เมืองสองแควบูรณาการทีมขับเคลื่อนกิจกรรม “เจริญสามัคคีรสธรรม-ปลูกผักแปลงผักชุมชน-คนหัวรอ” ขยายผลน้อมนำแนวพระราชดำริ

เมืองสองแควบูรณาการทีมขับเคลื่อนกิจกรรม “เจริญสามัคคีรสธรรม-ปลูกผักแปลงผักชุมชน-คนหัวรอ” ขยายผลน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

วันนี้ (14 ก.ค. 66) นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลกมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมให้เกิดกลไกการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน ด้วยปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิตประจำวัน นั่นคือ ปัจจัย 4 อันประกอบด้วย อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ซึ่งทั้ง 4 ประการนี้ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่มีความเกื้อกูลเกื้อหนุนเชื่อมโยงกัน นำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของพี่น้องประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการน้อมนำพระราชดำริด้านการสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาต่อยอดส่งเสริมขยายผล ด้วยแนวทางพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่มีจุดเริ่มต้นจากบ้านวังส้มซ่า ต้นแบบการส่งเสริมพลังบทบาทของภาคีเครือข่ายที่สามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้อยู่ดีมีสุข มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

“โดยล่าสุด จังหวัดพิษณุโลกได้จัดกิจกรรมเจริญสามัคคีรสธรรม-ปลูกผักแปลงผักชุมชน-คนหัวรอ น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” โดยมี นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นายนิสิต สวัสดิเทพ ปลัดจังหวัดพิษณุโลก นายมนัส เสียงก้อง เกษตรจังหวัดพิษณุโลก นายอัครโชค สุวรรณทอง นายอำเภอเมืองพิษณุโลก นายขวัญทอง สอนศิริ (อ.โจ้) ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ปลัดเทศบาลตำบลหัวรอ พัฒนาการอำเภอเมืองพิษณุโลก นางปิ่นเพชร พูลสวัสดิ์ กำนันตำบลหัวรอ หัวหน้าส่วนราชการเทศบาลตำบลหัวรอ ภาคีเครือข่ายผู้นำนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลง D-CAST อำเภอเมืองพิษณุโลก พร้อมด้วยผู้บริหาร ผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนา และเสริมสร้างบุคลากรกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูง (MOI SMART Agent for CAST) และตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์เรียนรู้สู่พอเพียง หมู่ที่ 3 ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า จังหวัดพิษณุโลกให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนตามพันธกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย คือการ ”บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับพี่น้องประชาชนทุกพื้นที่ให้มีความสุขที่ยั่งยืน ซึ่งแนวคิด Change for Good เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ “ผู้นำต้องทำก่อน” ด้วย “Passion” ที่มุ่งมั่นตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ผ่านการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เกิดขึ้น และกระทรวงมหาดไทยยังมุ่งเน้นให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ สร้างทีมงานทุกระดับในพื้นที่ ได้แก่ ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน ซึ่งในทีมงานแต่ละระดับจะต้องมีทีมงานคู่ขนาน ทั้งทีมงานที่เป็นทางการตามกฎหมาย เช่น คณะกรมการจังหวัด คณะกรรมการอำเภอ คณะกรรมการตำบล คณะกรรมการหมู่บ้าน และทีมงานที่ไม่เป็นทางการหรือทีมงานจิตอาสา ประกอบไปด้วย 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา ภาควิชาการ และภาคสื่อสารมวลชน โดยทุกภาคส่วนมาร่วมกันขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้รับรู้ มีส่วนร่วมและเกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมที่จะเป็นผู้นำการขับเคลื่อนมาสู่พื้นที่ และพร้อมที่จะ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน ซึ่งนำมาสู่การทำงานที่มาจากการร่วมมือกันของทุกฝ่ายในพื้นที่ สร้างการพัฒนาร่วมกัน ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีของการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต่ออีกว่า กิจกรรมเจริญสามัคคีรสธรรม-ปลูกผักแปลงผักชุมชน-คนหัวรอ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ช่วยสร้างความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน สร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในตำบล ทำให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อยอดไปสู่การนำไปขาย เป็นการสร้างรายได้ลดรายจ่าย ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในตำบลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และในการนี้ตนพร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ปลัดจังหวัดพิษณุโลก เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ร่วมมอบพันธุ์ผักให้กับผู้ใหญ่บ้านทั้ง 12 หมู่บ้าน และร่วมปลูกต้นมะเขือเปราะ พันธุ์เจ้าพระยา ซึ่งตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านจะทำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ในการแข่งขันกัน เตรียมดิน แปลงปลูก แข่งขันการปลูกพืชผักสวนครัว ดูแลแปลงสวนผักชุมชนของตนเอง ทั้ง 12 หมู่บ้าน ของตำบลหัวรอ จนกระทั่งในราว 45 วัน มะเขือเปราะออกผล (ลูก) แต่ละหมู่จึงเก็บลูกมะเขือเปราะ แล้วนำส่งให้กรรมการกลางที่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านได้เชิญมาร่วมเป็นสักขีพยานในการตรวจ ซึ่งคณะกรรมการกลางที่ตรวจมีข้าราชครูเกษตรอาวุโสในชุมชนตำบลหัวรอ ร่วมเป็นกรรมการและบันทึกผลการตรวจนับ จำนวนลูก และน้ำหนักมะเขือเปราะในแต่ละครั้งของการเก็บผลผลิต เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินโดยชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลหัวรอจะได้นำผลมะเขือเปราะที่เก็บได้ส่งจำหน่ายให้กับบริษัทประชารัฐสามัคคีพิษณุโลก เป็นรายได้เสริมให้แก่สมาชิกชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านทั้ง 12 หมู่ที่ร่วมกิจกรรมเจริญสามัคคีรสธรรมฯ ในครั้งนี้อีกวิถีทางหนึ่งด้วย เมื่อมีการเก็บผลผลิตจากแปลงมะเขือเปราะชุมชนจนครบถ้วนแล้ว จึงมีการตัดสินแปลงผักมะเขือเปราะชุมชนดีเด่นรับรางวัล และเงินกองทุนสวัสดิการพัฒนาหมู่บ้านชุมชนต่อไป

นางปิ่นเพชร พูลสวัสดิ์ กำนันตำบลหัวรอ กล่าวว่า ผักที่ชาวบ้านในชุมชนทั้ง 12 หมู่บ้าน อาทิ ฟักทอง มะระ แค ตะไคร้ สาระแหน่ มะละกอ มะเขือยาว มะเขือส้ม ผักบุ้ง พริก กะเพรา โหระพา ผักชีใบเลื่อย มะนาว มะกรูด กล้วย อ้อย ต้นอัญชัน ต้นเตย ต้นยอ เป็นต้น ซึ่งสมาชิกชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน และชาวบ้าน ที่ร่วมกันดูแลแปลงผักชุมชน สามารถมาเก็บไปบริโภคในครัวเรือนได้ตลอดปี ตลอดจนมีการปลูกไม้ประดับ ไม้ใบกระถาง สำหรับใช้ประดับในงานบุญ งานกิจกรรมชุมชน และขยายพันธุ์เป็นต้นกล้า จำหน่ายให้กับผู้สนใจอีกด้วย รวมทั้งการปลูกพืชสมุนไพรพื้นบ้าน และไม้มงคลสำหรับใช้ในงานบุญพิธีในวิถีไทย อาทิ ต้นส้มป่อย ต้นใบเงิน ใบทอง ใบนาค ธรณีสาร เป็นต้น ร่วมทั้งมีการเลี้ยงเป็ดไข่สำหรับใช้บริโภค และแปลงนาสาธิต ภายในศูนย์การเรียนรู้สู่วิถีพอเพียงตำบลหัวรอ ซึ่งเป็นพื้นส่วนบุคคลที่อนุญาตให้ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านตำบลหัวรอใช้พื้นที่ในการจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ ฯ และแปลงสวนผักชุมชนในครั้งนี้ พร้อมทั้งมีผู้รับผิดชอบดูแลตลอดทั้งฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี และเมื่อได้ผลผลิตก็จะมีบริษัทประชารัฐสามัคคีพิษณุโลก จำกัด มารับซื้อเพื่อนำไปประกอบอาหารให้กับผู้ป่วยโรงพยาบาลพุทธชินราช ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมบุญกันอีกด้วย

ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวในช่วงท้ายว่า เมื่อแล้วเสร็จจากกิจกรรมเจริญสามัคคีรสธรรม-ปลูกผักแปลงผักชุมชน-คนหัวรอ ได้ร่วมรับประทานอาหารมื้อเย็นกับผู้ร่วมกิจกรรม “สำรับกับข้าว ชาวหัวรอ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาอาหารพื้นถิ่น ชาวตำบลหัวรอ อาทิ ปลาช่อนนึ่ง น้ำพริกผักจิ้ม แกงหยวกกล้วยใส่ปลาย่าง คั่วขนุน ปลาเห็ด ยำปลาทู ห่อหมกใบยอ ส้มตำเมี่ยงตะไคร้ ขนมเทียนแก้ว และขนมชนิดต่าง ๆ อีกหลาย เป็นต้น พร้อมรับชมการแสดงศิลปินพื้นบ้านตำบลหัวรอ โครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ดี ที่สร้างความรักความสามัคคีของคนในชุมชน อีกทั้งเพื่อให้เป็นครัวของชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ก็สามารถมารับประทานได้ เกิดเป็นความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนได้อย่างยั่งยืน