“บิ๊กอู๋”บุกโคราชชูสถานประกอบกิจการต้นแบบ GLP พัฒนาชีวิตแรงงานด้วยศาสตร์พระราชา

“บิ๊กอู๋”บุกโคราชชูสถานประกอบกิจการต้นแบบ GLP พัฒนาชีวิตแรงงานด้วยศาสตร์พระราชา

รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการ จ.นครราชสีมา ต้นแบบนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพื่อตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการต้นแบบในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ณ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่โคราช บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จังหวัดนครราชสีมา โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เข้ามาส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อส่งออกนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP มาใช้ในการประกอบกิจการ ซึ่งผู้ประกอบกิจการได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการนำ GLP มาใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน นอกจากนี้ ได้ร่วมมือในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคม รวมถึงส่งเสริมให้คู่ค้าภายในประเทศ และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่นำหลักการดังกล่าวมาใช้ด้วยตลอดจนยกระดับการดำเนินการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่มาตรฐาน TLS ในอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อส่งออก

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อเพื่อการส่งออกนำ GLP มาใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อส่งออกในประเทศไทย ประกอบด้วยฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อส่งออก โรงงานแปรรูปและกิจการที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่อุปทาน 4,282 แห่ง และโรงฆ่าไก่เพื่อส่งออก 27 แห่ง มีแรงงานที่เกี่ยวข้อง 181,000 คน การบริหารจัดการด้านแรงงาน ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ 4 ไม่ ได้แก่ 1.ไม่ใช้แรงงานเด็ก 2.ไม่ใช้แรงงานบังคับ 3.ไม่เลือกปฏิบัติ และ4.ไม่มีการค้ามนุษย์ และหลักการ 6 มี ได้แก่ 1.มีระบบการจัดการบริหารแรงงาน 2.มีเสรีภาพในการสมาคม 3. มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง
4.มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 5.มีการจัดการสุขอนามัยและของเสียและ 6.มีสวัสดิการที่เหมาะสม

โดยตั้งแต่ปี 2559 -2560 ได้เข้าไปส่งเสริม GLP ในสถานประกอบกิจการ 4,191 แห่ง และมีสถานประกอบกิจการนำ GLP ไปใช้แล้วทั้งสิ้น 3,435 แห่ง แรงงานทั้งหมด 37,548 คน และในปี 2561 กระทรวงแรงงานได้ขยายการส่งเสริม GLP ไปยังกิจการอื่น ๆ อีก อาทิ ฟาร์มเลี้ยงสุกร กิจการในภาคเกษตรกรรม และกิจการแปรรูปเบื้องต้น เป็นต้น จากผลการดำเนินการ ปัจจุบันสามารถยกระดับการบริหารจัดการแรงงานในอุตสาหกรรมผลิตเนื้อไก่ส่งออก ส่งผลให้แรงงานที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมผลิตเนื้อไก่มีสภาพการจ้างงานที่ดีขึ้นและได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และภาคธุรกิจเองสามารถพิสูจน์ให้นานาประเทศเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบด้านแรงงาน และจากการดำเนินดังกล่าวส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาทในปี 2558 – 2559 เพิ่มเป็น 9.6 หมื่นล้านบาทในปี 2560 และ 1 แสนล้าน ในปี 2561 ทั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า สามารถก้าวข้ามปัญหาการถูกกีดกันทางการค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม