ความถดถอยของประชาธิปไตยในบ้านเราและทั่วโลก ในมุมมองของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์”

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ลูกผีหรือลูกคน

ความถดถอยของประชาธิปไตยในบ้านเราและทั่วโลก มักอธิบายกันในประเทศไทยถึงชะตากรรมและพฤติกรรมของ “คนชั้นกลาง” ซึ่งในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่ขายทักษะอาชีพระดับต่างๆ แก่ธุรกิจของทุนหรือของรัฐ เช่น ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการผลิต, ลัทธิเสรีนิยมใหม่ และ ฯลฯ

แต่ Barrington Moore (Social Origins of Dictatorship and Democracy) คิดว่า เมื่อประเทศต่างๆ ย่างเข้าสู่ความทันสมัย จะนำมาซึ่งเผด็จการหรือประชาธิปไตย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดและการกระทำของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง แต่หลักใหญ่ใจความแล้วขึ้นอยู่กับลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น และระหว่างชนชั้นกับรัฐ ความสัมพันธ์แบบหนึ่งนำไปสู่เผด็จการ อีกแบบหนึ่งนำไปสู่ประชาธิปไตย และอีกแบบนำไปสู่ลูกผีลูกคน คือไม่แน่ทั้งสองทาง (เช่น อินเดีย)

โดยอาศัยความคิดของ Moore เราพอจะมองเห็นว่าประชาธิปไตยและเผด็จการในเมืองไทยจะสลับสับเปลี่ยนกันขึ้นมาเป็นระบอบปกครองของประเทศต่อไป โดยไม่มีระบอบใดที่อาจนำความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริงมาสู่ประเทศได้เลย (ยกเว้นแต่เกิดอุบัติการณ์บางอย่างที่พลิกผันหรือทำลายโครงสร้างเดิมอย่างราบคาบ เช่น การปฏิวัติใหญ่ หรือการถูกยึดครองอย่างเด็ดขาดโดยต่างชาติ… ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตที่พอมองเห็น)

ผมขอพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้น (ซึ่งจำแนกด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างจากมาร์กซิสต์) และกับรัฐในสังคมไทย

ผมขอเริ่มจากชนชั้นเจ้าที่ดินก่อน เพราะเจ้าที่ดินสัมพันธ์กับชาวนาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จึงเป็นความสัมพันธ์ที่สำคัญมากในหลายสังคม

เจ้าที่ดินไทยนั้นเป็นชนชั้นเกิดใหม่ไม่นานมานี้ (แตกต่างจากพม่า, เวียดนาม และยุโรปซึ่งมีมาแต่โบราณ) ทั้งนี้เพราะระบบศักดินาไทยเปิดโอกาสให้มูลนายเข้าถึงแรงงานของไพร่โดยตรง ไม่ต้องผ่านกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน รัฐเก็บ “ค่าเช่า” จากชาวนาในรูปของหางข้าว, ค่านา และแรงงานเกณฑ์ มูลนายในท้องถิ่นนับตั้งแต่เจ้าเมืองลงมาเป็นผู้เก็บและได้ส่วนแบ่งไปมากน้อยตามแต่สถานการณ์

แต่ตลาดข้าวที่ขยายตัวขึ้นหลังเปิดประเทศ ทำให้ทั้ง “หลวง” และทุนร่วมมือกันในการผลักดันการผลิตข้าวเพื่อส่งออก ผู้ลงทุนขุดคลองคมนาคมเพื่อเปิดที่นาใหม่ มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินริมสองฝั่งคลองลึกเข้าไป 10-20 วาได้ตลอดลำคลอง ทำให้เกิดเจ้าที่ดินขึ้นจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นจีนหรือเชื้อสายจีน และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ อันเป็นเมืองท่าใหญ่ในการส่งออกข้าว

แต่เจ้าที่ดินในประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตในเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์โดยตรง จับที่ดินไว้เพื่อหากำไรจากค่าเช่าที่นาเป็นสำคัญ ด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ชาวนาผู้เช่าที่ดินหรือชาวนาที่ก่นสร้างที่นาเอง มีทุนน้อยเกินกว่าจะเสี่ยงกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพียงแต่อาจจ้างแรงงาน (ในรูปต่างๆ) มาเพิ่มปริมาณการผลิตให้เหนือการผลิตเพื่อยังชีพซึ่งเคยทำมาแต่เดิม

จนถึงทุกวันนี้ ผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้ที่ดินส่วนใหญ่ของตนเพื่อการผลิต จุดมุ่งหมายของการถือครองที่ดินจำนวนมากก็เพื่อเก็งกำไร

ยิ่

งไปกว่านี้เจ้าที่ดินไทยยังไม่ใช่ชนชั้นอิสระ แต่สัมพันธ์กับรัฐอย่างแนบแน่นแทบจะพูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งเดียวกัน ที่ดินได้มาก็เพราะพระบรมราโชบาย ครอบครองได้อย่างมั่นคงก็เพราะพระบรมราโชบาย (หรือหลัง 2475 คือนโยบายที่ดินของรัฐ) ซ้ำเกือบทั้งหมดยังมีอิสรยศของตำแหน่งราชการ หรือมีอิสรศักดิ์ของกำเนิดด้วย

แม้ว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นเจ้าของที่ดินขนาดเล็กของตนเอง แต่ไม่มีทุนจะพัฒนาการผลิตได้มากนัก ซ้ำที่ดินซึ่งถือครองยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ จึงเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ที่คุ้มกับการลงทุนปรับปรุงการผลิต แต่ในขณะเดียวกันชาวนาไทยก็ไม่ได้ถูก “กดขี่ขูดรีด” มากเท่าชาวนาฝรั่งเศสก่อนการปฏิวัติ หรือชาวนาเวียดนามและพม่าภายใต้ระบบอาณานิคม จึงไม่เกิด “กบฏชาวนา” ซึ่งจะหนุนช่วยการแข็งข้อของกระฎุมพีในเมือง

แม้สะสมทุนได้มาก แต่เงื่อนไขที่จะโน้มนำให้เจ้าที่ดิน, พ่อค้าสำเภา และเจ้าภาษีนายอากรเบนทุนของตนไปสู่การผลิตสมัยใหม่มีไม่มากนัก ทั้งเพราะข้อจำกัดที่อำนาจจักรวรรดินิยมสถาปนาไว้ และเพราะนโยบายของรัฐเอง ดังนั้นการผลิตด้านเกษตรกรรมเชิงพาณิชย์ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก จึงไม่เป็นผลให้เกิดชนชั้นกระฎุมพีที่ใหญ่และเข้มแข็งในเขตเมือง นอกจากกลุ่มเจ้าของโรงสีและพ่อค้าข้าวจำนวนไม่มากนัก

แท้จริงแล้วกระฎุมพีในเขตเมืองของไทยก็ไม่ใช่ชนชั้นอิสระมาแต่แรกแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นคนต่างชาติที่ต้องพึ่งพารัฐหรือคนของรัฐในการสะสมทุน หลังเปิดประเทศแล้วส่วนหนึ่งก็ยังต้องพึ่งพาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อีกส่วนหนึ่งพึ่งพาอำนาจและอิทธิพลของจักรวรรดินิยม ชนชั้นกระฎุมพีไทยจึงเป็นชนชั้นที่ไม่มีเหตุจะละทิ้งระบบ หรือเสี่ยงไปแสวงหาอิสรภาพมากไปกว่าที่ตนได้รับอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ชนชั้นกระฎุมพีในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ไม่ได้สะสมทุนจากการผลิตด้านอุตสาหกรรม เหตุดังนั้นจึงมีผลกระทบต่อสังคมไม่สู้จะมากนัก ชนชั้นแรงงานมีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นกุลีต่างชาติ แม้ว่าเริ่มมีการจัดองค์กรของตนเอง (โดยเปิดเผยและโดยลับ) แต่ไม่มีพลังมากพอจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้

จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไปแล้วนั่นแหละ จึงเกิดกระฎุมพีย่อยในเขตเมืองขึ้นจำนวนมาก จากการขยายตัวของภาคพาณิชย์และบริการในเขตเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระจากระบอบปกครองอย่างแท้จริง พึ่งพาแต่ตลาดภายในซึ่งไม่ใหญ่และกำลังซื้อไม่มาก จึงต้องแข่งขันกันสูง และมองเห็นอุปสรรคในการสะสมทุนของตนว่ามาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในขณะที่กระฎุมพีใหญ่ เช่น เจ้าของโรงสีและเครือข่ายการค้าที่กว้างขวางในวงจรอาณานิคมอังกฤษ ไม่สู้จะเดือดร้อนกับระบอบนัก

อีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่มปริมาณขึ้นมากคือ “คนชั้นกลาง” ซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าของทุน แต่มีรายได้สูงกว่าคนทั่วไปเพราะขายทักษะอาชีพของตนแก่นายจ้างได้ แม้ไม่มีพลังทางการเมืองโดยตรง หากเป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวต่ออุดมการณ์ใหม่ๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาสูงกว่าคนกลุ่มอื่น เมื่อปริมาณของ “คนชั้นกลาง” เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 จึงมีบทบาททางการเมืองสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม เหมือนในสังคมอื่นๆ คนชั้นกลางไม่ค่อยมีสำนึกทางชนชั้น ปฏิบัติการทางการเมืองหากจะมีขึ้นจึงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก

(ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธพลังขับเคลื่อนของอุดมการณ์ โดยเฉพาะสำนึกด้านชาตินิยม แต่อุดมการณ์อย่างเดียวที่ปราศจากปัจจัยทางสังคมหนุนช่วย ก็ยากที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จริงจังอะไรได้)

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ กระบวนการสร้างความทันสมัยในสังคมไทยถูกผลักลงมาจากข้างบน หรือชนชั้นนำของสังคม เช่นเดียวกับญี่ปุ่นสมัยเมจิ, ปรัสเซีย-เยอรมนี และรัสเซีย ซึ่งล้วนเข้าสู่ความทันสมัยโดยไม่นำไปสู่ประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่กลับนำไปสู่เผด็จการในรูปแบบต่างๆ แม้กระนั้นก็เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารในญี่ปุ่นและปรัสเซีย-เยอรมนี เพราะชนชั้นนำที่นำความทันสมัยได้สถาปนาระบบทุนนิยมที่แข็งแกร่งขึ้น ความเปลี่ยนแปลงในขนาดที่ไม่มากเท่านี้ก็เกิดในรัสเซียก่อนปฏิวัติเช่นกัน

แต่การเปลี่ยนเข้าสู่ความทันสมัยซึ่งชนชั้นนำไทยเป็นผู้นำนั้น เป็นความทันสมัยที่ค่อนข้างจำกัดอย่างมาก คือเกิดความเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและอำนาจทางการเมืองเป็นสำคัญ ไม่เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากไปกว่าปลดปล่อยไพร่ให้หลุดจากพันธะทางการเมือง กลายเป็นผู้ผลิตพืชส่งออกให้แก่ประเทศ เกิดระบบการผลิตและค้าข้าวที่หลายฝ่ายเข้ามาหาประโยชน์ โดยทางตรงหรือทางอ้อม

พูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือ กระบวนการเข้าสู่ความทันสมัยในประเทศไทยไม่ได้นำไปสู่ทุนนิยมจริงจัง เป็นระบบกึ่งๆ ทุนนิยมและการผลิตของระบบศักดินาแบบเดิม และส่วนของกึ่งศักดินาดังกล่าวก็ยังยึดเอาส่วนแบ่งกำไรของทุนนิยมสืบมาจนถึงปัจจุบัน อำนาจทางการเมืองที่กินส่วนแบ่งของทุนนิยมในสังคมตะวันตก ถูกต่อรองและจัดการจนกลายเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ในเมืองไทยถูกต่อรองและจัดการจนลงตัวออกมาในรูปของระบบ “เปอร์เซ็นต์, คอมมิชชั่น, ของขวัญ, นาฬิกาหรู และการรัฐประหาร”

การปฏิวัติ 2475 จึงมีฐานในสังคมที่แคบมาก แต่ไม่ถึงกับที่กล่าวกันว่า เฉพาะนักเรียนนอกไม่กี่คนชิงสุกก่อนห่าม แล้วเลยสามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ และเพราะมีฐานที่แคบเช่นนี้เอง จึงไม่สามารถพัฒนาการเมืองต่อไปจากจุดเริ่มต้นได้ไกลนัก อันที่จริงถ้าดูการปฏิวัติฝรั่งเศส (ตามที่ Moore บรรยายไว้) ก็จะเห็นได้ว่า กลุ่มคนจำนวนมากทั้งในเมืองและชนบท ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการ “ยึดอำนาจ” พากันเข้ามาเคลื่อนไหวด้วยเหตุเฉพาะหน้าของตนเองต่างๆ กัน (ทั้งด้วยวิธีรุนแรงและวิธีสงบ) จนทำให้การล้มล้างระบบศักดินาจนสิ้นซากเกิดขึ้นได้ในเวลาต่อมา ไม่ว่าจะเป็นเจตนาของผู้เริ่มการ “ยึดอำนาจ” หรือไม่ก็ตาม

คณะราษฎรได้แต่ “ยึดอำนาจ” แต่ไม่มีคนหลากหลายกลุ่มถือโอกาสนี้เข้ามาเคลื่อนไหวผลักดัน “วาระ” ของตนเอง ถึงมีบ้างในเขตเมืองก็ไม่แรงพอจะสถาปนาความสัมพันธ์ใหม่ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจหรือสังคมได้ ดังนั้นแค่ที่คณะราษฎรพยายามทำ เช่น ขยายการศึกษา ขยายการปกครองส่วนท้องถิ่น แก้กฎหมาย แก้ระบบราชการให้เป็นธรรมยิ่งขึ้น ฯลฯ ก็ถือว่าได้ทำไปมากอย่างไม่น่าเชื่อว่าจะทำได้โดยขาดฐานทางสังคมเช่นนั้น

ฉะนั้น เมื่อมองที่มาที่ไปทางสังคมของไทย ตามแนวของ Barrington Moore แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า ยากมากที่สังคมไทยจะพัฒนาไปสู่สังคมประชาธิปไตย ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ อีกมากทั่วโลกที่เป็นทุนนิยม แต่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีปัจจัยภายในที่ช่วยผลักดันไปสู่ระบอบปกครองเช่นนั้น

ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างลุ่มๆ ดอนๆ มาจนถึงวันนี้ได้ก็นับว่าน่าอัศจรรย์แล้ว

ผมคิดว่าความน่าอัศจรรย์นี้เกิดจากปัจจัยภายนอก (ซึ่ง Moore ไม่ได้นำมาวิเคราะห์โดยตรง) โลกาภิวัตน์ที่เข้มข้นขึ้นมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่อาจถอยกลับไปได้อย่างถาวร เผด็จการทหารต้องเที่ยวสัญญาและผิดสัญญากับคนทั่วโลกว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อนั้นเมื่อนี้ อันเป็นสิ่งที่ผู้นำจีน, เวียดนาม, บรูไน ฯลฯ ไม่ต้องทำ ระบอบปกครองไทยกลายเป็นความลุ่มๆ ดอนๆ ที่รอเวลาของปัจจัยภายในจะผลักไปสู่ประชาธิปไตยหรือเผด็จการในภายหน้า

ในขณะเดียวกัน ผมเชื่อว่าที่มาที่ไปทางสังคมของไทยดังที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่เพียงพอที่จะผลักให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้เผด็จการสมัยใหม่อย่างยั่งยืนเช่นกัน เพราะเผด็จการก็ต้องการปัจจัยภายในบางอย่างหนุนช่วยไม่ต่างจากประชาธิปไตย ซึ่งผมขอนำมาคุยในตอนต่อไป

(ยังมีต่อ)