พช. เปิดตลาด ปั้นงาน D sign D style ยกระดับ OTOP

พช. เปิดตลาด ปั้นงาน D sign D style ยกระดับ OTOP กลุ่มของใช้ ดึง Soft Power สร้างจุดแข็ง

            ผลิตภัณฑ์ OTOP นั้นเป็นที่รู้จักและมีจุดเด่นด้านการนำศักยภาพของท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ชุมชน มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ แต่บางครั้งยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาสินค้า ทั้งในแง่การสร้างแบรนด์ สร้างความแตกต่าง และตรงกับความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอย่างแท้จริง

            กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีภารกิจสำคัญในการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP จึงจัดกิจกรรมทดสอบตลาด (ออฟไลน์) นำผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา (Quadrant D) ตามกลุ่มคลัสเตอร์ประเภทของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึกมาร่วมออกร้านจำหน่าย ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการ OTOP จะได้พบปะพูดคุยกับผู้ซื้อโดยตรง เพื่อพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยิ่งขึ้น

นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) โดยส่งเสริมการลงทะเบียนผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจำนวนผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 97,761 กลุ่ม/ราย และมีผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 220,788 ผลิตภัณฑ์

ในจำนวนนี้แยกเป็นผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา Quadrant D จำนวน 178,157 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ยังมีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ รูปแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่สวยงามโดดเด่น หรือยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาด

ขณะเดียวกัน ผลิตผู้ประกอบการ OTOP ยังขาดองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพื่อเป็นการการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา หรือที่เรียกว่า Quadrant D ประเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก ประกอบด้วย สินค้าที่ทำมาจากไม้ สินค้าที่ทำจากโลหะเป็นหลัก สินค้าจักสาน ถักทอ ดอกไม้ประดิษฐ์ เซรามิค เครื่องปั้นดินเผา เคหะสิ่งทอ และอื่น ๆ

กรมการพัฒนาชุมชนโดยสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา Quadrant D ให้มีคุณภาพมาตรฐานตามกลุ่มคลัสเตอร์ ขึ้น โดยมีการคัดเลือกผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ที่มีความโดดเด่น น่าสนใจ จำนวน 40 ผลิตภัณฑ์ จากทั้งหมด 369 ราย/กลุ่ม มาจัดแสดงและจำหน่ายที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล บางนา ตั้งแต่ วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างครบวงจรตั้งแต่ กระบวนการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ อบรมให้ความรู้โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตอบโจทย์และตรงใจกลุ่มลูกค้าในปัจจุบัน ตลอดจนการส่งเสริมการขายทั้งตลาดออฟไลน์และออนไลน์เพื่อขยายฐานลูกค้า ให้สามารถเข้าถึงได้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

 

นายอรรษิษฐ์ เปิดเผยว่า กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์โดดเด่น มีโอกาสเข้าสู่ช่องทางการตลาดที่หลากหลายที่ผ่านกระบวนการดำเนินการของโครงการตามเกณฑ์กำหนด เราได้นำมาจัดกิจกรรมทดสอบตลาดในงาน “D Sign D Style” นี้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการได้พูดคุย เจรจา พบปะกับผู้ซื้อ มีการซื้อขายและแลกเปลี่ยนมุมมองความต้องการที่แท้จริงจากกลุ่มผู้ซื้อสินค้าโดยตรง เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพตรงใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และในอนาคตจะมีกิจกรรมทดสอบตลาด อีก 3 ประเภท ได้แก่  ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร , ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย และประเภทอาหารและเครื่องดื่ม ต่อไป