเพ็ญกุศลกันต่อไปตราบถึงจุดหมายปลายทางที่สมเด็จพระบรมศาสดาประทานมรรควิธีไว้ ก็เพราะร่มโพธิ์ไทรในพระพุทธศาสนา นับแต่คุณพระรัตนตรัยเป็นปฐม ตลอดถึงบูรพาจารย์ คุณของพระอารามและอารามที่พึ่งพำนัก พระบารมีของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้ทรงเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ความเมตตาปรานีของพระมหาเถระและพระเถระ น้ำใจไมตรีของเพื่อนสหธรรมิก รวมทั้งการอุปถัมภ์ก็บำรุงจากญาติโยมนั้นเอง คือ เครื่องดลบันดาลความร่มเย็นเป็นผาสุกในวิถีพรตของข้าพเจ้ามาตลอดทางอันเนิ่นนานใกล้ถึง 6 ทศวรรษ ซึ่งมีบูรพาจารย์ของข้าพเจ้าพระองค์หนึ่ง ที่ข้าพเจ้าเชิดชูบูชาเป็นเนติแบบแผนแห่งชีวิต คือ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ (วาสนมหาเถร) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ยุคที่ 4 สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งข้าพเจ้าได้รับพระเมตตาการุญปกเศียรคุ้มเกล้าในฐานะอยู่ใต้บังคับบัญชาของพระองค์มานับแต่ข้าพเจ้ายังเป็นพระผู้น้อย ได้เฝ้าคอยสังเกตพระจริยาอันสงบสง่า เยือกเย็น กอปรด้วยพระสุขุมธรรมคัมภีรญาณ เป็นหลักชัยในการคณะสงฆ์ ทรงเป็นปราชญ์ในทางรจนา สามารถเผยแผ่พระพุทธธรรมด้วยนานาพระนิพนธ์อันทรงคุณค่า” เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปรารภ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เจ้าสมเด็จพระธีรญาณมุนี (วรชายมหาเถร) มีนามเดิมว่า สมชาย พุกพุ่มพวง เกิดเมื่อวันพุธที่ 22 ตุลาคม 2490 ภูมิลำเนาเดิม จังหวัดนครปฐม บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดท่าตำหนัก ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมีพระวินัยวงศาจารย์ (นาค อิสินาโค) เจ้าอาวาสวัดท่าตำหนัก เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2501 ต่อมาได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยมีพระธรรมธัชมุนี (เอื้อน ชินทตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยวงศาจารย์ (นาค อิสินาโค) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิมลญาณโสภณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ สำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมนักธรรมชั้นเอก และในปี พ.ศ. 2516 สอบได้เปรียญธรรม 8 ประโยค โดยในด้านงานปกครองคณะสงฆ์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 1 – 2 – 3 (ธ) และภาค 12 – 13 (ธ) และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

“เจ้าประคุณสมเด็จพระธีรญาณมุนี ได้บำเพ็ญสาธารณกุศลและสาธารณสงเคราะห์ไว้หลายประการ อาทิ การบูรณะถาวรวัตถุและเสนาสนะต่าง ๆ ของวัดเทพศิรินทราวาส และพระอาราม อารามต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก สนับสนุนส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เป็นผู้นำจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจที่ยากไร้และขาดโอกาสเข้าถึงยา โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้อุปถัมภ์ทุนการศึกษามูลนิธิเพื่อการศึกษา 6 รอบ สมเด็จพระธีรญาณมุนี (วรชายเถร) เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการวัดพุทธดัลลัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้อุปถัมภ์โครงการเพชรยอดมงกุฎ และเป็นประธานกรรมการบริหาร สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต) เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม