ปลัด มท. มั่นใจแก้ไขปัญหาความยากจน ประชาชนสำเร็จแน่! เผยเรื่องน่าภูมิใจที่ไม่ได้ทำงานลำพัง ยก จ.อำนาจเจริญจะทำสำเร็จก่อนใน 3 เดือน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดใจถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า ว่าพวกเราโชคดีที่ไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง เรามีหัวเรือใหญ่ที่เป็นกำลังสำคัญ มีภาคประชาสังคม โดยเฉพาะ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อีกทั้งเรามี ประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแต่ละจังหวัด (คู่สมรสของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด) ถือว่าเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือขับเคลื่อนการช่วยเหลือพี่น้องคนไทยที่เดือดร้อนอยู่ ให้มีประชาชนมีความสุขมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่น่าดีใจ คือ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมชี้แจงและอาสาทำงานร่วมกับแม่บ้านมหาดไทยทุกจังหวัด ว่าจะขอเป็นแม่งานในการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัย หรือมีที่อยู่อาศัยแต่มีลักษณะที่ไม่มั่นคง ไม่แข็งแรง ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือชำรุดเสียหาย ซึ่งเจ้าของบ้านไม่มีกำลังพอที่จะก่อสร้างหรือซ่อมแซมได้ และกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุที่เดินไม่ไหว ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมถึงกลุ่มคนพิการ ที่จำเป็นต้องใช้รถเข็น (Wheelchair) ใน 2 ประเด็นนี้ สมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะรับเป็นเจ้าภาพหรือเป็นหัวเรือใหญ่ที่จะร่วมกับทีมงานของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในการช่วยเหลือสงเคราะห์ให้ประชาชนพ้นจากปัญหาทุกข์ยากเหล่านี้ไป รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วย จุดนี้เองถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน

จากงานที่แลดูยากจะสำเร็จได้ด้วยความรู้รักสามัคคี และความเสียสละของผู้คนในสังคม ดังนั้น เราจึงมั่นใจว่า จะบรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้ ซึ่งท่านนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เน้นย้ำเรื่องของความจงรักภักดี และเนื่องในวโรกาส ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 นี้ นับเป็นมหามงคลพิเศษอย่างยิ่ง ที่พวกเราจะตั้งใจ จะมีโครงการเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ เพื่อเป็นหมุดหมายเป็นธงชัย ในการร้อยดวงใจคนไทยทั้งชาติ ให้มาช่วยกัน ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

ปลัด มท. เผยว่า ภารกิจนี้จะสำเร็จได้ อยู่ที่ความตั้งใจจริงของพวกเราทุก ๆ คน ในการดำเนินการ เพราะฉะนั้น พวกเราทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ นายกเหล่ากาชาด ประธานชมรมแม่บ้านจังหวัด รวมทั้งตัวผมเอง และนายกสมาคมแม่บ้าน ตลอดจนท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และท่านนายกรัฐมนตรี พวกเราทุกคนมั่นใจว่า เราจะทำได้ แล้วต้องทำให้ได้ เพราะผมเชื่อว่าคนเราจะไม่มีวันทำอะไรได้สำเร็จ ถ้าไม่ทันได้ทำ ก็ตีโพยตีพายว่าทำไม่ได้ คนเราถ้าเริ่มต้นแล้วคิดว่าแพ้ ก็แพ้แล้ว จะไม่มีวันชนะ ดังนั้น ผมยืนยันว่า เรามั่นใจในหัวจิตหัวใจของคนไทยที่จะไม่มีวันทอดทิ้งกัน และเราจะสามารถร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 30 กันยายน 2565 เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นปีงบประมาณ ประกอบกับ เป็นช่วงของการโยกย้าย-การเกษียณอายุราชการ ซึ่งวันที่ 1 ตุลาคมจะมีบุคคลใหม่มาแทนตำแหน่งเดิมในหลายจังหวัด การที่เราตั้งหลักชัย วันที่ 30 กันยายนว่าเราจะต้องช่วยกันทำให้ สำเร็จ คนที่เขากำลังจะเกษียณเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในการทำภารกิจนี้ด้วย

อีกหนึ่งตัวอย่างของความภาคภูมิใจ คือ ท่านทวีป บุตรโพธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ และประธานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอำนาจเจริญ (ภรรยาของท่าน) ได้ประกาศต่อที่ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการจัดงานขึ้นที่จังหวัดขอนแก่นว่า ท่านจะขอใช้เวลาทำภารกิจนี้เพียงแค่ 3 เดือน รับรองว่าจะแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ความทุกข์ยากของพี่น้องอำนาจเจริญ จะถูกพลังแห่งความรักความสามัคคี และความเสียสละของคนในจังหวัดอำนาจเจริญ เข้าไปเปลี่ยนแปลงช่วยเหลือกันจนเกิดผลสำเร็จ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่น่ายกย่อง แม้ว่าท่านจะเกษียณ 30 กันยายน 2565 ท่านก็บอกว่าจะไม่รอให้ถึงวันที่ท่านเกษียณ จะขอใช้เวลาเวลาทำงานแค่ 3 เดือน ภายในเดือนมิถุนายน 2565 ท่านจะเชิญผม ไปเดินตรวจในพื้นที่ ว่าท่านทำจริงหรือไม่ ให้ผมไปร่วมรีเอกซเรย์ ว่าสำเร็จจริงหรือเปล่า ผมเลยขออนุญาตนำเรื่องดี ๆ ของท่านผู้ว่าฯ และทีมงาน มาถ่ายทอดให้ฟังเป็นตัวอย่างว่าพวกเราไม่ได้ทำอะไรคนเดียว ดังนั้น ปัญหาที่มีอยู่มาก มันสามารถสำเร็จได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วได้ ถ้าพวกเราตั้งใจจริงและช่วยกันจริง

สำหรับคำว่า “พ้นจากความยากจน” ต้องเข้าใจความหมายด้วยว่า ไม่ได้หมายถึง จะไปทำให้เขารวย เพราะการที่เขาจะรวยได้ ต้องมีขั้นตอน แต่คำว่าพ้นจากความยากจน คือ การพ้นจากความไร้ความสามารถ เข้าไม่ถึงโอกาส และไม่สามารถที่จะดูแล ชีวิตของตัวเองหรือครอบครัวให้อยู่รอดปลอดภัยมีความสุขให้มีกินมีใช้พื้นฐานได้ แต่อย่างไรก็ดีหลังจากมีการนำเสนอภารกิจนี้ออกไป มีข้อเสนอแนะของคนในสังคมมามากมาย ก็ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเรา ผมเองยินดีรับฟัง และนำมาพิจารณากับทีมงานในการที่จะขับเคลื่อนเป็นลำดับต่อไป

การแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเป็นแม่ทัพ หรือเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาแทนท่านภายในพื้นที่ ซึ่งการที่จะบริหารและพัฒนา ให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดการ Change for Good ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากข้าราชการทุกกระทรวง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความร่วมมือจากผู้นำในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำศาสนา นักธุรกิจ นิสิตนักศึกษา คณาจารย์ทั้งหลาย ภาคีทั้งหมดนี้ต้องเข้ามาร่วมมือกัน ผมจึงเน้นย้ำว่าเราไม่ได้ทำงานเพียงลำพัง

นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เรื่องของการทำ “ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน” ในทุกท้องถิ่น ต้องมีศูนย์กลางให้พ่อแม่พี่น้องเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำไปแล้วว่า โดยธรรมชาติของคนที่มาอาสา ทำงานให้ประชาชน คนที่มาเป็นผู้นำองค์กรในส่วนท้องถิ่น มาเป็นนายก อบต. หรือนายกเทศมนตรี ในใจของทุกท่านต้องอยากช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่แล้ว ดังนั้น ท่านนายอำเภอต้องไปเป็นเพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจ ของท่านผู้นำท้องถิ่นทั้งหลาย เพื่อที่จะให้เขาเป็นหลักดูแลคนในพื้นที่ของพวกเขาในท้องถิ่นนั้น ๆ ได้ เขาจะได้รู้ว่ามีพี่น้องที่มีเรื่องทุกข์ร้อนใจอันใด จึงจะสามารถไปที่ อบต. /เทศบาล เพื่อแจ้งความต้องการที่ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนผู้เดือดร้อน เรื่องนี้ นายอำเภอต้องขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมและทุกอำเภอต้องมีศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือประชาชนด้วย ต้องเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะถาวร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำเพียงเฉพาะกิจ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน และถือว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้มีที่พึ่งตามปณิธานการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของกระทรวงมหาดไทย