แมวจรจัด ไม่มีหมา | ปักกิ่งไม่อิงนิยาย

ลมหนาวกลางเดือนพฤศจิกายนย่านชานกรุงปักกิ่งสร้างความยากลำบากในการเดินทางพอสมควร ความจริงอากาศที่นี่เริ่มเย็นลงเรื่อยๆตั้งแต่เดือนตุลาคม อากาศหนาวอย่างเดียวแม้ว่าอุณหภูมิจะลงต่ำสัก 5 องศาอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็คงไม่รู้สึกอะไรสักเท่าไหร่ เพราะมันค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และถ้าวันไหนมีลมหนุนมาด้วยนี่สิ ลมจะพัดพาความหนาวเข้าใส่เราเวลาย่ำเดินจนรู้สึกเย็นยะเยือกไปทั้งตัว โดยเฉพาะใบหน้าที่ไร้อาภรณ์ปกปิด ทำให้รู้สึกว่า อาการหน้าชาเป็นอย่างนี้เอง

ตอนนี้ผมต้องใช้สูตรเสื้อ 4 กางเกง 3 รวมถุงเท้าและรองเท้า บางวันต้องเพิ่มถุงมือเข้าไปด้วย คือ ใส่เสื้อยืดแขนสั้น  เสื้อยืดแขนยาว  เชิ้ตทำงาน และโค้ตขนเป็ดปิดท้าย ส่วนกางเกงก็แน่นอนกางเกงใน กางเกงชั้นในขายาวถึงข้อเท้า และยีนส์ปิดท้าย บางคนอาจจะเพิ่มผ้าพันคอ และหมวกเข้าไปอีกแล้วแต่ว่าใครจะทนได้มากน้อยแค่ไหน ในปักกิ่งหรือประเทศจีนตอนนี้ เวลาเดินไปไหนตามท้องถนนจะเห็นแฟชั่นหน้าหนาวตัวกลมๆพองๆเป็นทิวแถว

วันนี้ผมออกจากที่ทำงานเกือบสองทุ่ม เพราะมัวเสียเวลาดูรูปรับปริญญาที่ลูกศิษย์หลายคนส่งเมลมาให้ ลิฟท์เปิดออกสู่โถงชั้น1 ผมเตรียมรูดซิปเสื้อโค้ตปิดให้ถึงต้นคอ พอเดินผ่านประตูชั้นนอกออกสู่ตัวตึกเท่านั้น ลมหนาวก็พัดโชยเข้ามา ผมหรี่ตา เอามือซุกในกระเป๋าเสื้อแล้วก้าวเท้ายาวๆรีบเดินให้ถึงจุดหมาย

ขณะเดินออกนอกประตู ผมเห็นเจ้าด่าง แมวเจ้าถิ่นประจำสถานีวิทยุนานาชาติจีนเดินสวนเข้ามา มันกำลังเดินเข้าไปในตึก ไปรับไออุ่นจากเครื่องทำความร้อน ผมหันมองเจ้าด่างเดินผ่านไป มันไม่สนใจผมเลย คงลืมไปแล้วว่า เคยได้น่องไก่จากผมสองสามครั้ง แมวที่นี่ทุกตัวขนยาวปุกปุยอ้วนท้วน เพราะมีคนให้อาหารพวกมันจนอิ่มหนำ เสียแต่ว่าสารรูปมอมแมม ไม่มีใครอาบน้ำให้ พวกมันไม่มีเจ้าของ อาศัยอยู่ตามมุมตามซอกตึกเป็นที่หลับนอน

ที่สถานีวิทยุฯมีแมวจรจัดอยู่ประมาณ 4-5 ตัว พวกมันมักจะมาด้อมๆมองๆแถวหน้าโรงอาหารหรือที่หน้าประตูตึกเป็นประจำ และมันจะสมหวังทุกครั้งไปจากผู้คนที่ทำงานอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะสาวหมวยทั้งหลายซึ่งนอกจากจะชอบให้อาหารแล้ว บางครั้งยังนั่งเล่นหยอกเย้ากับพวกเหมียวๆด้วย นอกจากเจ้าด่างที่ตัวใหญ่และอ้วนกลมที่สุด ยังมีนางขาวนวล เจ้าขาวดำ และไอ้ดำ ที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ ผมเรียกพวกมันตามสีขน ส่วนคนอื่นๆจะเรียกอย่างไรหรือพวกมันจะมีชื่อหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบ

ผมเดินฝ่าลมหนาวกลับไปยังคอนโดซึ่งอยู่ห่างจากที่ทำงานไม่ถึงหนึ่งกิโลเมตร ใช้เวลาไม่ถึงห้านาที วันนี้ลมไม่แรง ไม่ต้องใส่ถุงมือและไม่ต้องสวมหมวกเพื่อปิดส่วนหัวและใบหู ผมเดินเลยไปยังสวนสาธารณะตั้งใจว่าจะเดินเล่นสักรอบสองรอบแล้วค่อยขึ้นห้องไปต้มบะหมี่ทานเพราะนั่ง จุมปุ๊กทำงานมาทั้งวัน

ช่วงฤดูหนาวอย่างนี้ประมาณห้าโมงครึ่งฟ้าจะมืดแล้ว บางวันถ้ามีหมอกมีลมมาผสมด้วยละก็ผู้คนมักจะรีบกลับบ้านขึ้นห้องกันหมด  ต้นไม้ใบหญ้าในยามนี้ช่างเหงาหงอย เพราะเหลือเพียงลำต้นและกิ่ง ใบไม้ร่วงลงพื้นเกลื่อนกราดหรือไม่ก็ลอยละล่องไปตามแรงลม  เมื่อไม่มีใบดอกของมันก็ไม่ต้องพูดถึง ส่วนผืนหญ้านั้นก็ลู่ราบไปตามแรงลม ไม่ชูต้นเหมือนแต่ก่อน ผมเดินเอื่อยๆไปตามทางเดินของสวนสาธารณะที่ร้างไร้ผู้คน ได้ยินเสียงกรอบแกลบจากการเหยียบย่ำเศษใบไม้ เห็นยามสวมหมวกไหมพรมและโค้ตสีเขียวยืนอยู่ตามตึก นานๆจะมีคนเดินสวนมา บางคนเพิ่งกลับจากทำงาน หรือไม่ก็เป็นคนแก่จูงสุนัขตัวจิ๋วลงมาเดินเล่นหลังอาหาร

พูดถึงสุนัข  สัตว์เลี้ยงแสนซื่อของคนเรา ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ เชื่อไหมว่า ผมไม่เคยเห็นสุนัขข้างถนน หรือหมาจรจัดเลยสักตัวเดียว ยังนึกสงสัยไม่รู้ว่า เจ้าหน้าที่เขาจัดการได้อย่างไร บางทีน่าจะเอาไปใช้ที่บ้านเราบ้าง ไปไหนมาไหนมีแต่หมาจรจัดเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด นอกจากจะขับถ่ายเรี่ยราดแล้วบางทีก็ไล่เห่าไล่กัดกัน กัดกันเองไม่เท่าไหร่ ยังหันมาไล่กัดคนเดินเท้านี่สิ ต้องไปฉีดยากันวุ่นวาย และจากที่สังเกตดูชาวจีนมักนิยมเลี้ยงสุนัขตัวเล็กตัวจิ๋วกันทั้งเมือง ไม่เคยเห็นสุนัขตัวใหญ่อย่างอัลเซเชี่ยล ร็อคไวเลอร์ หรือพันธุ์อื่นๆเลย

ผมเคยถามซีซี เพื่อนที่ทำงานอยู่ที่หน่วยภาษาไทย สถานีวิทยุนานาชาติจีน เธอบอกว่า ที่เมืองจีน ตามเมืองใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ ชาวเมืองจะนิยมเลี้ยงสุนัขกันมาก เลี้ยงและรักเหมือนลูกของตัวเอง ไม่มีใครเอาสุนัขไปทิ้งขว้างตามวัดหรือตามท้องถนนให้เป็นภาระของพระหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมือง

“เราเพิ่งมานิยมเลี้ยงกันเมื่อ 10 กว่าปีนี้เองคะ เมื่อก่อนไม่มีใครเลื้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน นอกจากคนรวย” เธอว่า

“เป็นเพราะเปิดประเทศ และรัฐออกนโยบายลูกคนเดียวด้วยหรือเปล่า ทำให้คนเมืองหันมาเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อนมากขึ้น” ผมตั้งข้อสังเกต

“ก็เป็นได้คะ เศรษฐกิจดีขึ้น มีกินมีใช้กันมากขึ้น ครอบครัวคนเมืองเล็กลง ลูกๆไปเรียนไปทำงานต่างเมือง พ่อแม่หาสุนัขมาเลี้ยงแก้เหงา หนุ่มสาวซื้อหามาอยู่เป็นเพื่อน” ซีซีว่าและพูดต่อ “หนูก็เคยซื้อมาเลี้ยง แต่ตอนนี้เอากลับไปให้พ่อกับแม่เลี้ยงแล้วคะ”

“อ้าว… ทำไมละ”

“ไม่มีเวลาดูแลคะ เอาไปให้พ่อแม่ที่เหอหนานเลี้ยงดีกว่า ท่านจะได้ไม่เหงา” เธอว่ายิ้มๆ

“แล้วเลี้ยงพันธุ์อะไร ปักกิ่งหรือเปล่า ขายกันแพงไหม สุนัขตัวนึง” ผมถามต่อ

“เปล่าคะ เลี้ยงพุดเดิ้ล ซื้อมาพันกว่าหยวน” เธอว่า “ที่นี่ส่วนมากนิยมหมาฝรั่งคะ ถ้าพันธุ์ปักกิ่งจะไม่แพง”

“อือ… เหมือนที่บ้านผมนั่นแหละ นิยมของนอก แม้แต่สุนัข” ผมว่า

“แล้วทำไมเขาถึงชอบตัวเล็กจิ๋วกันละ” ผมถามต่อด้วยความอยากรู้

“อ๋อ…เปล่าหรอกคะ ถ้าสูงเกิน 35 เซนติเมตรรัฐจะไม่ให้เลี้ยงในเมือง เพราะเราอยู่ตึก ลำบากเรื่องขับถ่าย เสียงดังรบกวน   ถ้าสุนัขดุและตัวใหญ่จะเป็นอันตรายคะ”

“มิน่า ถึงไม่เห็นมีหมาใหญ่เลย” ผมถึงบางอ้อ

“ถ้าอยู่ต่างจังหวัดเลี้ยงได้ แต่คนต่างจังหวัดเขาก็ไม่เลี้ยงสุนัขกันหรอก ส่วนใหญ่เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่มากกว่า บางทีเราก็อยากเลี้ยงหมาตัวโตๆขนปุยๆบ้างเหมือนกัน” ซีซีว่า น้ำเสียงตัดพ้อ

ขณะที่เดินนึกเรื่องสุนัขเพลินอยู่นั้น เมื่อมองไปตามทางเดิน ผมเห็นหญิงสาวคนหนึ่งเดินจูงสุนัขมาแต่ไกล แต่ที่แปลกใจคือ สุนัขที่เธอจูงมานั่น ตัวใหญ่มากทีเดียว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า สูงเกิน 35 เซนติเมตรอย่างแน่นอน

เจ้าหมาตัวใหญ่ที่เดินขนาบข้างหญิงสาวมีขนยาวปุกปุยสีขาวแซมน้ำตาล จมูกแหลม หน้ายาว หูตั้งแลดูน่ารัก พอเดินเข้าไปใกล้ มองเห็นหน้าเจ้าของสุนัขชัดขึ้น ผมร้องทัก… เสี่ยวหลินนั่นเอง เธอเป็นนักแปลสารคดีชนชาติส่วนน้อยประจำหน่วยภาษาไทย เสี่ยวหลินเห็นผมเช่นกัน เธอยิ้มเดินตรงเข้ามา ผมยิ้มตอบ

“สวัสดีคะอาจารย์ เพิ่งกลับหรือคะ” เธอทัก

“ใช่ พักอยู่ที่นี่เหมือนกันหรือ” ผมถาม

“คะ อยู่ตึกทางโน้น” เธอชี้ไปทางตึกของเธอ ผมมองตามและหันกลับมามองเจ้าขนปุยตัวใหญ่ ที่กำลังดมโน่นดมนี่ตามประสาของมัน

“น่ารักดี ชื่ออะไรนะ”

“ตันตันคะ ยังไม่ถึงขวบเลยนะนี่” เสี่ยวหลินว่ายิ้มๆ

“หา… มันจะโตขึ้นอีกละสิ ก็เขาห้ามเลี้ยงไม่ใช่รึ” ผมถามขึ้น เสี่ยวหลินเงียบ หันมองซ้ายขวา พูดเสียงเบาเหมือนกลัวใครจะได้ยิน

“หนูแอบเลี้ยงนะคะ คือ ในเมืองเขาไม่ให้เลี้ยงหมาตัวใหญ่ แต่หนูชอบ มันน่ารักจะตาย”

“อ้าว… แล้วแอบยังไงละ พาออกมาเดินแบบนี้”

“ตอนค่ำกับเช้ามืดก็พามันลงมาเดินเล่น นอกนั้นให้อยู่แต่ในห้อง มันไม่ดุ แต่อาจจะเห่าบ้าง ถ้าไม่พามันลงมาเลย เดี๋ยวเฉาตายคะ”

“แล้วถ้ามีคนเห็น จะทำไงละ”

“ปกติไม่มีใครสนใจใครอยู่แล้ว ยามที่ตึกให้ค่าขนมเป็นสินน้ำใจบ้าง เขาก็ไม่ไปบอกเจ้าหน้าที่ ส่วนเพื่อนบ้านถ้าเราดีต่อกัน เขาก็ไม่ไปฟ้องเหมือนกันละคะ” เธอว่ายิ้มๆ

“อือ…ก็ดีนะ น่ารักดี” ผมว่าพร้อมกับเดินเข้าไปลูบหัวลูบตัวเจ้าหมาน้อยตัวใหญ่พลางนึกไปถึงเจ้าสีหมอก หมาพันธุ์ทอเรียของผมที่เลี้ยงไว้ที่เมืองไทย

“ไปก่อนนะคะ” เสี่ยวหลินว่าแล้วเดินไป ส่วนผมเดินตรงไปอีกทางหนึ่ง

 

สามวันต่อมา ผมเดินฝ่าลมหนาวมาทำงานเหมือนเคย เช้าวันนี้มีข่าวและบทรายงานมาให้ตรวจตามปกติ แต่วันนี้ดูเหมือนคุณเชี่ยนสือ รองหัวหน้าหน่วยภาษาไทยซึ่งทำหน้าที่บรรณาธิการข่าวภาคเช้าจะเสียงดังเป็นพิเศษ หลังจากที่วางสายโทรศัพท์ เธอพูดรัวและเร็วเป็นภาษาบ้านเกิดกับน้องๆในหน่วยอีก 2 คน คือ ซีซีกับมนตรี ซึ่งผมเองฟังไม่รู้เรื่อง แต่ตามปกติงานภาคเช้าจะมีคนมาทำงาน 4 คน แต่วันนี้มาไม่ครบ ขาดเสี่ยวหลิน เธอไม่มาทำงาน…

กระทั่งบ่าย ผม ซีซีและมนตรีลงไปทานข้าวที่โรงอาหาร ส่วนคุณเชี่ยนสือเตรียมตัวอ่านข่าวออกอากาศตอนเที่ยงจึงฝากซื้อแทนลงมาทานกับเรา ขณะเดินไปที่โรงอาหาร ผมถามขึ้นว่า เสี่ยวหลินไม่สบายหรือถึงไม่มาทำงาน

มนตรีกับซีซีหันมองหน้ากันแล้วยิ้ม มนตรีหนุ่มจีนแต่มีชื่อไทยด้วยอีกชื่อหนึ่งพูดขึ้นว่า “เปล่าหรอกอาจารย์ ออกจากบ้านไม่ได้” ผมฟังแล้วงงๆ ถามไปว่าทำไม ถูกใครขังไว้หรือไง คราวนี้ทั้งคู่หัวเราะกันใหญ่

“ขังตัวเองคะ” ซีซีว่า

“ทำไมละ” ผมงงกับคำตอบ

“เมื่อเช้าเสี่ยวหลินโทรมาบอกว่า มีคนมากดกริ่งที่ห้อง พอไปดูที่ช่องประตูปรากฏว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเคาะเลยไม่เปิด ต้องทำเป็นว่าไม่มีใครอยู่บ้าน เลยออกมาทำงานไม่ได้นะคะ ต้องรอให้ตำรวจไปก่อน” ซีซีว่า

“แล้วตำรวจมาทำไม” ผมสงสัย

“จะมาจับเจ้าตันตันไปนะสิคะ สงสัยเห่าเสียงดัง เลยมีคนโทรไปแจ้ง”

ผมพยักหน้า ไม่พูดอะไรต่อ นึกถึงเจ้าหมาน้อยตัวใหญ่หน้ายาวขนปุย ถ้ามันโดนจับไปคงน่าสงสารแย่ เราเดินมาถึงโรงอาหาร นอกจากผู้คนที่เดินเข้าออกกันขวักไขว่แล้ว พวกเจ้าด่างทั้ง 4 ตัวก็มายืนคอยท่าอยู่แถวหน้าประตูเช่นเคย

“ที่นี่ดีนะ มีแต่แมวไม่มีหมาจรจัดให้เห็นเลยสักตัว” ผมพูดขึ้นและพูดต่อว่า “ถ้าเจ้าตันตันโดนจับ ตำรวจจะเอาไปไว้ที่ไหน”

“ที่นี่ไม่มีที่สำหรับขังหมาจรจัด หรือหมาที่ไปจับมาหรอกอาจารย์” มนตรีว่า

“แล้วเขาเอาไปไว้ไหนละ”

“จะมีคนมารับซื้อ อาจารย์สนใจไหม วันหลังผมจะพาไปกิน ที่ปักกิ่งมีอยู่หลายร้าน” มนตรีว่าเรียบๆ

ผมไม่ตอบ ได้แต่ส่ายหัวไปมา ในใจภาวนาให้กับเจ้าตันตันรอดพ้นจากเภทภัยในครั้งนี้