พช. ตั้งทีม “ผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด” ขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน สู่เป้าหมาย “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนพึ่งตนเองได้”

20 กุมภาพันธ์ 2563

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานการประชุมทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับกรม ครั้งที่1/2563 โดยมีคณะผู้บริหาร พช. ทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด จำนวน 52 คน และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 กรมการพัฒนาชุมชน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำโครงการในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี “ก้าวตามไม่ทันก็คว้าโอกาสไม่ทัน” หรือหากช้าอาจถูก Disruption ทำให้หายไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและไม่ใช่สิ่งที่ดี คือ การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรมที่ลืมรากเหง้า ละทิ้งภูมิปัญญา ทำให้สิ่งดีดีเหมาะแก่สภาพแวดล้อมของตนเองหายไป ต้องผสมผสานนำสิ่งที่ดีของแต่ละยุคมาปรับใช้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล

และวิทยาการสมัยใหม่อื่น ๆ การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก การเติบโตของสังคมเมือง และสิ่งแวดล้อมที่มี

ความเสื่อมโทรม ส่งผลให้งานพัฒนาชุมชนมีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เกิดปัญหาและอุปสรรค

ในการดำเนินงานหลากหลายมิติ จึงจำเป็นต้องอาศัยองค์วามรู้จากทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อขับเคลื่อน

ชุมชนให้พึ่งตนเองได้อย่างยังยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบกับประเทศไทยก้าวเข้าสู่

สังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) อย่างเต็มรูปแบบ โดยบุคคลเหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่บ้านเกิดของตนเองล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน มีสุขภาพกายและจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมเสียสละและทุ่มเทการทำงานเพื่อสังคม

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อยากเห็นการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กรมฯ ตั้งไว้ คือ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565” ซึ่งถ้าเราทำคนเดียวคงไม่สำเร็จ จึงได้ตั้ง “ทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด” ขึ้นมาเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อน โดยการระดมองค์ความรู้และทรัพยากรบุคคลในพื้นที่ สนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน รวมถึงร่วมติดตาม สนับสนุน และประเมินผลงานพัฒนาชุมชนพร้อมทั้งให้คำแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน โดยจัดตั้งทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิด หรือ Hometown Development Voluntary Leader Team ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผู้ที่มีความรู้

ความสามารถและเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากทุกสาขาวิชาชีพ เช่น ข้าราชการหรือพนักงานเอกชนที่เกษียณอายุ บุคลากรจากภาครัฐและภาคเอกชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งพี่น้องประชาชนที่มีความพร้อมและมีจิตอาสา ที่จะนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์มาทำงานให้กับส่วนรวม โดยไม่หวังผลตอบแทนในเชิงธุรกิจ โดยมีทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับกรม เข้าไปร่วมขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดทีมผู้นำอาสาพัฒนาบ้านเกิดระดับจังหวัด อีก 76 จังหวัด

โดยการขับเคลื่อนจะมีการจัดประเภทแบ่งกลุ่มตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน ต้องบูรณาการงานทุกด้าน เพราะแต่ละคนทำอาชีพไม่เหมือนกัน และมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งกรมฯ มีงานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทาง “โคกหนองนา โมเดล” ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่การเกษตร เป็นการผสมผสานระหว่างเกษตรทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้น ๆ “โคก-หนอง-นา โมเดล” จึงเป็นการให้ธรรมชาติจัดการตัวเอง โดยมีมนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้สำเร็จเร็วขึ้นอย่างเป็นระบบ รวมไปถึงโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ศูนย์ประสานงานองค์การชุมชน (ศอช.) การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ OTOP และการดำเนินงานตลาดประชารัฐ เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่าน กรมการพัฒนาชุมชนขอขอบคุณที่ทุกท่านได้เสียสละมาเป็นผู้นำที่จะช่วยขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกับข้าราชการ บุคลากร ตลอดจนอาสาสมัครของกรมฯ ที่มีจำนวนมาก ขอบคุณที่ทุกท่านเสียสละตั้งแต่เริ่มตัดสินใจสมัคร ถ้าท่านตัดสินใจสมัคร ผมถือว่าท่านมีตัวแปรที่สำคัญที่สุดของชีวิต คือ “การมีทัศนคติที่ดี” ซึ่งผมถือว่าเป็นหัวใจของความสำเร็จของทุกเรื่อง ทำให้สิ่งดี ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตตัวเองและประเทศชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นงานของส่วนรวม ยิ่งต้องอาศัยจิตใจที่ห้าวหาญ และเสียสละมากยิ่งขึ้น ในนามของกรมการพัฒนาชุมชน ขอขอบคุณความเสียสละของทุกท่านอีกครั้งครับ” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย