วัลยา วิวัฒน์ศร : คิดถึงดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ

คิดถึงดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ (1)

เรื่องของดาร์ตาญังนั้นมีสามภาค

ภาคแรกคือ Les Trois Mousquetaires หรือ The Three Musketeers หรือ “ทแกล้วทหารสามเกลอ” หรือ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ”

ภาคสองชื่อ Vingt ans apr?s หรือ Twenty Years After หรือ “ยี่สิบปีให้หลัง”

ส่วนภาคสามมีสองชื่อ ชื่อเดิมคือ Dix ans plus tard หรือ Ten Years Later หรือ “สิบปีต่อมา” ชื่อนี้เปลี่ยนในภายหลังเป็น Le Vicomte de Bragelonne หรือ The Vicomte of Bragelonne / The Viscount de Bragelonne หรือ “ไวเคานต์ เดอ บราเฌอลอนน์”

การที่นักประพันธ์ตั้งชื่อนวนิยายของตนว่า “ยี่สิบปีให้หลัง” และ “สิบปีต่อมา” สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่านักประพันธ์มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักและนวนิยายภาคแรกของเขาประสบความสำเร็จชนิดถล่มทลายบันลือโลก ผู้อ่านอยากรู้ต่อว่าชะตาชีวิตของดาร์ตาญังกับสามทหารเสือจะเป็นเช่นไร นวนิยายจึงมีชื่อที่ระบุเวลาตรงๆ ซึ่งโดยปกติชื่อเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นชื่อนวนิยายได้ “ยี่สิบปีให้หลัง” ก็ประสบความสำเร็จ ผู้ประพันธ์จึงเขียนภาคสามต่อและตั้งชื่อว่า “สิบปีต่อมา”

ภาคสองมีความยาวกว่าภาคแรกเพียง 30-40 หน้า

แต่ภาคสามนั้นยาวกว่าสามเท่า! ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวันยาวนานสามปี!

ในภาคแรกหรือ “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” ผู้อ่านทราบว่าอะรามิส หนึ่งในสามทหารเสือมีสัมพันธ์รักกับดัชเชส เดอ เชอเวริส

ดัชเชสผู้นี้เป็นคนสนิทของพระราชินีอานน์ เธอถูกมหาเสนาบดีริชเชอลิเยอสั่งเนรเทศไปอยู่เมืองตูร์ส์เพื่อให้ห่างไกลจากปารีสและจากพระราชินี อะรามิสติดต่อกับเธอทางจดหมายโดยจ่าหน้าซองถึงมารี มิชง

แม้จะเป็นตัวละครที่ถูกกล่าวถึงและไม่เคยปรากฏตัวในนวนิยายภาคแรก แต่ดัชเชส เดอ เชอเวริส ก็มีบทบาทไม่น้อยในการลอบพาดยุคแห่งบักกิ้งแฮมเข้าเฝ้าพระราชินีเป็นการลับ และในการช่วยเหลือหญิงคนรักของดาร์ตาญังโดยอาศัยพระราชานุเคราะห์ของพระราชินี เรื่อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” จบลงโดยที่ผู้อ่านยังตระหนักถึงความรักระหว่างดัชเชสผู้นี้กับอะรามิส

ทว่าในภาคที่สอง “ยี่สิบปีให้หลัง” การณ์กลับปรากฏว่าอาโธสมีบุตรชายคนหนึ่งซึ่งผู้เป็นมารดาคือดัชเชส เดอ เชอเวริส

เป็นไปได้อย่างไรกัน ในเมื่อภาคแรกนั้นอาโธสไม่เคยพบปะดัชเชสผู้นี้ เขารู้ว่าเธอเป็นหญิงคนรักของอะรามิสเพื่อนของเขา และตัวเขาก็มีประสบการณ์เลวร้ายในเรื่องความรักจากภรรยาซึ่งทำให้เขากลายเป็นคนหม่นเศร้าและไม่ประสงค์จะวิสาสะเรื่องความรักกับผู้ใด

รายละเอียดเรื่องบุตรชายของอาโธสซึ่งมีชื่อว่าราอูลและมีบรรดาศักดิ์เป็นไวเคานต์ เดอ บราเฌอลอนน์ เปิดเผยในบทที่ 22 ของนวนิยาย

อาโธสพาบุตรชายซึ่งเขาเลี้ยงดูมาจนอายุสิบห้าโดยมิได้เปิดเผยความสัมพันธ์แท้จริงมาพบดัชเชส เดอ เชอเวริส เพื่อให้เธอส่งเสริมค้ำชูเขาต่อ

ดูมาส์บรรจงแต่งบทนี้อย่างละเมียดละไม นอกจากประเด็นเรื่องการถือกำเนิดของราอูลแล้ว บทนี้ยังมีการชมโฉมบุรุษ 2 คน คืออาโธสกับบุตรชาย

เมื่อเดินทางมาถึงปารีสและเข้าที่พักแล้ว อาโธสก็สั่งให้บุตรชายไปอาบน้ำแต่งตัวเพราะจะพาไปพบบุคคลผู้หนึ่งและเขาประสงค์ให้บุคคลผู้นั้นรู้สึกประทับใจในตัวราอูล เขาบอกบุตรชายว่า

“แต่งเนื้อแต่งตัวให้ดีนะ ราอูล ข้าอยากให้บุคคลผู้นั้นเห็นว่าเจ้างามสง่า”

เมื่อราอูลมาปรากฏตัวอีกครั้ง ดูมาส์บรรยายยาวหนึ่งย่อหน้าชมโฉมราอูลผ่านสายตาของอาโธส แล้วให้อาโธสพึมพำว่า “เอาละ หากหล่อนไม่รู้สึกภูมิใจในตัวเขา ก็ไม่รู้จะเอาใจหล่อนอย่างไรแล้ว”

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านย่อมอดตั้งคำถามในใจไม่ได้ว่า แล้วอาโธสเองเล่า เขาจะไปพบ “บุคคลผู้นั้น” เช่นกัน เขาแต่งเนื้อแต่งตัวดีด้วยหรือไม่

ดูมาส์เฉลยเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงการเข้าพบ บทพรรณนาชมโฉมอาโธสนั้นยาวสองย่อหน้าโดยผ่านสายตาดัชเชส เดอ เชอเวริส และจบลงว่า

“ทั่วทั้งเรือนร่างของบุคคลซึ่งมีผู้ประกาศนามอันไม่คุ้นหูเปล่งรัศมีของขุนนางตระกูลสูง จนมาดาม เดอ เชอเวริส ทรงตัวขึ้นนั่ง แล้วทำกิริยางดงามเชื้อเชิญให้เขาลงนั่งใกล้ๆ”

จะเห็นได้ว่าดูมาส์เว้นช่วงในการชมโฉมบุรุษทั้งสอง ชมทีละคนผ่านสายตาของตัวละครผู้มองดู อาโธสเป็นผู้ชมโฉมราอูล มาดาม เดอ เชอเวริส เป็นผู้ชมโฉมอาโธส มีช่วงห่างในการชมตามกาลเวลาและสถานที่เมื่อเรื่องดำเนินไป

ในบทนี้มีการชมโฉมสตรีเช่นกัน

ราอูลกังวลใจเมื่อทราบว่าบุคคลที่อาโธสจะพาเขาไปพบเป็นสตรีและอาโธสแสดงความจำนงว่า “ข้าอยากจะให้เจ้ารักนาง” ทั้งนี้เพราะหนุ่มน้อยราอูลมีดรุณีในดวงใจอยู่แล้ว เขาถามอาโธสว่า “นางงามหรือไม่ขอรับ” อาโธสตอบว่า “เมื่อสิบหกปีก่อน นางไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหญิงงามที่สุด หากยังขึ้นชื่อว่าทรงเสน่ห์ที่สุดในฝรั่งเศส”

เป็นการชมโฉมผ่านคำพูดของอาโธส และเป็นคำพูดที่ลบล้างความกังวลใจของราอูล เพราะ “สิบหกปีก่อน” นั้นเป็นเวลาก่อนที่ราอูลจะถือกำเนิดถึงหนึ่งปี

การชมโฉมดัชเชส เดอ เชอเวริส ครั้งที่สองเป็นการพรรณนาของผู้เล่าเรื่องเมื่อมหาดเล็กเปิดประตูห้องรับแขกส่วนตัวขนาดเล็กแล้วประกาศนามเคานต์ เดอ ลา แฟร์ ซึ่งก็คืออาโธสนั่นเอง

การพรรณนานี้มีขึ้นก่อนที่อาโธสจะปรากฏตัวต่อหน้าดัชเชส

“มาดาม เดอ เชอเวริส ซึ่งเราเคยกล่าวถึงบ่อยๆ ในเรื่อง “ดาร์ตาญังกับสามทหารเสือ” โดยไม่เคยปรากฏตัวในฉากนั้นยังคงความงามเป็นเลิศอยู่ อันที่จริงดัชเชสอายุสี่สิบสี่หรือสี่สิบห้าปีแล้วขณะนั้น แต่กลับดูเหมือนอายุเพียงสามสิบแปดหรือสามสิบเก้าปี ผมของหล่อนยังเป็นสีทองงามจับตา นัยน์ตากลมโตเปล่งประกายสดใสเปี่ยมปัญญา เป็นดวงตาซึ่งความเจ้าเล่ห์เพทุบายเปิดให้กว้างอยู่บ่อยๆ พอๆ กับที่ความรักลูบไล้ให้ปิดลงนับครั้งไม่ถ้วน เรือนร่างยังอรชรอ้อนแอ้นซึ่งหากเห็นด้านหลังชวนให้คิดถึงสาวน้อยที่กระโดดลงคูพระราชวังตุยเลอรีส์พร้อมกับอานน์แห่งออสเตรียเมื่อปี ค.ศ.1623 และทำให้ประเทศฝรั่งเศสสูญเสียมกุฎราชกุมารไปหนึ่งองค์

“กล่าวได้ว่าหล่อนยังเป็นหญิงยวนเสน่ห์คนเดิมซึ่งประทับตราแห่งความไม่เหมือนผู้ใดลงบนสัมพันธ์สวาทของหล่อนและสัมพันธ์สวาทนั้นก็แทบจะกลายเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนในตระกูล”

เมื่อเรียงลำดับการชมโฉมตัวละครทั้งสามในบทนี้ตามการดำเนินเรื่อง จะเห็นได้ว่าเริ่มด้วยการชมโฉมดัชเชส เดอ เชอเวริส ผ่านคำพูดของอาโธส ถัดมาคือการชมโฉมราอูลผ่านสายตาของอาโธส แล้วถึงการชมโฉมดัชเชสผ่านการบรรยายของผู้เล่าเรื่อง ลงท้ายด้วยการชมโฉมอาโธสผ่านสายตาของดัชเชส

กล่าวได้ว่าดูมาส์ใช้กลวิธีต่างๆ กันในการชมโฉม มีทั้งคำพูดและสายตาของตัวละคร อีกทั้งการบรรยายของผู้เล่าเรื่อง ผู้อ่านไม่รู้สึกว่าซ้ำซ้อนทั้งๆ ที่มีบทชมโฉมหลายครั้งในบทนี้

ความละเมียดละไมอันเกิดจากการบรรจงแต่งยังปรากฏในบทสนทนาซึ่งดูมาส์ใช้เพื่อเปิดเผยประเด็นการถือกำเนิดของไวเคานต์ เดอ บราเฌอลอนน์

อาโธสมาพบดัชเชส เดอ เชอเวริส เพื่อบอกเธอว่าเมื่อสิบหกปีก่อนเธอเคยนึกสนุกมีสัมพันธ์สวาทชั่วคืนกับเขาโดยเธอไม่รู้ว่าเป็นเขาและเขายังไม่รู้ว่าเป็นเธอ เธอมีพยานรักกับเขาและไม่รู้ว่าเขาได้เลี้ยงดูพยานรักจนเติบใหญ่

สุภาพบุรุษคนหนึ่งจะพูดกับสุภาพสตรีในเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้อย่างไร จึงจะไม่เป็นการหมิ่นเกียรติเธอ

แน่ละ ดูมาส์ทำได้ บทสนทนาระหว่างอาโธสกับดัชเชสชวนฟังชวนติดตาม (เพราะผู้อ่านเองก็ยังไม่รู้ว่าเรื่องเกิดขึ้นได้อย่างไร) ด้วยวาจาอันคมคายแฝงนัย ชวนฉงนแล้วเฉลย ถ้อยคำที่นุ่มนวลแนบเนียน ไม่กล่าวหา อีกทั้งยินดีที่จะกลบเกลื่อนเมื่ออีกฝ่ายยังไม่พร้อมที่จะยอมรับหรือเปิดเผย

อาโธสขอเข้าพบดัชเชสโดยแจ้งนามจริงคือ เคานต์ เดอ ลา แฟร์ เขาบอกสาเหตุแห่งการมาเยือนโดยเริ่มด้วยชื่ออาโธส ซึ่งย่อมนำไปสู่ชื่อดาร์ตาญัง ปอร์โธส และ…อะรามิส

ดัชเชสกล่าวว่า

“ขอบคุณที่ท่านทำให้ดิฉันได้ฟื้นความหลังซึ่งเป็นความทรงจำอันรื่นรมย์ของดิฉันเมื่อครั้งยังสาว”

จึงเป็นโอกาสให้อาโธสขออนุญาตดัชเชส “ฟื้นความหลังอีกเรื่อง”

อะรามิสรู้จักสาวน้อยดูแลงานผ้าคนหนึ่งที่เมืองตูร์ส์ เธอชื่อมารี มิชง เธอจงรักภักดีต่อพระราชินีเป็นที่สุด อาโธสจะไม่พูดถึงมารี มิชงในแง่ร้ายเป็นอันขาด เพราะจะเท่ากับว่าเขาไม่รู้คุณเธอ

พระคาร์ดินัลริชเชอลิเยอสั่งจับมารี มิชง แต่พระราชินีส่งคนมาเตือนเธอล่วงหน้า เธอจึงปลอมตัวเป็นชายสวมชุดอัศวินลงใต้มุ่งไปสเปนกับเค็ตตี้สาวใช้ วันหนึ่งทั้งสองมาถึงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งตอนพลบค่ำ ไม่มีที่พักสะอาด เธอจึงขอพักแรมในบ้านเจ้าอาวาส

พระอนุญาตถ้า “อัศวินหนุ่มน้อย” ผู้นี้พอใจเพียงอาหารเย็นที่เหลืออยู่และห้องนอนครึ่งหนึ่ง

มารี มิชง ตอบรับ พระจึงกำชับทั้งสองมิให้ทำเสียงดังนักด้วยพระเองก็ขี่ม้ามาทั้งวันและประสงค์จะนอนให้หลับคืนนี้