กสศ.แนะ 5มิติสร้างภูมิคุ้มกันการศึกษาไทยจากวิกฤติโควิด-19

“กสศ.” แนะ5มิติเพื่อคิดค้นระบบการคุ้มครองทางสังคมใหม่  เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันยั่งยืน  เตรียมพร้อมรองรับวิกฤติทั้งในรอบนี้และรอบหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

การส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค เป็นพันธกิจสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันทำให้บรรลุผล การจัดให้มีการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน (Education for All) เป็นเป้าหมายสำคัญที่นานาประเทศตกลงร่วมกันในปฏิญญาจอมเทียน พ.ศ. 2533 ซึ่งส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลงอย่างมากตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา   อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดของ COVID-19 อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาปัจจุบัน ทำให้แผนการในทศวรรษที่สามหรือทศวรรษ 2020 จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์  วิถึใหม่ของการศึกษาจำเป็นต้องพิจารณาทั้งในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 และหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดไปแล้ว   ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด ได้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาอย่างรุนแรง นักเรียนจำนวนมากที่เดิมเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ก่อนแล้ว ต้องถูกซ้ำเติมและขยายบาดแผลความเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก กระทั่งนักเรียนที่อาจมีภูมิหลังค่อนข้างดีก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบไปได้เช่นกัน

ดร.ไกรยส  ภัทราวาท     รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  กล่าวไว้ว่า   จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  รัฐบาลได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าในหลายด้าน  ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยาด้วยงบประมาณฉุกเฉิน หรือการระดมเงินบริจาค    แต่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนของสังคมไทยในอนาคตนั้น  จะต้อคำนึงถึงความยั่งยืนหลังผ่านพ้นวิกฤตการณ์ไปแล้วควบคู่ไปด้วย     โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาและสังคม   ด้วยการเร่งคิดค้น (re-imagine) ระบบการคุ้มครองทางสังคม (social protection) กันใหม่อย่างเป็นระบบ และใช้โอกาสนี้ในการลงทุน ปฏิรูป (reform) อย่างเป็นรูปธรรม   เพื่อให้สังคมไทยมีความพร้อมในการสู้กับวิกฤติได้ ทั้งในวันนี้และในวันหน้าอย่างยั่งยืน  โดยหนึ่งในแนวทางสำคํญที่อยากจะเสนอแนะคือ  การสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา (Social Protection in Education System) ใน 5 มิติ 

1. สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food   Security) ให้แก่เด็กและเยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค  ซึ่งปัจจุบันเราสนับสนุนอาหารกลางวันเพียง 200 วันต่อปี ให้แก่เด็กอนุบาลถึง ป.6 เท่านั้น ยังมีเด็ก ม.ต้น และ ม.ปลาย อีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีอาหารกลางวันกินที่โรงเรียน และยังมีอีก 165 วัน ที่เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสหลายล้านคนยังไม่มีความมั่นคงทางอาหารในชีวิตของตนและครอบครัว”

 2. ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว (Family Security)  เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันครอบครัวที่มีรายได้น้อย จำนวนกว่าร้อยละ 40 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กและเยาวชนราว 1 ล้านคน กำลังเติบโตขึ้นมาโดยขาดความมั่นคงในสถาบันครอบครัว

   ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียน (Travel Security)  ปัจจุบันเด็กและเยาวชนเกือบ 2 ล้านคน ไม่มีพาหนะที่ปลอดภัยและค่าใช้จ่ายที่เพียงพอในการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้มีเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปโรงเรียนดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ  4.ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู (School Security)  เนื่องจากการจัดการศึกษาต้องมีความปลอดภัยทั้งในเชิงกายภาพ ต้องมีการป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน และความพร้อมของผู้บริหารและครูในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการจัดการศึกษาแก่ผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสประเภทต่างๆ ภายใต้สถานการณ์อย่าง COVID-19และ ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น (Community Security) 

 “บทเรียนสำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พวกเรายิ่งเห็นความสำคัญของชุมชนท้องถิ่น ดังภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า ‘It takes a village to raise a child’ [ต้องใช้คนทั้งหมู่บ้านเพื่อเลี้ยงเด็กหนึ่งคน] ความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนสถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ในการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมในระบบการศึกษาทุกด้าน ‘ตู้ปันสุข’ เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทุกคนในชุมชนและสังคมล้วนมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางการศึกษา ขาดใครไปไม่ได้แม้แต่คนเดียว”          ดร.ไกรยส  กล่าว

ดร.ไกรยศ  กล่าวย้ำด้วยว่า     หากสามารถสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 มิตินี้ขึ้นมาได้ จะเกิดผลดีต่อความเสมอภาคทางการศึกษา ตลอดจนถึงคุณภาพของการศึกษา ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในหรือนอกระบบการศึกษา วัยเรียนหรือวัยทำงาน และยังกล่าวเพิ่มว่า การศึกษาหลัง COVID-19 จำต้องมีการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อทำลายข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ และให้การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา  และเมื่อนั้น “ความจำเป็นในการพึ่งพามาตรการกู้วิกฤติในภาวะฉุกเฉินอย่างที่ผ่านมาก็จะลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการกลับสู่ภาวะปกติก็จะลดลง เพราะสังคมไทยจะมี ภูมิคุ้มกัน (resilient) เพื่อสู้วิกฤติทั้งในรอบนี้และรอบหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน