ชนชั้นกลาง | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์
(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

หมายเหตุ : บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 มิถุนายน 2009


พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ให้สัมภาษณ์มติชนว่า หากเมืองไทยมีชนชั้นกลางสัก 70-80% ประชาธิปไตยก็จะไปได้ (โดยท่านไม่ต้องออกมาช่วยเขาทำรัฐประหาร?)

ถ้ามองในบริบทของโลก ผมคิดว่าท่านพูดช้าไปประมาณ 150 ปี แต่มองในบริบทของไทยก็นับว่ายังทันสมัยอยู่ แม้ว่าในเมืองไทยพูดเรื่องนี้กันมาไม่ต่ำกว่า 75 ปีแล้วก็ตาม

ประชาธิปไตยแบบตะวันตกซึ่งเราใช้เป็นแม่แบบนั้น ที่จริงแล้ว เป็นการปกครองของอภิสิทธิ์ชน ถ้าเอากรีกเป็นต้นกำเนิด เอเธนส์ให้สิทธิทางการเมืองเฉพาะแก่เสรีชน ซึ่งหมายความถึงคนจำนวนน้อยที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินและเป็นผู้ชาย จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็ยังให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่ผู้เสียภาษีทรัพย์สินและผู้ชายเท่านั้นเหมือนกัน… และแน่นอนว่าเป็นคนส่วนน้อยของสังคม

ท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องสิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมของคนที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบ จะให้เหตุผลแก่อภิสิทธิ์นี้อย่างไร จะบอกว่าอั๊วเป็นเจ้าของประเทศมากกว่าลื้อก็ไม่ได้ เพราะขัดกับสำนึกความเป็นพลเมืองของชาติซึ่งอภิสิทธิ์ชนปลุกเร้าขึ้นมาเองในช่วงนี้เหมือนกัน

คำตอบที่ฟังเข้าท่ากว่าซึ่งอภิสิทธิ์ชนใช้ก็คือ อั๊วมีการศึกษาดีกว่าลื้อ จึงอยู่ในฐานะที่จะตัดสินชะตากรรมของบ้านเมืองได้ดีกว่าลื้อ

นักเรียนไทยที่ไปเรียนยุโรปในช่วงนี้ รับเอาคำตอบนี้มาปรับใช้ในเมืองไทย น่าประหลาดที่ทั้งฝ่ายราชาธิปไตยและประชาธิปไตยต่างปรับใช้ตรงกัน นั่นคือ สิทธิทางการเมืองนั้นต้องสงวนไว้แก่คนมีการศึกษาเท่านั้น

พระราชนิพนธ์ใน ร.6 หลายชิ้น จำลองภาพของระบอบประชาธิปไตยในเมืองไทยที่ยังไม่ “พร้อม” ว่า คือการโต้เถียงขัดแย้งกันด้วยเรื่องไร้สาระ โดยตัวแทนประชาชนซึ่งได้รับเลือกตั้งเพราะมีเงินมาก และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ใช่ไทยแท้ หากเป็นคนจีนหรือลูกจีน โดยนัยยะก็คือองค์กรปกครองอย่างนี้ย่อมนำบ้านเมืองไปสู่หายนะ

แน่นอนว่า คนที่ควรบริหารบ้านเมืองนั้น นอกจากต้องมีการศึกษาแล้ว ยังควรเป็นสุขุมาลชาติ (ผู้มีกำเนิดอันละเอียดอ่อน) ด้วย

คณะราษฎรไม่เห็นว่าสุขุมาลชาติเป็นคุณสมบัติสำคัญ แต่เห็นพ้องว่า การศึกษามีความสำคัญ ดังนั้น จึงกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับแรก (ซึ่งฝ่ายเจ้ามีส่วนร่วมร่างขึ้น) ว่า ก่อนที่ประชาชนเกินครึ่งจะได้รับการศึกษาตามเกณฑ์ สภาผู้แทนราษฎรจะประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งครึ่งหนึ่ง… เป็น “การเมืองใหม่” ที่มีอายุ 77 ปีเข้าไปแล้ว

หลักการข้อนี้ไม่เคยเสื่อมถอยไปในประชาธิปไตยไทย ตราบจนกระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 กล่าวคือ ในสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่มี ส.ส.ที่มาจากการแต่งตั้งเลย แต่มีก็จะมีวุฒิสภาหรือพฤติสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งคอยถ่วงดุลอยู่เสมอ แต่ครั้นรัฐธรรมนูญฉบับนั้นถูกฉีก หลักการข้อนี้ก็กลับมาในวุฒิสภาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อีก

ผมจึงบอกว่า ความคิดของท่านพลเอกสมเจตน์นั้นทันสมัยในเมืองไทย แม้ว่าล้าสมัยในโลก

อย่างไรก็ตาม หลักการข้อนี้เป็นหลักการที่คานธีและผู้นำกู้ชาติอินเดียไม่เชื่อถือ อินเดียให้สิทธิทางการเมืองที่เท่าเทียมแก่พลเมืองของตนนับตั้งแต่ได้รับเอกราช ทั้งๆ ที่ในตอนนั้น กว่าครึ่งของพลเมืองอินเดียอ่านหนังสือไม่ออก

และจนถึงทุกวันนี้ ประชาธิปไตยอินเดียก็ยังทำงานได้ดี (อย่าคิดว่าเป็นมรดกทางการเมืองของอังกฤษ เพราะประชาธิปไตยทำงานไม่ได้เอาเลยในอดีตอาณานิคมอังกฤษอีกมาก เช่น ปากีสถาน, แอฟริกาใต้สมัยแบ่งแยกผิว หรือในโรดีเชีย-แซมเบีย เป็นต้น) ประชาธิปไตยอินเดียจึงพิสูจน์ว่า การศึกษาไม่ใช่เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของประชาธิปไตย

ยิ่งกว่านี้ เมื่อเราเอาการศึกษาไปผูกติดไว้กับชนชั้นกลาง นัยะก็คือ การศึกษามีความหมายเฉพาะการศึกษาในระบบ ซึ่งชนชั้นกลางมักได้รับสูงกว่าคนอื่น ออกจะเป็นการให้ความหมายแก่การศึกษาที่แคบไปหน่อย

นอกจากนี้ ก็ไม่ค่อยชัดเจนนักนะครับว่า ความรู้ที่ได้จากการศึกษาในระบบนั้นจะทำให้คนชั้นกลางตัดสินใจทางการเมืองได้อย่างฉลาดแหลมคมขึ้นอย่างไร

เช่น ถ้ารู้กฎแรงโน้มถ่วงแล้วจะทำให้รู้ได้อย่างไรว่า ควรซื้อหรือเช่ารถเมล์ดี

แท้จริงแล้ว ความหมายที่แท้จริงของการศึกษาคือการเรียนรู้ คนเราเรียนรู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านระบบการศึกษา และในความเป็นจริง ผู้คนเรียนรู้อะไรมากมายจากชีวิตของตนเอง แค่ดูทีวีก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ ทั้งที่จริงและไม่จริง ทั้งที่ได้เรื่องและไม่ได้เรื่อง เช่นเดียวกับสนทนากับผู้อื่น, ไปวัดฟังธรรม, ดูคอนเสิร์ต, จีบแฟน ฯลฯ

คนที่ผ่านการศึกษาในโรงเรียนก็เรียนรู้จากชีวิตจริงของตน มากเสียยิ่งกว่าในห้องเรียนเสียอีก

ปัญหาก็คือ คนต้องเรียนรู้อะไรจึงจะทำให้เป็นผู้ใช้สิทธิ์ทางการเมืองได้อย่างเหมาะสมกับพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย

คำตอบตรงไปตรงมาคือเรียนรู้ความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆ ในโลกครับ คือรู้ว่าทำอย่างนี้แล้ว จะไปกระทบถึงคนอื่นและอะไรอื่นอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดคือกระทบถึงตัวและเครือข่ายความสัมพันธ์ของตัวอย่างไร

ที่ผมเรียกว่าเครือข่ายความสัมพันธ์ในที่นี้ มีความหมายทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม เพื่อนฝูงญาติพี่น้องหรือชุมชนก็คือเครือข่ายที่เป็นรูปธรรม แต่สำนึกถึงกลุ่มที่ใหญ่กว่านั้น เช่น จังหวัดของตัว, ชาติของตัว หรือมนุษยชาติทั้งโลก เป็นเครือข่ายเชิงนามธรรม

อย่านึกนะครับว่า คนที่ไม่ผ่านการศึกษาในระบบคิดถึงเครือข่ายเชิงนามธรรมไม่เป็น คนไทยโบราณมีสำนึกเต็มเปี่ยมถึงโลกของชาวพุทธ ที่มีกำเนิดในลังกา-เมืองมอญ และข้ามไปจนถึงลาวและเขมรว่า เป็นกลุ่มทางสังคมที่ตัวสังกัดอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่คนไทยโบราณไม่เคยผ่านโรงเรียนเลย

คนอินเดียที่อ่านหนังสือไม่ออก ก็มีสำนึกถึงเครือข่ายเชิงนามธรรมได้เหมือนกัน เช่นสำนึกใน “กลุ่ม” ภาษาเดียวกัน เป็นต้น

ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า คนเราไม่ได้เรียนรู้อย่างอิสระเสรี แต่ทุกคนต่างเรียนรู้อยู่ภายใต้ความคิดครอบงำบางอย่างทั้งนั้น (ซึ่งนักวิชาการเรียกว่า “วาทกรรม” -ไม่ได้แปลว่าคำพูด) ฉะนั้น เราจึงเรียนรู้อะไรภายใต้การกำกับของความคิดครอบงำในวัฒนธรรมของเราเสมอ เช่น คนไทยเรียนรู้ความเชื่อมโยงทางสังคมภายใต้การยอมรับถึงความไม่เท่าเทียมกันของมนุษย์ เป็นต้น

ถามว่า การศึกษาในระบบปลดปล่อยคนจากความคิดครอบงำได้กระนั้นหรือ? คำตอบกลับเป็นตรงกันข้ามเลยทีเดียว การศึกษาในระบบของไทยคือการปลูกฝังความคิดครอบงำ (อีกชุดหนึ่ง) ให้ฝังรากแน่นแฟ้นจนถ่ายถอนได้ยากด้วยซ้ำ ไม่เฉพาะแต่ความคิดครอบงำทางการเมืองเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงความคิดครอบงำทางสังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม หรือแม้แต่ทางวิชาการด้วย

และความคิดครอบงำหลายอย่างที่ปลูกฝังกันในโรงเรียนนั้นเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยด้วยซ้ำ

การศึกษาในระบบจึงไม่เป็นเหตุผลที่จะสนับสนุนให้สิทธิทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของใครมีมากกว่าใคร ประชาธิปไตยจะไปได้หรือไม่จึงไม่ขึ้นอยู่กับจำนวนของชนชั้นกลางแต่อย่างไร

นอกจากนี้ ใครคือชนชั้นกลางครับ คำนี้นิยามยากในทางวิชาการ ซ้ำยังยากขึ้นไปอีกเมื่อไปผูกกับประชาธิปไตย

ประชากรส่วนใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยเวลานี้คือแรงงาน ถือว่าเป็นคนชั้นกลางหรือไม่? อย่าลืมนะครับว่าแรงงานมักอยู่ในเขตเมือง ได้รับข้อมูลข่าวสารหนาแน่น และมักมีวิถีชีวิตหรืออย่างน้อยมีความฝันว่าจะมีวิถีชีวิตเหมือนคนมีฐานะดีในเมือง หรือคนชั้นกลางอื่นๆ นั่นเอง ทั้งมีสำนึกทางการเมืองที่แหลมคม เพราะต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ด้วยการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ถ้าถือว่าแรงงานคือคนชั้นกลาง ปัจจุบันส่วนใหญ่ของคนไทยคือแรงงานครับ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และควรรวมถึงเจ้าของธุรกิจรายย่อย เช่นขายกล้วยปิ้งด้วย

ในทำนองเดียวกัน ส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยเวลานี้ทำเกษตรเชิงพานิชย์ หมายความว่าผลประโยชน์ของเขาผูกพันอยู่กับการจัดสรรทรัพยากรของรัฐอย่างแยกไม่ออก แม้จำนวนมากยังยากจนอยู่ แต่ก็มีสำนึกเต็มเปี่ยมว่า การจัดสรรทรัพยากรซึ่งปรากฏในรูปนโยบายสาธารณะย่อมกระทบถึงเขาอย่างแน่นอน

คุณสมบัติเช่นนี้คือ คุณสมบัติทางการเมืองที่เราคาดหวังจากชนชั้นกลางไม่ใช่หรือ? ถ้าเช่นนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยได้กลายเป็นชนชั้นกลางไปแล้ว

ในความเป็นจริง เมืองไทยเวลานี้อาจมีชนชั้นกลางมากกว่า 70-80% แล้ว การชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็เป็นการชุมนุมทางการเมืองของชนชั้นกลางเหมือนกัน

ผมคิดว่าปัญหาของพลเอกสมเจตน์และของกลุ่มคนเสื้อเหลืองอยู่ที่ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ยังพยายามจะหวงแหนอภิสิทธิ์ทางการเมืองไว้กับคนจำนวนน้อยในนามของประชาธิปไตยแบบไทยเหมือนเดิม

นี่เป็นความพยายามที่เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากความพยายามที่เป็นไปไม่ได้นี้ ปัญหาที่คนเหล่านี้ควรคิดก็คือ จะผนวกเอาคนแปลกหน้าจำนวนมหึมาเหล่านี้เข้ามาในกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างไร โดยไม่ขยายโอกาสให้นักการเมืองขี้ฉ้อใช้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมตรงนี้ เข้าไปฉ้อโกงได้ถนัดมือขึ้น

แต่การตั้งหน้าตั้งตาปฏิเสธคนแปลกหน้า ด้วยการรัฐประหารก็ดี ด้วยการชุมนุมกดดันทางการเมืองอย่างผิดกฎหมายก็ดี รังแต่จะนำไปสู่ความวุ่นวายมากขึ้น จนเกินกว่าพลังของสังคมไทยจะรับได้ในวันหนึ่ง