โครงการกำจัดวัชพืชลำห้วยคะคาง และขุดลอกลำน้ำกุดหูลิง

 

วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.30 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เปิดโครงการกำจัดวัชพืชลำห้วยคะคาง และขุดลอกลำน้ำกุดหูลิงบริเวณวัดป่าวังน้ำเย็น ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ภายใต้แผนงานการพัฒนา ตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map)   นำโดย นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมด้วยจิตอาสาพระราชทาน อาสาสมัคร ผู้นำชุมชน ร่วมกิจกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ ผู้นำชุมชน องค์กรภาคเอกชน ส่วนราชการ  ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดี Change for Good

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ผังภูมิสังคม เป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยา ซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้ คือ หลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการ  ที่หน่วยงานภาครัฐ เข้าไปแนะนำเข้าไปช่วยอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ แล้วให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดช่วยกันดูว่าต้องการอะไรจริงๆ และให้เขาเขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืน เนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม และได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบนโยบายให้ส่วนราชการ มีการวางแผนการพัฒนาพื้นที่เป็นแบบแผนเดียวกัน (ONE PLAN) โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง  จังหวัดมหาสารคามร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดทำผังภูมิสังคม ระดับตำบลและระดับหมู่บ้าน ครบทั้ง 133 ตำบล 13 อำเภอแล้วเสร็จ และผ่านการประชุมคณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด จำแนกประเภทและขนาดโครงการ ออกมาเป็นขนาด S,M,L และ XL และจากการเสนอชี้เป้าโครงการ/กิจกรรมขนาด S ที่จะดำเนินการเป็นโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนตามผังภูมิสังคมฯ จังหวัดได้พิจารณาให้ตำบล/อำเภอ ดำเนินการในรูปแบบจิตอาสา โดยให้ทุกพื้นที่ตำบลดำเนินการพร้อมกัน  ซึ่งจังหวัดมหาสารคาม ได้กำหนดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นวัน Kick Off ปูพรมจัดโครงการนำร่องทุกพื้นที่ทั่วจังหวัด จำนวน 133 โครงการนำร่อง รวมทั้ง “โครงการกำจัดวัชพืชลำห้วยคะคาง และขุดลอกลำน้ำกุดหูลิง บริเวณวัดป่าวังน้ำเย็น ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม” เป็นอีกหนึ่งโครงการนำร่อง ประกอบด้วย กิจกรรมการกำจัดวัชพืชและผักตบชวาลำห้วยคะคาง บริเวณวัดป่าวังน้ำเย็น ความกว้างลำห้วยประมาณ 30 เมตร ยาว 200 เมตร ปริมาตรผักตบชวาประมาณ 20 ตัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำสำหรับการรับมือในฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีการนำวัชพืชและผักตบชวาไปใช้ประโยชน์โดยให้องค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้งนำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก เพื่อส่งเสริมประชาชนปลูกพืชผักสวนครัวต่อไป      และกิจกรรมขุดลอกลำน้ำกุดหูลิง บริเวณวัดป่าวังน้ำเย็น พื้นที่แหล่งน้ำประมาณ 27 ไร่ ปริมาตรดินที่ขุด จำนวน 103,000 คิว เพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำสำหรับการรับมือในฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีการนำดิน ไปใช้ประโยชน์เพื่อทำถนนขนาด 6 เมตร เป็นพนังกั้นน้ำรอบกุดหูลิง วางท่อคลองส่งน้ำริมห้วยคะคาง ทางเข้าวัดป่าวังน้ำเย็น ระยะทางประมาณ 200 เมตร และถมที่ลานจอดรถบริเวณด้านหน้าวดป่าวังน้ำเย็น ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีศักยภาพในการธำรงรักษาความเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนาและมีสิ่งปลูกสร้าง เจดีย์ศรีมหาสารคามองค์ใหญ่สีทองงดงาม รวมถึงศาลาการเปรียญไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยการใช้ เสาไม้ถึง 112 ต้น ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างจากทองคำบริสุทธิ์ 3 องค์ น้ำหนักกว่า 12 กิโลกรัม

ซึ่งการปูพรมจัดโครงการนำร่องทุกพื้นที่ทั่วจังหวัด จำนวน 133 โครงการนำร่องล้วนได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่ที่สามารถใช้แรงงานในการดำเนินการเองได้ โดยไม่ขอรับการสนับสนุน  งบประมาณจากภาครัฐ และมีภาคเอกชนยินดีสนับสนุนวัสดุและเครื่องจักรกล ในการดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาเป็นการดำเนินงานซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ภาคีเครือข่าย คณะกรรมการจัดทำผังภูมิสังคมฯ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ระดับตำบล และระดับหมู่บ้าน จิตอาสาพระราชทาน ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการนำร่อง และตัวอย่างที่ดี ในพื้นที่อื่นที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป