ยผ.นำแผนจากการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชน

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่าผังภูมิสังคมเป็นผังที่แสดงสภาพความเป็นจริงของพื้นที่ในเชิงกายภาพและสังคมวิทยาซึ่งจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนพื้นที่การพัฒนาโดยยึดหลักภูมิสังคมนี้คือหลักสำคัญยิ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นกระบวนการที่หน่วยงานภาครัฐ เข้าไปแนะนำเข้าไปช่วยอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ แล้วให้คนในพื้นที่ช่วยกันคิดช่วยกันดูว่าต้องการอะไรจริงๆ และให้เขียนบันทึกลงในผังภูมิสังคมเพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ นำไปใช้วางแผนงานโครงการและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยอาศัยกลไกความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนา และเกิดการรักษาให้ยั่งยืนเนื่องจากเป็นโครงการและกิจกรรมที่ตนมีส่วนร่วม

จังหวัดสุโขทัย นายสุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กำชับหน่วยงานดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคม เพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) ดำเนินการขุดลอกพร้อมกำจัดวัชพืชคลองส่งน้ำ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านนา อำเภอบ้านนา (โดยไม่ใช้งบประมาณ) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาคการผลิต เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่รวมถึงพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ในการดำเนินงานมีการขุดลอกพร้อมกำจัดวัชพืชคลองส่งน้ำ ทั้งหมด 2 บริเวณ ได้แก่ โครงการขุดลอกพร้อมกำจัดวัชพืชคลองส่งน้ำสายเหนือ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านนา ปากคลองกว้าง 6เมตร ลึก 2 เมตร ระยะทาง 1,600 เมตร (ขุดลอกเบิมข้างซ้าย-ขวา) และโครงการขุดลอกพร้อมกำจัดวัชพืชคลองส่งน้ำสายใต้ หมู่ ที่ 1 ตำบลบ้านนา ปากคลองกว้าง 5 เมตร ลึก 2 เมตร ระยะทาง 1,700 เมตร (ขุดลอกเบิมข้างซ้าย-ขวา) จากการดำเนินการขุดลอกฯ มีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลประโยชน์ 600 ไร่ ประชาชนได้รับผลประโยชน์จำนวน 110 ครัวเรือน และความจุของคลองสามารถรองรับน้ำได้ 12,144 ลูกบาศก์เมตร โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสุโขทัย

จังหวัดน่าน นายวิบูรณ์  แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า จังหวัดน่านโดยอำเภอปัว ได้นำโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำเพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ณ ห้วยน้ำเย็น บ้านมอน หมู่ที่ 3 ตำบลวรนคร อำเภอปัว และอำเภอภูเพียง ได้นำโครงการก่อสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ จำนวน 3 ฝาย ณ บ้านน้ำเกี๋ยนใต้ หมู่ที่ 1 ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นการนำแผนงานโครงการจากการจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) โดยมีนายอำเภอปัว นายอำเภอภูเพียง ภาคีเครือข่าย ประชาชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน

จังหวัดพะเยา ว่าที่ร้อยตรี ณรงค์  โรจนโสทร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยา ได้ดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำชั่วคราวแกนดินซีเมนต์ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ณ ห้วยจะฮ้าง บ้านปงสนุก ต.เชียงม่วน อำเภอเชียงม่วน ตามโครงการนำร่องการดำเนินงานจัดทำผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo – social Map) โดยมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดพะเยา

จังหวัดลำปาง นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า จังหวัดลำปาง ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อช่วยลดการชะล้างพังทลายของดิน และลดความรุนแรงของกระแสน้ำ เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่แปลงเกษตรของชาวบ้าน โดยเป็นโครงการฝายชะลอน้ำแบบเรียงหินในกล่องเกเบี้ยน ขนาดความยาว 6 เมตร ณ บริเวณคลองแม่มอก ตำบลแม่มอก อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามผังภูมิสังคม (Geo-social Map) โดยมี นายอำเภอเถิน ผู้ใหญ่บ้านแม่มอก บุคลากรโรงเรียนแม่มอกวิทยา ประชาชนในพื้นที่ เจ้าหน้าที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำปาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมกันดำเนินการ

จังหวัดลำพูน นายสันติธร  ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน  กล่าวว่า จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินโครงการพัฒนาตามผังภูมิสังคมเพื่อการบริหารจัดการน้ำหมู่บ้าน/ชุมชน แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน (Geo-social Map) กิจกรรม “Kick off” การกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำกวงโดยจังหวัดลำพูนได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ ได้แก่ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดลำพูน องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน โครงการชลประทานจังหวัดลำพูน เทศบาลตำบลอุโมงค์ และเทศบาลตำบลบ้านธิ ณ บริเวณสะพานศรีดอนชัย ตำบลบ้านธิ อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน

ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการโดยอาศัยกลไกความร่วมมือการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน พัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องประชาชน ถือเป็นโครงการนำร่องเป็นต้นแบบ และตัวอย่างที่ดีให้แก่พื้นที่อื่น ๆ ที่จะนำไปพัฒนาพื้นที่ของตนเองต่อไป