คนกรุงเตรียมเฮ!! “สมาร์ทบิลดิง” ของ “สภาวิศวกร” ปักธงลดจุดบอดสังคมเมือง “เพิ่มกรีนโซน – จัดโซนโคเวิร์กกิ้งสเปซ”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า จากสถานการณ์การขยายตัวของสังคม ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ อาทิ ความแออัดของอาคารสูง การลดจำนวนของพื้นที่สีเขียว มลภาวะทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่าง PM2.5 และ PM 10 ที่อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบแก่สุขภาพของประชาชนในทันทีหากแต่เป็นการสะสมและก่อให้เกิดอันตรายขึ้นในอนาคต

ดังนั้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดจุดบอดของสังคมเมือง พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนโดยรอบ ในแง่ของการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ที่กระตุ้นให้เกิดการคิดตามและต่อยอด เข้าถึงพื้นที่สีเขียว ที่ช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากมลภาวะภายนอกอาคาร รวมถึงสิ่งสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ

            ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกร ในฐานะเสาหลักของชาติด้านวิศวกรรม จึงเตรียมเนรมิต “อาคารสำนักงานแห่งใหม่” รับปีที่ 20 ภายใต้แนวคิด “Productivity + Connectivity + Wellness (Healthy)” ที่มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากร มีพื้นที่ทำงานที่เชื่อมต่อและประสานงานระหว่างกันได้โดยสะดวก อีกทั้งเป็นสถาปัตยกรรมที่ส่งเสริมให้สุขภาพกายและใจดี สู่โมเดล “สมาร์ทบิลดิง” (Smart building) อาคารอัจฉริยะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยของเสียจากตัวอาคารออกสู่ชุมชนใกล้เคียง ควบคู่กับการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมของคนรุ่นใหม่อย่างครบวงจร ตลอดจนเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ที่ผู้คนในชุมชนโดยรอบ สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนโลเคชันใหม่ “ย่านลาดพร้าว 54” บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ ที่คาดจะสามารถดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดใช้งานจริงในปี 2565

                โดยอาคารสำนักงานแห่งใหม่นี้ มาพร้อมกับฟังก์ชันและลูกเล่นพิเศษ ที่นอกจากจะช่วยให้การทำงานของบุคลากรในองค์กรเต็มไปด้วยประสิทธิภาพที่ดีแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมกระตุ้นการเรียนรู้แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ แต่จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง สามารถติดตามได้จากรายละเอียดดังต่อไปนี้

•         โดดเด่นด้วย “ฟาซาด” โชว์ข้อมูลสำคัญแบบเรียลไทม์ (Interactive Façade) เทคโนโลยีการแสดงข้อมูลสำคัญบริเวณเปลือกอาคาร เพื่อเพิ่มประสบการณ์ใหม่แก่ผู้คนภายนอก ที่สัญจรไปมา หรือเดินเท้าบริเวณดังกล่าวอย่างกลมกลืน ด้วยหลอด LED ความละเอียดต่ำ อาทิ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5/10 สภาพอากาศ อุณหภูมิ ตลอดจนข่าวสารสำคัญในแต่ละวัน ทั้งนี้ การแสดงผลดังกล่าว สามารถปรับเปลี่ยนและมองเห็นได้ในระยะไกล แต่เมื่ออยู่ประชิดอาคารจะไม่มีแสงที่ทำให้แสบตา

•      มีโคเวิร์กกิ้งสเปซ (Co-Working Space) เติมไฟไอเดียกระฉูด พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ระหว่างบุคคล ทั้งระหว่างบุคลากรของสภาฯ กับสมาชิกสภาฯ และระหว่างบุคคลภายนอกกับภายนอก โดยพื้นที่ดังกล่าว มีการดีไซน์เปลือกอาคารให้มีรูพรุนในขนาดที่ต่างกัน เพื่อสร้างมิติ และเปิดรับแสงสว่างจากภายนอกในช่วงเวลากลางวัน เพื่อลดการใช้พลังงานภายในอาคาร

 

•         ปรับสไตล์การอ่านหนังสือด้วยที่นั่งไต่ระดับ (Step Seating) พื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณบันไดของสำนักงานส่วนกลาง ที่ปรับพื้นที่ให้มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในคอนเซป Merge & Multi-Function Plan เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน นั่งพัก อ่านหนังสือ ด้วยการจัดวางแต่ละมุมให้แตกต่าง ซึ่งในอนาคตสามารถประยุกต์ใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดงานแถลงข่าว และกิจกรรมอื่น ๆ ได้

 •      สร้างความร่มรื่นด้วยพื้นที่สีเขียว (Green Zone) พื้นที่จัดกิจกรรมกลางสวน ที่รายล้อมไปด้วยต้นไม้สีเขียว ที่อาศัยกรรมวิธีรดน้ำ ด้วยระบบ “การบำบัดน้ำแบบชีวภาพภายในอาคาร” โดยนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วไปรดน้ำต้นไม้ไปตามผิวดินแบบอัตโนมัติ ด้วยระบบ Sub Drain และน้ำตกชั้นบันไดเพิ่มความร่มรื่น ที่สามารถควบคุมเวลาเปิด-ปิดได้ ทั้งนี้ วิธีการดังกล่าว จะสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และช่วยลดปริมาณการใช้น้ำประปา รวมถึงลดภาระการระบายน้ำในท่อระบายน้ำและคูคลองสาธารณะ

•      เบ็ดเสร็จด้วยตนเองกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Digital One-Stop Service) พื้นที่สำหรับผู้ติดต่อประสานงานและผู้มาใช้บริการ การผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัย และประสบการณ์ในการใช้บริการลูกค้า แบบ One-Stop Kiosk เบ็ดเสร็จ ที่ผู้ใช้บริการสามารถทำได้ด้วยตนเอง เพื่อลดการใช้ทรัพยากรบุคคล และเพิ่มความสามารถในการให้บริการ

                ทั้งนี้ การออกแบบอาคารสำนักงานแห่งใหม่ครั้งนี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของงานวิศวกรรม และนำไปสู่ “โมเดลสมาร์ทบิลดิง” แก่องค์กรรัฐและเอกชนในการปฏิรูปด้านวิศวกรรมก่อสร้างไทยรูปแบบใหม่ในอนาคต ที่ผนวกศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมบูรณ์แบบ และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้านวิศวกรรมของประเทศ ด้วยเทคนิคการออกแบบและฟังก์ชันที่ไม่สามารถคาดเดาได้จากภายนอก แต่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งพร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งนับว่าเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างที่คุ้มค่าที่สุดแห่งหนึ่งของไทย อันสะท้อนถึงความใส่ใจชุมชน เมือง และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน รวมถึงผู้อยู่อาศัยโดยรอบด้วย “วิศวกรรมศาสตร์” อย่างแท้จริง ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวสรุป

                สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตลอดจนการยื่นสอบเพื่อเลื่อนขั้น และอื่นๆ ได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 ไลน์ไอดี @coethai หรือติดตามความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/coethailand เว็บไซต์ https://www.coe.or.th และยูทูบแชลแนล “สภาวิศวกร Council Of Engineers Thailand”

###

#COE #สภาวิศวกร #EcoBuilding #ZeoWaste #อาคารที่ทำการสภาวิศวกรแห่งใหม่ #JCCOTH