จากขนมปัง “บาแก็ตต์” ฝรั่งเศส สู่ “เปอตีต์ แปง-บั๋นหมี่” ของชาวเวียดนาม อาหารยุคอาณานิคม

“บั๋นหมี่” ถือกำเนิดในเวียดนาม แต่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยเฉพาะที่ฝรั่งเศส ชาติที่เคยเป็น “เจ้าเข้าครอง” ของเวียดนามมาในอดีต

เป็นตัวอย่างของอิทธิพลเชิงวัฒนธรรมซึ่งในที่สุดก็ย้อนกลับไปหา “ราก” ของตัวเอง

ทำนองเดียวกันกับ “บาแก็ตต์” ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นขนมปังของชาวฝรั่งเศส เพราะชื่อก็เรียกกันว่าขนมปังฝรั่งเศส และนิยมกันมากในฝรั่งเศส ปารีเซียงหนุ่มสาวหนีบบาแก็ตต์ใต้รักแร้เป็นภาพสามัญที่พบเห็นกันทั่วไป

แต่ความดังกล่าวถูกเพียงครึ่งเดียว บาแก็ตต์ ต้นคิดเป็นของคนฝรั่งเศสก็จริง แต่คิดขึ้นเพราะใน “อูนิออง อินโดชินัวส์” อินโดจีนของฝรั่งเศสเพื่อเป็นเสบียงกรังให้กับทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในดินแดนอาณานิคมแห่งนี้ ตามคำบอกเล่าของ “เอริกา ปีเตอร์ส” นักประวัติศาสตร์อาหารระดับด๊อกเตอร์ชาวอเมริกัน

จุดเริ่มของเหตุการณ์นั้นย้อนหลังไปตั้งแต่ราวปี 1858 เรื่อยมาจนถึงปี 1946 เวียดมินห์จึงเริ่มก่อหวอดต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส

จาก “บาแก็ตต์” ขนาด 25-50 เซนติเมตร กลายเป็น “เปอตีต์ แปง” บาแก็ตต์ขนาดเล็ก ซึ่งปีเตอร์สบอกว่าในราวปี 1910 ก็เริ่มมีวางขายริมถนนให้ชาวเวียดนามใช้เป็นอาหารเช้าระหว่างเดินทางไปทำงานประจำวัน

“บาแก็ตต์” กลายเป็นของชั้นสูง
ส่วน “เปอตีต์ แปง” ก็ตกเป็นของผองญวนทั้งหลายไป

AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

“เปอตีต์ แปง” กรอบนอกนุ่มใน ผ่ากลางปาดด้วยครีมซอส ครีมมายองเนส เรียงผักกาดหอม แตงดอง ไชเท้า แครอต เนื้อหมูสไลด์ ก็กลายเป็น “บั๋นหมี่” ที่บางคนเรียกว่าแซนด์วิชเวียดนาม

ชาวฝรั่งเศสเดินทางมาใช้ชีวิตในเวียดนามอย่าง “เจ้า” ละเลยงานหนัก งานยากทั้งหลาย ทำให้คนญวน คนเวียดนามเชื้อสายจีน และคนจีนในท้องถิ่นกลายเป็นจับกังไปโดยปริยาย งานหนักสภาพการทำงานโหดๆ อย่างเช่น ในไร่ยางพารา ตกเป็นของคนท้องถิ่น

เช่นเดียวกันกับ กุ๊กในครัว หรือพนักงานในเบเกอรี่ หรือ “บูลองเฌอรีส์” ทั้งหลาย ถ้าไม่เป็นจีนก็ญวน

เชฟชาวฝรั่งเศสเลาะเศษเนื้อไม่งามทิ้ง ไม่ไยดีกับกระดูกชิ้นโต แต่กุ๊กท้องถิ่นตาโตกับเศษเหลือเหล่านั้น กระดูกที่ถูกทิ้งขว้างถูกนำมาเคี่ยว เจือด้วยเศษเนื้อและของเหลือใช้ต่างๆ

เท่านั้น กุ๊กชาวเวียดนามก็สร้างสรรค์จานอร่อยที่ขึ้นชื่อมาจนถึงเวลานี้ได้อีกอย่าง นั่นคือ “เฝอ”

“เฝอ” จึงเป็นอาหารอีกอย่างที่มีรากเหง้าจากยุคอาณานิคม

AFP PHOTO / HOANG DINH NAM

“บั๋นหมี่” มีให้ชิม ให้อิ่มท้องทั่วไปในเวียดนาม ตั้งแต่ฮานอยยันโฮจิมินห์ ซิตี้

แต่ถ้าถามนักท่องเที่ยว หลายคนบอกว่า บั๋นหมี่ อร่อยต้องไปกินที่ “ฮอยอัน” ตรงแผงไม่มีชื่อ เลขที่ 115 ถนนตรัน เกาวาน ที่มีโต๊ะนั่งทาน 2 ตัวกับตู้กระจก เป็นสัญลักษณ์

“เหวียน ทิ ลอค” วัย 78 ปีที่เป็นทุกอย่างของร้าน บอกว่าไม่เคยตั้งชื่อร้าน เพราะ “แค่ขายริมถนน ไม่ต้องมีชื่อหรอก เขินอยู่”

คุณยายลอคทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เธอยืนกรานว่าขนมปังที่ใช้ต้องแข็งกรอบและหอม ครีมซอสทำเอง มายองเนส ผักดองต่างๆ ต้องทำเอง ต้องตื่นแต่เช้ามืดทุกวัน เพื่อเตรียม “บั๋นหมี่” ให้พร้อมตั้งแต่เช้าอย่างน้อย 10 ชุด

ราคาขายชุดละ 36 บาท พิเศษต้องเพิ่มเงินอีก 18 บาท ขายได้วันละ 100 ชุด เครื่องดื่มอีกต่างหาก

เป็นร้านไร้ชื่อ แต่ ทริปแอดไวเซอร์ ยกให้เป็นร้านอาหารอันดับ 8 จาก 408 ร้านในฮอยอัน นักท่องเที่ยวหลายคนเรียกขานจนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ราชินีบั๋นหมี่”

“แกรี” ชาวซิดนีย์ได้เคยลองชิม แล้วทิ้งข้อความเอาไว้ที่ร้านสั้นๆ ว่า “หลายคนบอกว่านี่เป็นบั๋นหมี่อร่อยที่สุดในฮอยอัน ผิด! นี่เป็นบั๋นหมี่ที่ดีที่สุด ยอดเยี่ยมที่สุดบนโลกใบนี้”

สอดคล้องกับอีกรายที่ยืนยันว่า “นี่คือสุดยอดบั๋นหมี่ที่ผมเคยชิมมา บริการเป็นมิตร น่ารัก อย่าลืมดื่มชาสดตบท้าย”

ร้านไร้ชื่อของ ราชินีบั๋นหมี่ เหวียน ทิ ลอค ดังไกลไปจนถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จน เดือง ฮอง ชาวโฮจิมินห์ ซิตี้ ทนไม่ได้ต้องเดินทางมาชิมด้วยตัวเอง เธอบอกว่าบั๋นหมี่คุณยาย “อร่อย รสชาติต่างกับที่กินที่อื่นๆ โดยสิ้นเชิง”

ดังแล้วรู้สึกยังไง? “โอ แก่แล้ว แก่เกินไปที่จะไปแคร์เรื่องดังไม่ดัง”

“แค่มีความสุขที่ได้ทำอะไรสักอย่าง เติมความงามให้ฮอยอัน แล้วทำให้คนมาเที่ยวรู้สึกว่าเรายินดีต้อนรับเท่านั้นแหละ”

ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html
ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html
ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html
ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html
ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html
ภาพจาก dulichdanang.vn/vn/tin-tuc/nu-hoang-banh-my.html