“มหาดไทย” เดินหน้าพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิการทำประโยชน์ที่ดิน

มหาดไทยน้อมนำพระราชปณิธาน “แก้ไขในสิ่งผิด” เดินหน้าพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิการทำประโยชน์ที่ดิน สิทธิเพื่อชีวิตที่ยั่งยืนของประชาชน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงมหาดไทยในการสืบเสาะแสวงหาสิ่งที่เป็นสภาพปัญหาและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนคนไทยในทุกพื้นที่ของประเทศไทยทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ ผ่านแพลตฟอร์ม ThaiQM ของกรมการปกครอง ภายใต้การนำของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายกรัฐมนตรีของจังหวัด และท่านนายอำเภอในฐานะนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้นำการบูรณาการภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย อันได้แก่ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ในรูปแบบ “ทีมอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” พุ่งเป้าเข้าหาไปยังบ้านเรือนของพี่น้องประชาชน ไปติดตามถามไถ่ สอบถามสารทุกข์สุขดิบ ทำให้ได้สแกนสภาพปัญหาความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตนเอง ซึ่งจากการประมวลรวบรวมข้อมูลแล้วพบว่าประเด็น “สิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน” เป็นสภาพปัญหาเร่งด่วนที่สำคัญซึ่งพี่น้องประชาชนหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหา และเป็นปัญหาที่คาราคาซังมาเป็นระยะเวลายาวนาน เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้เพิ่งจะประสบปัญหา แต่เป็นปัญหาอันยาวนานที่สะสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษหรือรุ่นพ่อ รุ่นแม่จนมาถึงในยุคปัจจุบัน

 

“กระทรวงมหาดไทยรับทราบถึงสภาพปัญหา “สิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน” และได้หยิบยกมาเป็น “วาระเร่งด่วน” ที่ต้อง “แก้ไขในสิ่งผิด” เดินหน้าแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน ด้วยการน้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานกับพวกเราทุกคนว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นแนวทางในการทำงาน ในเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินหลวงทับซ้อนกับที่ดินของพี่น้องประชาชนที่เป็นปัญหาเชิงระบบหรือเชิงโครงสร้างมาอย่างยาวนาน เช่น ที่ของประชาชนที่อยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยาน หรือเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จนทำให้เสียสิทธิ เสียโอกาสในชีวิต เมื่อจะแก้ไขก็ยากเย็น ใช้เวลานานไม่สำเร็จ โดยมี “กรมที่ดิน” เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างยาวนาน และเกี่ยวข้องเกี่ยวกับกับหน่วยงานของภาครัฐหลายหน่วยงาน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาอุปสรรคที่จะมาบั่นทอนความตั้งใจของคนมหาดไทยในการเร่งทำให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด เพราะ “ที่ดินคือชีวิตของประชาชน” เป็นทรัพยากรอันมีค่าที่เป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นคงในชีวิต เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสุขของประชาชน เพราะจะทำให้ประชาชนมีที่ดินทำกินส่งผลให้มีรายได้ในการดำรงชีวิต และเป็นสิ่งที่จะ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนพบว่า พี่น้องที่ประสบปัญหาดังกล่าวต่างมีร่องรอยหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยหรือการตั้งรกรากมาตั้งแต่หลัก 100 ปีก่อน เช่น ที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ส่งผลทำให้พี่น้องประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ต่างประสบปัญหาเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยทั้งในรูปแบบโฉนดที่ดินและการจัดสรรที่ดินตามนโยบายของรัฐบาล (คทช.) ซึ่งเมื่อตรวจสอบในหลายหลังคาเรือนก็ได้พบว่า ครอบครัวได้มาทำกินอยู่อาศัยในพื้นที่เป็นระยะเวลามากกว่า 100 ปี ก่อนมีการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เป็นต้น” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เพื่อให้เกิดการ Change for Good ลดความซ้ำซ้อน สอดคล้องกับกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความรวดเร็วให้กับพี่น้องประชาชนผู้ยื่นคำขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน จึงเป็นที่มาของการออก “กฎกระทรวง ฉบับที่ 59 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497” ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดให้สามารถนำเทคโนโลยีการขีดแนวเขตหรือถ่ายทอดแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ลงในระวางรูปถ่ายทางอากาศหรือระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศมาใช้ในการพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ พร้อมทั้งกำหนดบทนิยามความหมายของคำว่า “พื้นที่อนุรักษ์” หมายถึง เขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยาน เขตสวนพฤกษศาสตร์ และเขตสวนรุกขชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า หรือเขตพื้นที่ที่ได้จำแนกให้เป็นเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี แต่ไม่รวมถึงพื้นที่ที่มีการกันออกหรือเพิกถอนออกจากพื้นที่อนุรักษ์ และคำว่า “กำหนดแนวเขต” หมายถึง การขีดแนวเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีหรือการถ่ายทอดแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ หรือเขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยาน เขตสวนพฤกษศาสตร์ และเขตสวนรุกขชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และให้ความหมายรวมไปถึงการแสดงแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ด้วยเทคโนโลยีทางด้านแผนที่ นอกจากนี้ ยังได้กำหนด 1) สถานที่ปิดประกาศ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือการออกโฉนดที่ดิน ได้แก่ สำนักงานที่ดิน สำนักงานเขต สำนักงานเทศบาลหรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหรือที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และที่ทำการกำนัน ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่แห่งละ 1 ฉบับ 2) องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน ได้แก่ ผู้แทนหน่วยงานที่รับผิดชอบเขตพื้นที่อนุรักษ์ แห่งละ 1 คน  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด หรือ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ปลัดอำเภอซึ่งนายอำเภอท้องที่มอบหมาย และกรรมการอื่นตามที่เห็นสมควร

“อีกสาระสำคัญที่ปรากฏในกฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ คือ การกำหนดกระบวนการในการพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์และการตรวจสอบที่ดินของคณะกรรมการตรวจสอบที่ดิน โดยคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบที่ดินที่ขอออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินว่า “มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่” (พื้นที่ที่เข้าข่ายที่จะต้องตรวจสอบ คือ มีอาณาเขตติดต่อ คาบเกี่ยว หรืออยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์) โดยวิธีการตรวจสอบจากระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ โดยหากในกรณีที่ไม่มีระวางแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ ให้ตรวจสอบจากระวางแผนที่ มาตราส่วน 1 : 4,000 ที่มีการกำหนดแนวเขตพื้นที่อนุรักษ์ไว้แล้ว และจัดทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนี้ แบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 หากตรวจสอบแล้วไม่มีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นที่ดินที่สามารถออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และไม่มีผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่อไปได้ และกรณีที่ 2 หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีพื้นที่ส่วนหนึ่งส่วนใดรุกล้ำเข้าไปในเขตพื้นที่อนุรักษ์ (มีอาณาเขตคาบเกี่ยว หรืออยู่ในเขตพื้นที่อนุรักษ์) ให้ดำเนินการตามมาตรา 56/1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยการใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศมาประกอบการตรวจสอบ ซึ่งหากผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นที่ดินที่มีการครอบครองและทำประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนวันที่ทางราชการได้กำหนดให้ที่ดินนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และไม่มีผู้คัดค้านภายในกำหนดเวลาที่ประกาศ ให้เสนอผลการตรวจสอบต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินต่อไป แต่หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าเป็นที่ดินที่มีการครอบครองและทำประโยชน์ภายหลังวันที่ทางราชการได้กำหนดให้ที่ดินนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ให้เสนอผลการตรวจสอบต่อผู้ว่าราชการจังหวัดว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะพิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินได้ และสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “กฎกระทรวง ฉบับที่ 59 (พ.ศ. 2566) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497” ฉบับนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเราชาวกระทรวงมหาดไทย ที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคขวากหนามทางด้านข้อกฎหมายที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ที่พี่น้องประชาชนคนไทยพึงได้รับ แต่พวกเราทุกคนจะทำให้กฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างประโยชน์ในชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคน และจะยังคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้งในการพิจารณากฎหมายฉบับต่าง ๆ ในความรับผิดชอบที่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้รับโอกาสของชีวิตที่เท่าเทียมกัน ได้รับการส่งเสริมพัฒนาและต่อยอดให้สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญให้กลายเป็นมูลค่าเพิ่มของชีวิต เพราะที่ดินคือชีวิตของพี่น้องประชาชน และจะเป็นชีวิตที่ส่งต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในการใช้ประโยชน์ให้เกิด “ประโยชน์ที่ยั่งยืนของชีวิต” ตลอดไป