ลึกซึ้งรากเหง้า/กวี – เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

ลึกซึ้งรากเหง้า

 

มีคำพังเพยจากผู้รู้ชวนฟังชวนคิดว่า

ลึกซึ้งรากเหง้า

เข้าใจปัจจุบัน

เท่าทันอนาคต

อดีต ปัจจุบัน อนาคต เบ็ดเสร็จอยู่ในสามประโยคนี้ ดังคำบาลีที่ว่า “อตีตานาคะตะ ปัจจุบันนัง”

หากแต่คำพังเพยพ่วงความหมายให้รู้ลึกซึ้ง ทำความเข้าใจ และรู้เท่าทัน กับกาละทั้งสามนั้นด้วย

โดยเฉพาะคำ “ลึกซึ้งรากเหง้า” นี่แหละสำคัญนัก ด้วยเวลานี้ดูเหมือนปัญหาความแตกแยกทางความคิดเห็นจะขยายวงกว้างขึ้นทุกทีระหว่าง “เก่า-ใหม่” ทั้งค่านิยมและการแบ่งรุ่นคนเป็น “เจน” คือ เจเนอเรชั่น นั่นนี่

สรุปคือ เป็นความขัดแย้งทางวัฒนธรรม หรือจะเรียกเป็นการ “ปะทะทางวัฒนธรรม” นั่นเอง

เป็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรม “ความเชื่อ” กับวัฒนธรรม “ความคิด”

คือความเชื่อของคนรุ่นเก่า กับความคิดของคนรุ่นใหม่

จะว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างอดีตกับปัจจุบันก็ได้

 

อดีตจะถือ “ความเชื่อ” เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ

ขณะที่ปัจจุบันจะถือ “ความคิด” เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ

เพราะวัฒนธรรมความเชื่อในอดีตนั้นคือการฟังเป็นหลัก ดังคำ “เชื่อฟัง” ขณะวัฒนธรรมความคิดนั้นถือข้อมูลข่าวสารการศึกษาเป็นหลัก ดังคำ “คิดอ่าน”

ที่ว่า ถือการฟังเป็นหลักของสังคมอดีตก็เพราะสมัยก่อนยังไม่มีสถาบันการศึกษาอย่างเป็นระบบ ชาวบ้านชาวเมืองจึงมักเชื่อฟังผู้มีอำนาจบารมีเหนือกว่า เช่น ฟังผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง ผู้อาวุโส และผู้มีบุญ เช่น ฟังพระเทศน์ ซึ่งล้วนน่าเชื่อถือด้วยมีขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีเป็นครรลอง หรือเป็นกรอบของสังคมรองรับอยู่

การศึกษาอย่างเป็นระบบทางการของสังคมไทยเพิ่งจะมีในสมัยรัชกาลที่ห้านี่เอง ดังทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรก นอกจากนั้น ยังทรงรับสั่งแก่เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการให้ขยายการศึกษาให้ทั่วถึง กระทั่งว่าถ้าไม่มีสถานที่ตั้งโรงเรียนก็ให้เอาศาลาวัดนั่นแหละเป็นโรงเรียนไปก่อน เราจึงมีโรงเรียนวัดเป็นเบื้องต้นแทบจะทุกที่

วัฒนธรรมความเชื่อก่อนจะมีโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาจึงเป็นวัฒนธรรมยาวนานกว่าวัฒนธรรมความคิดซึ่งเพิ่งมีเมื่อรัชกาลที่ห้านี้เอง ซ้ำเป็นวัฒนธรรมแบบ “ก้าวกระโดด” ด้วยสังคมที่พัฒนาการตามโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนเร็ว ขณะที่พื้นฐานของสังคมอดีตที่มีวัฒนธรรมความเชื่อเป็นพื้นนั้น ยาวนานและแน่นหนามั่นคงนัก เสมือนยากจะเปลี่ยนแปลงเอาเลยทีเดียว

ความเชื่อกับความคิดของสองวัฒนธรรมนี้มันจึงปะทะกันรุนแรงในวันนี้

 

แท้ที่จริงหลักธรรมของการศึกษาข้อสุจิปุลินี้ได้บอกขั้นตอนไว้แล้วคือ “ฟัง คิด ถาม เขียน” ดังศัพท์ สุ คือ สุตตะ (ฟัง) จิ คือ จิตตะ (คิด) ปุ คือ ปุจฉะหรือปุจฉา (ถาม) ลิ คือ ลิขิต (เขียน)

คือ ฟังก่อนอย่าเพิ่งเชื่อ ฟังแล้วนำมาคิดใคร่ครวญ คิดไม่ออกให้ถาม ซึ่งคือศึกษาหาความรู้ ได้ความรู้แล้วให้จดจำจารึกเสมือนเขียนไว้เพื่อนำมาใช้ให้เหมาะสมต่อไป

นี่เป็นหัวใจของการศึกษาแท้จริง ถ้ารู้นำมาปรับประยุกต์ใช้ก็เชื่อว่า จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเป็นการปะทะทางวัฒนธรรม ระหว่างความเชื่อกับความคิดในวันนี้ได้จริง

ดังคำ “ลึกซึ้งรากเหง้า” นี่แหละคือการเข้าใจในวัฒนธรรมความเชื่อของอดีตอย่างลึกซึ้ง

เมื่อลึกซึ้งรากเหง้าแล้วทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมความคิดของปัจจุบันยุคนิวนอร์มอลให้ได้เพื่อก้าวสู่ความรู้เท่าทันกับอนาคตด้วยการสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน

 

ที่จริง สามสถาบันไทย คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นี่แหละเป็นสัญลักษณ์การพัฒนาได้ทุกสังคมอย่างแท้จริง ด้วยความเป็น “องค์คุณ” แห่งสถาบันนี่เองคือ

ชาติ คือความมีอารยธรรม เป็นองค์คุณ

ศาสนา คือความมีศานติธรรม เป็นองค์คุณ

พระมหากษัตริย์ คือความมีสามัคคีธรรม เป็นองค์คุณ

ทุกสังคมต้องมีสามัคคีเป็นรากฐาน มีอารยะ คือการพัฒนาจากวัฒนะสู่อารยะ เป็นพื้นฐาน และมีศานติ คือความสงบร่มเย็นเป็นภูมิฐาน

รากฐาน พื้นฐาน ภูมิฐาน

เป็นหลักและเป็นหัวใจของวัฒนธรรมที่หมายถึง “วิถีชีวิต” แท้จริง

ดังนั้น คำ “ลึกซึ้งรากเหง้า” จึงเป็นรากฐาน “เข้าใจปัจจุบัน” จึงเป็นพื้นฐาน และ “เท่าทันอนาคต” ก็คือภูมิฐาน อันเป็นเป้าหมายร่วมกันสู่ความสงบร่มเย็นเป็นที่สุด

เข้าใจองค์คุณในเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นสามฐานทางวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตแล้ว ก็จะรู้ถึงความสำคัญเบื้องต้นคือ

ลึกซึ้งรากเหง้า

 

ศิลปวัฒนธรรม

๐ “วัฒนธรรม” คือวิถีแห่งชีวิต

ของคนคิด คนทำ คนสร้างสรรค์

เพื่อประโยชน์ เป็นอยู่ รู้แบ่งปัน

ไปตามขั้น ครรลอง ของชีวิต

“ศิลปะ” นั้นเป็น ความเจนจัด

การปฏิบัติ การงาน การประดิษฐ์

ศิลปวัฒนธรรม จึงนำคิด

ให้รู้ทิศ รู้ทาง รู้ย่างเท้า

๐ พื้นฐานบ้านเราคือชาวบ้าน

ทำงานไร่นามาก่อนเก่า

เป็นปู่ เป็นย่า ตายายเรา

ปลูกเหย้า แปลงย่าน เป็นบ้านเมือง

เป็นเมืองเรืองรุ่งเป็นกรุงไกร

ลูกไทย หลานไทย ได้ฟูเฟื่อง

น้ำใจไมตรี มีนองเนือง

จากเบื้องบรรพกาล ถึงวันนี้

๐ ศิลปวัฒนธรรม ประจำชาติ

เอกราช เอกลักษณ์ เอกศักดิ์ศรี

เป็นคันฉ่อง ส่องความงามและความดี

เป็นโคมฉาย ช่วยชี้ วิถีชน