ปลัดมหาดไทยเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 91 พรรษา

ปลัดมหาดไทยเปิดกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 91 พรรษา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 71 พรรษา พร้อมมอบพันธุ์ไม้แก่ภาคีเครือข่ายชาวมหาสารคาม และชื่นชมชาวมหาสารคามเป็นต้นแบบของคนไทยในการสืบสานพระราชปณิธานเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทยและโลกใบเดียวนี้

วันนี้ (13 ก.ค. 66) เวลา 14.30 น. ที่บริเวณโดมคุ้มเกล้า วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม จ.มหาสารคาม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรมปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 โดยมี นายชยาวุธ จันทร อธิบดีกรมที่ดิน นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอิทธิพงศ์ ตันมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมหาสารคาม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัดจังหวัดมหาสารคาม นางสาวปราณี วงศ์บุตร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 13 อำเภอ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ประชาชน และภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอเมืองมหาสารคาม และอำเภอแกดำ รวมกว่า 1,200 คน ร่วมกิจกรรม

โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมรับชมการแสดงรำถวายพระพร โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถวายธูปเทียนแพ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แล้วมอบพันธุ์กล้าไม้ให้แก่ตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ พร้อมทั้งร่วมตรวจเยี่ยมการขับเคลื่อนโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคามตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และนำผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ร่วมปลูกต้นยางนา

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมหาสารคาม และภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมกันแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ด้วยการ “ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ” ทำสิ่งที่ดีสนองแนวพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการทำให้ประเทศไทยของเรามีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรอาหารตามธรรมชาติ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ดังตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตรัสไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า” โดยพระองค์ท่านได้ทรงสนองแนวพระราชปณิธานด้านการบริหารจัดการน้ำของล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยความจงรักภักดี เนื่องด้วยทรงมีพระราชหฤทัยที่แน่วแน่ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้มีน้ำท่าที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อทรงเป็นป่าที่จะสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้สังคมไทย โดยมีเป้าหมายสุดท้าย คือ พวกเราคนไทยทุกคน

“ผมดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติบูชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 91 พรรษา และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 71 พรรษา ร่วมกับพี่น้องชาวมหาสารคามภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามที่ได้จัดกิจกรรมที่ดีเช่นนี้ ซึ่งถือเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่สามารถเชิญชวนพี่น้องชาวจังหวัดมหาสารคามมากถึง 250,000 คน เป็นจังหวัดแรกที่คนทุกหลังคาเรือนช่วยกันปลูก ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งจะเป็นพื้นที่สีเขียวที่จะยังประโยชน์ไม่เฉพาะชาวมหาสารคาม เพราะการที่พวกเราปลูกต้นไม้ จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมายมหาศาล ทั้งในเรื่องของการเป็นต้นไม้ที่ช่วยทำให้สภาวะดินฟ้าอากาศเป็นปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกพยายามรณรงค์ในเรื่องของการลดภาวะก๊าซเรือนกระจกหรือภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดสิ่งที่ดีงามสำหรับลูกหลานต่อไปในอนาคต คือ การทำให้ชาวจังหวัดมหาสารคามมีแหล่งอาหารจากธรรมชาติ ที่เราเรียกว่าเป็นไม้กินได้ ถึงแม้ว่าเราจะปลูกยางนาหรือไม้ยืนต้นที่ไม่ออกผล แต่ในท้ายที่สุดพวกเห็ดและพืชที่เป็นอาหารก็จะเกิดตามธรรมชาติตามมาในไม่ช้า แม้แต่รังมดแดง ซึ่งเป็นการสร้างแหล่งอาหารหรือความมั่นคงด้านอาหารให้กับลูกหลาน และไม้เหล่านี้ก็ยังสามารถใช้เป็นไม้ใช้สอย ใช้เป็นเชื้อเพลิง ข้าวของเครื่องใช้ เป็นที่อยู่อาศัย และในท้ายที่สุดต้นไม้ที่ขึ้นรวม ๆ กันก็จะกลายเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้มียาสมุนไพร ยารักษาโรคให้พวกเราเก็บไว้ในยามที่เราจำเป็นต้องใช้ในอนาคตต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่เป็นวิถีชีวิตของพี่น้องชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา คือเรื่องของ “ผ้าไทย” โดยพระองค์ท่านได้พระราชทานพระวินิจฉัยและพระราชทานแนวทางในการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับวงการผ้าไทยตามหลัก Sustainable Fashion พร้อมทั้งพระราชทานโครงการพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาตนเอง ด้วยการปลูกพืชพันธุ์ที่เป็นไม้ให้สี ซึ่งต้นไม้จำนวนมากที่เราช่วยกันปลูกในวันนี้และในอนาคตนั้น ยังเป็นประโยชน์ในด้านการย้อมสีธรรมชาติได้อีกด้วย ซึ่งคุณประโยชน์ที่พวกเราได้สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงความจงรักภักดีนี้จะเป็นต้นแบบที่ดีของคนทั้ง 75 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล ในการที่จะลุกขึ้นมาประกอบคุณงามความดี เพื่อแสดงความจงรักภักดีและก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อพวกเราคนไทยเองและต่อชาวโลกทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะสิ่งที่ทุกคนทำนี้เป็นเหมือนกับแสงเทียนที่สว่างในใจของคนไทยในทุกจังหวัด และต้องทำให้ทุกคนที่เห็นแสงสว่างที่มหาสารคามแห่งนี้ได้ทำตาม เพื่อให้พวกเราทุกคนจะได้ภาคภูมิใจว่า “พวกเราไม่เสียชาติเกิดที่ได้ตอบแทนบุญคุณแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของเรา โดยอาศัยความจงรักภักดีที่พวกเรามีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ทำกิจกรรมที่จะเป็นการปฏิบัติบูชาที่มีคุณค่ายิ่งกว่าสิ่งใดถวายแด่พระองค์ท่านทุกพระองค์

“นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยต้องขอขอบคุณจังหวัดมหาสารคามเป็นพิเศษ และขอฝากนายอำเภอทุกคนรวมทั้งท่านผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้อำนวยการสถานศึกษาในจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดขับเคลื่อนให้คุณครูทุกโรงเรียนได้ช่วยกันปลูกต้นไม้ โดยการปลูกฝัง แนะนำ และจัดหาพื้นที่ให้นักเรียน นักศึกษาที่จะมาศึกษาเล่าเรียนเป็นลูกศิษย์ของพวกเราได้ช่วยกันปลูกต้นไม้ประจำชีวิตของแต่ละคนไว้ในพื้นที่ที่ตระเตรียมไว้และช่วยกันดูแลรักษาจนกระทั่งเรียนจบ เช่น ถ้าเข้าชั้น ป.1 ตลอด 6 ปีที่เด็กเรียนจบ ถ้าต้นไม้รอด 1 ต้น รวม 6 ปี ทั้งชั้นมี 100 คน เราก็จะมีต้นไม้อย่างน้อย 100 ต้น และทุกปีเราก็จะมีเด็กเข้าใหม่มาเรื่อย ๆ หรือถ้าเป็นมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือสถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ก็จะรวมแล้วประมาณ 60,000 กว่าคน/ปี ซึ่งถ้าสามารถช่วยกันตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในเรื่องนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับโลกของเราในการที่จะทำให้โลกของเราเป็นพื้นที่ที่มีความร่มเย็นเป็นสุข ดินฟ้าอากาศก็จะเป็นปกติและอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า พวกเราชาวมหาดไทยทุกคนรู้สึกชื่นใจ ชื่นชม และรู้สึกว่าคนมหาสารคามเป็นต้นแบบของคนไทยโดยแท้ ที่ท่านสามารถผลักดันโน้มน้าวเชิญชวนคนทุกคนในการสมัครใจที่จะปลูกต้นไม้กันทุกครัวเรือน และขออนุโมทนากับสิ่งที่ดีที่ถือเป็นการ Change for Good ทำให้เกิดความยั่งยืนของประเทศไทย ความยั่งยืนของโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน ซึ่งสิ่งที่ทุกท่านทำนี้ก็จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน ชีวิตของเด็ก เยาวชน ลูกหลาน สามารถเติบโตอยู่บนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมตาม “โครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566 และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ในวันนี้ เป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานราชการตลอดจนภาคเอกชน และประชาชนในจังหวัดมหาสารคาม ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้ ลดปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง PM 2.5 ลดการพังทลายและการกัดเซาะหน้าดินเพิ่มความชุ่มชื้น ความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เพิ่มความมั่นคงทางอาหาร เพิ่มพื้นที่ป่าในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 3,000 ไร่ โดยมีเป้าหมายการปลูกในภาพรวมทั้ง 13 อำเภอ จำนวน 259,110 ต้น ซึ่งได้รับความเมตตาจากภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา อาทิ พระภิกษุ สามเณร และการมีส่วนร่วมของทุกภาคีเครือข่าย ได้แก่ ประชาชนทุกครัวเรือน ๆ ละ 1 ต้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหาร สมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมประจำหมู่บ้าน และหมอดินอาสาทุกคน