ปลัด มท. เป็นประธานมอบชุดลูกเสือ-เนตรนารี ให้แก่นายอำเภอและตัวแทนลูกเสือ-เนตรนารี 15 อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ กว่า 1,600 ชุด

ปลัด มท. เป็นประธานมอบชุดลูกเสือ-เนตรนารี ให้แก่นายอำเภอและตัวแทนลูกเสือ-เนตรนารี 15 อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ กว่า 1,600 ชุด เน้นย้ำ จังหวัด อำเภอ และ อปท. ต้องสร้างการรับรู้ข้อมูลช่องทางความช่วยเหลือนักเรียนผู้ขัดสน เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียม ทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้นอย่างยั่งยืน

วันนี้ (10 ก.ค. 66) เวลา 15.00 น. ที่หอประชุมเจ้าพระยา วิริยาลัยเฉลิมพระเกียรติ ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีมอบชุดลูกเสือ-เนตรนารี จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่นักเรียน จำนวน 1,600 ชุด โดยมี นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ทันตแพทย์หญิงศิริรัตน์ ศิริมาศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวชุติพร สีชัง นายจุมพฎ วรรณฉัตรสิริ นางพรเพชร เขมวิรัตน์ นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 15 อำเภอในพื้นที่ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้แทนสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดร.ดารัตน์ ศิริวิริยะกุล วิภาตะกลัศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา นักเรียน และภาคีเครือข่าย ร่วมในงาน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย ซึ่งในเรื่องของชุดลูกเสือ-เนตรนารีรวมถึงชุดนักเรียนนั้น ก็เป็นเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนงานของพวกเราชาวมหาดไทย ที่ถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับลูก ๆ หลาน ๆ ได้มีชุดเครื่องแบบสวมใส่ไปเรียนหนังสือ ไปเรียนรู้ฝึกระเบียบวินัย เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่ดีร่วมกับเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน

“เรื่องของเครื่องแบบ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Uniform คำว่า Uni แปลว่า หนึ่งเดียว คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ความเหมือนกัน เป็นเครื่องแบบที่เหมือนกัน ซึ่งเมื่อครั้งที่ล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระปิยมหาราช ได้พระราชทานกำเนิดการศึกษาให้กับลูกหลานคนไทย พระองค์ทรงเคยพระราชทานพระราชดำรัสใจความสำคัญว่า “การแต่งเครื่องแบบจะทำให้ลูกเจ้า ลูกนาย ลูกขุนนาง ลูกพ่อค้า ลูกตาสีตาสา ลูกชาวบ้าน มีความเหมือนกัน เพราะเป็นนักเรียนเหมือนกัน” ถ้าไม่ให้แต่งเครื่องแบบก็จะใส่ไปตามฐานะของครอบครัว ที่คนนึงจะใส่กำไลทอง ทั้งข้อมือ ข้อเท้า และสร้อยทองที่คอ มาเป็นชุดนักเรียน ใส่เสื้อผ้าที่หรูหรา กลายเป็นปมด้อยของเด็กก็จะเกิดขึ้น กลายเป็นความแปลกแยก เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และที่สำคัญที่สุด “เครื่องแบบนักเรียนก็มีราคามาตรฐาน” ซึ่งต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ทรงเล็งเห็นความสำคัญที่จะฝึกกุลบุตร กุลธิดา ให้เป็นผู้มีระเบียบวินัย สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกสถานการณ์ ก็จำเป็นต้องให้ฝึกลูกเสือ โดยแรกเริ่มก็คือลูกเสือหลวง กองเสือป่า ซึ่งพระองค์ท่านทรงมีแนวพระราชดำริเฉกเช่นสมเด็จพระบรมชนกนาถว่า “จำเป็นต้องมีเครื่องแบบ” โดยทรงพระราชวินิจฉัยให้ชุดลูกเสือในสมัยนั้นเป็นแบบอย่าง โดยพระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 และต่อมาอีก 2 เดือน คือ วันที่ 1 กรกฎาคม 2454 พระองค์ได้พระราชทานกำเนิด “ลูกเสือไทย” ขึ้น เพราะทรงต้องการให้ลูกหลานไทยของเราได้รับการฝึกหัดให้รู้จักมีระเบียบมีวินัย มีความเข้มแข็ง สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นกำลังสำคัญของคนที่จะช่วยรักษาประเทศชาติ พระศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้มีความวัฒนาถาวร ทำให้ประเทศชาติเรามีความเป็นเอกราชมาได้ โดยชุดลูกเสือของกองเสือป่าที่จัดตั้งครั้งแรกนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนเก่าของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง คือ นายชัพน์ บุญนาค เป็นผู้ที่แต่งชุดลูกเสือเป็นคนแรกมาให้ทอดพระเนตร และหลังจากนั้น ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็น “เครื่องแบบลูกเสือ” และร้านตัดเสื้อผ้าที่ตัดชุดลูกเสือเป็นร้านแรกของประเทศไทย คือ “ร้านวิวิธภูษาคาร” ถนนเฟื่องนคร ซึ่งตั้งอยู่ด้านข้างกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นที่มาของเครื่องแบบลูกเสือที่พวกเราได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงมหาดไทยร่วมกับสมาคมแม่บ้านมหาดไทยได้ร่วมหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ซึ่งเราได้หยิบยกประเด็นของสังคมไทย ว่าเราเป็นสังคมแห่งความช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งเป็นสังคมสังคหวัตถุ 4 สังคมแห่งความเมตตา ความเอื้อเฟื้อความเผื่อแผ่ ดังนั้น “ปัญหาของเด็กทุกคนทุกครัวเรือนก็เป็นปัญหาของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด” เป็นปัญหาของท่านนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “ในฐานะที่พวกเราเป็นผู้ที่แข็งแรงกว่า” ต้องช่วยทำให้เด็ก ทำให้ครอบครัวของเด็ก มีความสะดวกสบาย มีความเท่าเทียมกัน ในการที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนในทุกแขนงวิชาที่อยากศึกษาเล่าเรียน “โดยเฉพาะวิชาลูกเสือ” ที่เป็นวิชาที่นอกจากจะทำให้ลูกหลานของเรามีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์แล้ว จิตวิญญาณของลูกเสือยังเป็นจิตวิญญาณแห่งการช่วยเหลือผู้อื่น หรือจิตวิญญาณของจิตอาสา ที่จำเป็นที่จะต้องช่วยกันสร้างให้เกิดขึ้น เฉกเช่นในวันนี้ ภายใต้การนำของท่านชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และทันตแพทย์หญิงศิริรัตน์ ศิริมาศ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ได้บูรณาการภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี เชิญชวนทุกภาคส่วนบริจาคจัดหาเครื่องแบบลูกเสือ-เนตรนารีให้กับลูกหลานของเรา ฉันใดก็ฉันนั้น ผมจึงตั้งใจเดินทางมาร่วมงานเพื่อกราบขอบพระคุณทุกท่าน มาอนุโมทนาบุญกับทุกท่าน และมาประกาศเจตนารมณ์ให้ทุกท่านได้มั่นใจว่า “สิ่งที่ท่านได้ทำอยู่นี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำต่อไป”

“นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาความยากจนในภาคของการศึกษาไม่ได้หยุดยั้งแค่เรื่องของเครื่องแต่งกาย แต่ยังมีนัยไปจนถึงเรื่องของทุนการศึกษา ดังนั้น เด็กไทยทุกคนไม่เฉพาะเด็กนครสวรรค์ ถ้าอยากเรียนอะไรแล้วไม่ได้เรียนเพราะไม่มีทุนการศึกษา จะถือว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอบกพร่องอย่างร้ายแรง เพราะท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอทุกคน เป็นผู้นำของจังหวัด เป็นผู้นำของอำเภอ ในการชวนท่านผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และพี่น้องทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันเตรียมทุนการศึกษาไว้ให้ลูกหลานจำนวนมาก ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการอุปการะเยาวชนประจำจังหวัด เป็นผู้ดำเนินการด้านทุนการศึกษา ร่วมกับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด ซึ่งล่าสุด พวกเราได้ร่วมกันแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีด้วยการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่งเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2566 ทำให้ทั้งประเทศมีเงินสมทบทุนให้กับเด็กกว่า 20 ล้านบาท และยังมีที่สมทบทุนมูลนิธิชัยพัฒนาอีกกว่า 20 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จมีเงินทุนการศึกษากว่า 41 ล้านบาท” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า แต่ถึงกระนั้น การขับเคลื่อนของมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ก็เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของธารน้ำใจของคนนครสวรรค์และคนไทยทั้งชาติ เพราะเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุด คือ “ผู้ใหญ่ทั้งหลายต้องช่วยกันในการที่จะช่วยเสาะแสวงหาข้อมูล” และสร้างการรับรู้ไปยังครู อาจารย์ ว่าอย่าเพิกเฉย อย่าเฉยเมยกับลูกศิษย์ที่เขาเดือดร้อน และต้องการความช่วยเหลือ โดยต้องแจ้งขอรับการสนับสนุนมายังท่านนายอำเภอ มายังท่านนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อฝ่ายบ้านเมืองจะได้มีข้อมูลและนำไปสู่การให้ความช่วยเหลือต่อไป ภายใต้การอำนวยการของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. จังหวัด และอำเภอ” ที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ได้ร่วมกับทุกภาคีเครือข่ายสร้างบ้านกว่า 2 แสนหลังคาเรือน มอบให้กับผู้ไม่มีที่อยู่อาศัย และอีก 300,000 กว่าหลังคาเรือนได้ซ่อมแซมให้กับผู้ที่มีบ้านเรือนแต่ทรุดโทรมแล้วเจ้าของบ้านไม่สามารถซ่อมแซมได้ และยังมีเด็กที่ไม่มีทุนการศึกษาและได้รับการช่วยเหลือจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างว่า เรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดคือ “เรื่องข้อมูล” ดังนั้น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งท่านนายกเทศมนตรี และท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมี “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีคณะทำงาน มีระเบียบ กฎเกณฑ์รองรับอยู่ สามารถช่วยเหลือสนับสนุนได้ แต่เรื่องใหญ่ คือ “การสื่อสารให้ผู้คนที่มีกำลังได้รับรู้และหาทางช่วยร่วมกัน”

“ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับพี่น้องชาวนครสวรรค์ภายใต้การนำของท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และภาคีเครือข่ายทุกคน และขอขอบคุณที่พวกเราให้ความสำคัญกับการที่จะทำให้ลูกหลานได้มีความสง่างาม มีความภาคภูมิใจในชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ที่จะแต่งไปเรียนร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียนโดยที่ไม่มีความแตกต่างแปลกแยกกับเพื่อนคนอื่น และขอให้ทุกท่านได้ร่วมเป็นกำลังสำคัญในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับลูกหลานและพี่น้องชาวไทยของเราตลอดไป เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย

ด้านนายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งจังหวัดนครสวรรค์ได้พิจารณาเห็นว่า การแต่งกายชุดลูกเสือ-เนตรนารี เป็นการปลูกฝังความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของลูกเสือ การดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีและความมีระเบียบวินัย และในช่วงที่ผ่านมา มีผู้มีจิตศรัทธาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนในจังหวัดนครสวรรค์ร่วมบริจาคชุดลูกเสือให้กับนักเรียนในโรงเรียนด้วยแล้ว จำนวน 186 ชุด และในวันนี้จังหวัดนครสวรรค์และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือ-เนตรนารี จำนวน 1,600 ชุด เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ผู้ปกครองมีรายได้ไม่เพียงพอ ขัดสน ไม่สามารถดำเนินการจัดหาชุดลูกเสือ-เนตรนารี ให้แก่บุตรได้ โดยไม่ใช้งบประมาณของราชการแต่อย่างใด