รมว.สุชาติ นำทัพผู้แทนไตรภาคี ร่วมประชุมใหญ่ ILCสมัยที่ 111 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ได้เดินทางเยือนนครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 12 – 15 มิถุนายน 2566 เพื่อเข้าร่วมการประชุมประจำปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Conference: ILC) สมัยที่ 111 ตามที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯ ตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) โดยในการประชุมครั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีวาระเข้าพบนายกิลเบิร์ต เอฟ โฮงโบ (Mr. Gilbert F. Houngbo) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงาน ซึ่งไฮท์ไลท์ของการประชุม ILC ในปีนี้จะเน้นย้ำในเรื่องการผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม พร้อมกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 13 มิถุนายนนี้ด้วย

นายสุชาติ กล่าวว่า สาระสำคัญของการประชุม ILC สมัยที่ 111 ในครั้งนี้ว่า ต้องการที่จะเน้นย้ำและผลักดันประเด็นความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งเป็นหัวใจของ ILO มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อร้อยปีก่อน และส่งเสริมจัดตั้งการรวมกลุ่มระดับโลกเพื่อความยุติธรรมทางสังคม หรือ Global Coaltion for Social Justice โดยการประชุมมีระเบียบวาระประจำ 3 วาระ ได้แก่ การรายงานของผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ และรายงานของประธานคณะประศาสน์การ แผนงาน งบประมาณ และรายงานการอนุวัติการอนุสัญญาและข้อแนะ และระเบียบวาระจรอีก 6 วาระ ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานแรงงาน เรื่อง การฝึกงาน การอภิปรายหมุนเวียน เรื่อง วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของการคุ้มครองทางสังคม การอภิปรายทั่วไป การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม รวมถึงการพิจารณาด้านเทคโนโลยีและนโยบายอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่เศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ การประชุม ILC สมัยที่ 111 ยังมีกิจกรรมการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนไตรภาคี กิจกรรม World of Work Summit การรับรองมติที่ประชุมคณะกรรมการ และข้อสรุป รวมถึงการลงคะแนนเสียง โดยกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ประกอบด้วย การยกเลิกอนุสัญญาจำนวน 1 ฉบับ การเพิกถอนอนุสัญญา จำนวน 4 ฉบับ พิธีสาร 1 ฉบับ ข้อแนะนำ จำนวน 18 ฉบับ ร่างอนุสัญญาและข้อแนะ ว่าด้วยการแก้ไขบางส่วนของตราสารแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 15 ฉบับ เพื่อให้การตอบรับกับประเด็นสภาพการทำงานที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเข้าไว้ในกรอบงาน ILO ด้านหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้มาตรา 33 ของธรรมนูญ ILO เพื่อให้รัฐบาลเบลารุสปฏิบัติตามข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการไต่สวน

ทั้งนี้ นอกจากการประชุมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILC) สมัยที่ 111 ในครั้งนี้แล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและคณะ จะได้หารือข้อราชการด้านแรงงานกับเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา รวมทั้งเยี่ยมเยียนพบปะให้กำลังใจคนงานไทยที่ทำงานในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อความร่วมมือด้านแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศต่อไปอีกด้วย