รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อ  “หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล” วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ 

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเปิดรับสมัครผู้สนใจ เข้าร่วมศึกษา    หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล (Master of Science Program in Digital Health)  หลักสูตรใหม่ พ.ศ. ๒๕๖๕  เป็นหลักสูตรระดับปริญญาโท  ๒ ปี   จำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร ไม่น้อยกว่า ๓๖ หน่วยกิต  โดยรับสมัครทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติที่สามารถใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี สามารถสื่อสารภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้ทั้งการพูด อ่าน เขียน บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรฯ นี้ จะมีทักษะที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตและทำงานในศตวรรษที่ ๒๑  อาทิ (๑) ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (๒) ทักษะสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และ (๓) ทักษะชีวิตและอาชีพ ที่สามารถพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ อีกทั้งยังต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

เปิดรับสมัครจำกัด เพียง ๑๕ ท่าน  โดยเปิดรับสมัคร ๒ รอบ ดังนี้ รอบที่ ๑ เปิดรับสมัคร วันที่ ๗ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕ รอบที่ ๒ เปิดรับสมัคร วันที่ ๑ – ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕  สามารถติดตามข่าวสารของหลักสูตรสุขภาพดิจิทัล วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่ http://medical.pccms.ac.th   

เฟสบุ๊ค Digital Health PSCM  หรือ [email protected] 02-576-6000 ต่อ 8476

 

#วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน

#ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

#เป็นเลิศเพื่อทุกชีวิต

หมายเหตุ

–          หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสุขภาพดิจิทัล  ได้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับระบบบริการสุขภาพในเร็ววัน ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ๒๐๑๙ เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมดิจิทัลให้เร็วยิ่งขึ้น

–           การเกิดขึ้นของหลักสูตรฯ  จะทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้านสุขภาพ ได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ นักวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพ นักเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสุขภาพ นักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ นวัตกรหรือนักวิจัยด้านสุขภาพดิจิทัล นักบริหารฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ออกสู่ตลาดแรงงานขั้นสูง ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ

–           นอกจากนี้ หลักสูตรฯ ยังมุ่งเน้นติดอาวุธด้านสุขภาพดิจิทัลให้กับบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ ฯลฯ ให้มีศักยภาพในการทำงานด้านสุขภาพดิจิทัล เพื่อทำให้ระบบบริการสุขภาพมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่เหมาะสม ทั่วถึงและยั่งยืนสำหรับทุกคน

–          สมดังวิสัยทัศน์ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่จะ “สร้างสุขภาวะที่ดีและเท่าเทียมเพื่อทุกชีวิต ด้วยวิทยาการขั้นสูง นวัตกรรม และความเป็นเลิศ” และสอดคล้องกับ Global Strategy on Digital Health 2020 -2025 ขององค์การอนามัยโลกที่จะ Promote healthy lives and wellbeing for everyone, everywhere, at all ages”