มหาดไทยเปิด Timeline เดินหน้าโครงการ MOI SMART Agent for CAST เสริมสร้างประสบการณ์จริงในพื้นที่อำเภอนำร่อง 10 แห่ง

มหาดไทยเปิด Timeline เดินหน้าโครงการ MOI SMART Agent for CAST เสริมสร้างประสบการณ์จริงในพื้นที่อำเภอนำร่อง 10 แห่ง ย้ำการหล่อหลอมบุคลากรประสิทธิภาพสูงสู่การเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูง “ต้องเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” เพื่อบรรลุเป้าหมาย “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมและขยายผลสู่ความยั่งยืน

วันนี้ (4 ก.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาและเสริมสร้างบุคลากรกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูง (MOI SMART Agent for CAST) ในระยะที่ 2 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่กลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องลงปฏิบัติงานจริง ณ ที่ทำการปกครองอำเภอที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอำเภอนำร่องบำบัดทุกข์ บำรุงสุข (CAST) ที่มีผลงานโดดเด่นเชิงประจักษ์ จำนวน 10 อำเภอ ซึ่งเป็นการขยายผลจากโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน มีนายอำเภอเป็นครูพี่เลี้ยง (Mentor) เป็นระยะเวลาจำนวน 22 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม – 1 ธันวาคม 2566 โดยในสัปดาห์ที่ 1-2 จะเป็นการลงพื้นที่อำเภอนำร่อง และสัปดาห์ที่ 3 – 22 จะเป็นการลงพื้นที่อำเภอเป้าหมาย เพื่อสร้างองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่เหมาะสม สร้างวัฒนธรรมการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมการเป็นผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ มีภาวะผู้นำ มีคุณธรรมจริยธรรม เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงมหาดไทยให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนเข้มแข็ง เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน บนฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวว่า การบริหารงานแบบบูรณาการในลักษณะยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area Based Approach) เป็นข้อต่อที่สำคัญในการนำนโยบายไปปฏิบัติในพื้นที่ผ่านการประสานงานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ คือ อำเภอ ซึ่งผู้ทำหน้าที่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรีของอำเภอ” คือ นายอำเภอ เป็น mentor ที่จะบ่มเพาะแนะนำให้การพัฒนาและเสริมสร้างบุคลากรกระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูง (MOI SMART Agent for CAST) จะทำให้เกิดการหล่อหลอมให้ข้าราชการกลุ่มนี้ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ 10 อำเภอที่ได้รับการคัดเลือกเป็นอำเภอนำร่อง “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ที่มีผลงานโดดเด่น ได้แก่ 1) อ.แม่ใจ จ.พะเยา 2) อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 3) อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี 4) อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ 5) อ.เทพา จ.สงขลา 6) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา 7) อ.เมืองพิษณุโลก จ.พิษณุโลก 8 ) อ.วังเจ้า จ.ตาก 9) อ.หันคา จ.ชัยนาท และ 10) อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

“อำเภอเหล่านี้ล้วนมีศักยภาพทางการบริหารหลากหลายด้าน ทั้งด้านบุคลากร ผู้นำภาคีเครือข่าย และทีมผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ด้านความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ด้านการเสริมสร้างอาชีพและการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการส่งเสริมความมั่นคงในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการอุปโภคบริโภค ด้านการศึกษา ด้านความปลอดภัย ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น นอกจากนี้ อำเภอนำร่องทั้ง 10 อำเภอ ยังมีวิธีการบูรณาการภาคีเครือข่าย และการร่วมมือร่วมใจกับภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนาตามแนวทาง “บวร บรม ครบ” มาขับเคลื่อน ก่อให้เกิดการผสานความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่และความร่วมมือกันของสังคมพหุวัฒนธรรม การสร้างความปรองดองในพื้นที่เพื่อสร้างสังคมที่ดี และชุมชนเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเอง ทำให้มีมุมมองที่เป็นระบบ พร้อมส่งเสริมค่านิยมการสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งประสบการณ์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับ จะนำไปผลักดันขับเคลื่อนงานสู่อำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเป้าหมาย สร้างความเปลี่ยนแปลงในการทำงานเพื่อประชาชน โดยไม่คำนึงถึงเงื่อนไขของเวลาในการทำงาน ในการเป็นข้าราชการตลอด 24 ชั่วโมง อันส่งผลให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำว่า การฝึกอบรมหลักสูตรที่เรียกโดยย่อว่า “MOI SMART Agent for CAST” นี้ คำว่า SMART นั้นคือ การที่พวกเราได้ไตร่ตรองและครุ่นคิดถึงกระบวนการทำงานว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่ถูกใจของพี่น้องประชาชน ทำให้อำนาจหน้าที่ (Function) ของแต่ละกรมประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ยังผลให้งานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข องค์รวม ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถปฏิบัติภารกิจงานที่กว้างขวาง ครอบคลุมภารกิจด้านการบริหารจัดการและพัฒนาในพื้นที่ (Area Based Function) ทั้งในมิติของการปฏิบัติงาน ที่จะต้องขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของรัฐบาล วาระแห่งชาติ และงานในพื้นที่ซึ่งเป็นงานที่มีขอบเขตกว้างขวาง มีความแตกต่างและหลากหลายแปรไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยข้าราชการมหาดไทย ต้องเป็นนักขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นำการเปลี่ยนแปลงของกระทรวงมหาดไทย ที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการฝึกอบรม ไปต่อยอด ขยายผล แก่เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่ต่อไป

นายสุทธิพงษ์ฯ ยังได้กล่าวอีกว่า ลักษณะภารกิจงานของกระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องปฏิบัติงานโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก ดังนั้น ข้าราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการประสานงานและบูรณาการ รวมถึงองค์ความรู้ และประสบการณ์ในพื้นที่ มีจิตใจรุกรบ และมี Passion มีความคิดเชิงสร้างสรรค์ (Growth Mindset) และที่สำคัญต้องมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวให้เข้ากับบริบทเชิงพื้นที่ ในลักษณะเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา พร้อมกับปรับตัวให้เข้ากับกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลก ข้าราชการและบุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยทุกคนจะต้องมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักปกครองที่ดี มีวิสัยทัศน์ มีความรับผิดชอบ และมีความรอบรู้งานในพื้นที่ พร้อมที่จะทำงานด้วยกลไกการขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา “กลไก 3 5 7 คือ 3 ระดับ การจัดการในระดับพื้นที่ ชุมชน จังหวัด สู่ระดับประเทศ 5 กลไกการทำงาน ได้แก่ ประสานงานภาคีฯ บูรณาการแผน ติดตามประเมินผล การจัดการความรู้ และสื่อสารสังคม และ 7 ภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน” รวมถึงการน้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “บวร” (บ้าน วัด ราชการ) “บรม” (บ้าน ราชการ มัสยิด) “ครบ” (คริสต์ ราชการ บ้าน) ที่เป็นหลักในการสร้างสันติสุข สร้างความผาสุกให้กับสังคมไทย

“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแนวทางพระดำริในการ “พัฒนาคน” ก่อน เพื่อให้คนสร้างทีม และดูแลกันและกันภายในชุมชน เป็นคุ้ม เป็นป๊อก เป็นหย่อมบ้าน เพื่อคุ้ม ป๊อก หย่อมเหล่านี้ เป็นพื้นที่ในการสร้างพลังความรัก ความสามัคคีของคนในชุมชนให้เกิดความเหนียวแน่น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการน้อมนำพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มาขับเคลื่อนในทุกครัวเรือน และน้อมนำหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่ “ต้นน้ำ” ด้วยการพึ่งพาตนเองในชุมชน ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ แล้วรวมกลุ่ม ทั้งปลูกพืชผักสวนครัว ต้นไม้ให้สี ให้จำนวนมาก ๆ ในพื้นที่ว่าง ทั้งหัวไร่ปลายนา ที่วัด ริมถนน และนอกเหนือจากทุกครัวเรือนจะมีถังขยะเปียกลดโลกร้อนแล้ว สิ่งที่ต้องทำขยายผลให้เกิดขึ้นในครัวเรือน ในชุมชน คือ ต้องมีการบริหารจัดการขยะตามหลัก 3Rs ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) นำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ด้วยการรวมกลุ่มจัดตลาดนัดขยะทองคำ เงินที่นำมาได้ก็รวมใส่บัญชีครัวเรือน เป็นเงินส่วนกลาง มีคณะกรรมการ คอยดูแลและบริหารผลประโยชน์ของคนในชุมชน รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบในการใช้เงิน เพราะสิ่งที่พระองค์ท่านปรารถนาในการทำให้ชีวิตของพวกเราทุกคนดีขึ้นอย่างยั่งยืน คือ อยากให้เราดูแลตนเอง รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการใช้ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขับเคลื่อนกิจกรรม และการพัฒนาต่อยอด เรื่องราวดี ๆ สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตทำให้คนในชุมชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เกิดเป็น “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ซึ่งหากนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อของ UN มาเป็นตัวชี้วัดแล้วจะพบว่าสามารถบรรลุเป้าหมายได้ทุกตัวชี้วัด” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเน้นย้ำในช่วงท้าย

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า การฝึกอบรม MOI SMART Agent for CAST นี้จะทำให้เกิด Socialization ซึ่งคนมหาดไทยต้องไม่ทำงานแบบเลขคณิต แต่ต้องทำงานแบบเรขาคณิต ด้วยการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งไม่ว่าสังกัดกรมไหน หน่วยงานไหน ก็ต้องหมั่นลงพื้นที่ไปหาประชาชน ดังที่สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานพระโอวาทว่า “…ข้าราชการมหาดไทย ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ต้องออกพื้นที่จนรองเท้าขาด ไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด…” เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย แผนงาน และโครงการสำคัญไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับเป็นความโชคดีของพวกเราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่แน่วแน่ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร และพระราชปณิธานในการทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ พวกเราทุกคนจะต้องมีอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น Change for Good ความเพียรพยายาม ความอดทน ความเสียสละในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน ทำให้สังคมได้รู้ว่า งานของทุกกระทรวง ทบวง กรม ที่ลงสู่ระดับพื้นที่คืองานของกระทรวงมหาดไทย และ “ทุกงานของกระทรวงมหาดไทยประโยชน์สูงสุดเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”