กีฬาในร่ม (9)

ญาดา อารัมภีร

คนหยาบช้าสามานย์เช่นทุศศาสน์เหี้ยมโหดไม่แพ้ทุรโยธน์ที่จงใจทำให้นางเทฺราปทีอับอายขายหน้า “สงครามภารตคำกลอน” บรรยายว่าทุศศาสน์หรือทุหศาสัน

“ตรงเข้ายึดยื้อแย่งเครื่องแต่งกาย ตามบัญชาพี่ชายไม่ช้าที

แสนสงสารเทฺราปทีนารีนาถ ให้หวั่นหวาดพระกมลเสือกสนหนี

นางขอความช่วยเหลือเอื้ออารี จากท่านที่นั่งดูทุกผู้ไป”

“มหาภารตยุทธ” ที่สองศิลปินแห่งชาติ อาจารย์กรุณาและศาสตราจารย์พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย แปลและเรียบเรียง สะท้อนภาพนางเทฺราปทียามนี้

เมื่อถูกคุกคามหนักเช่นนั้น และเมื่อมองไม่เห็นว่าจะมีผู้ใดมาช่วยนางได้ ด้วยความตระหนกตกใจเป็นที่สุด เทฺราปทีผู้น่าสงสารจึงก้มศีรษะลงซบกับฝ่ามือทั้งสอง พลางน้อมจิตรำลึกถึงพระกฤษณะผู้เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งในโลก พร้อมกันนั้นนางก็เปล่งวาจาขึ้นว่า

‘โอ้! นารายณ์! โอ้! พระบิดา! ขอได้โปรดประทานพระเมตตาแก่ข้าน้อยในยามวิบัติครั้งนี้ด้วยเถิดพระเจ้าข้า’

ทันใดนั้น ผ้าส่าหรีที่ทุหศาสันกำลังดึงออกจากร่างของนางเทฺราปทีก็คลี่ยาวมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยที่ร่างของนางไม่ต้องอยู่ในสภาพเปลือยเลย ทั้งนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์แก่ผู้คนทั้งหลายที่อยู่ในสภาเป็นอย่างยิ่ง พฤติการณ์ดังกล่าวทำให้ทุหศาสันเองถึงกับตัวสั่นด้วยความตระหนกตกใจ และเมื่อเห็นว่าแม้จะพยายามดึงทิ้งไปสักเท่าไรๆ ผ้าส่าหรีก็ไม่มีวันหมดสิ้นสักที! ในที่สุดด้วยความเหนื่อยอ่อน ทุหศาสันก็หยุดการกระทำอันน่าบัดสีนั้น!

 

ความคึกคะนองลำพองใจทำให้ทุรโยธน์บังอาจหันหน้าไปยิ้มใส่นางเทฺราปทีซึ่งกำลังอยู่ในสภาพที่โศกเศร้าสุดจะพรรณนา พลางกวักมือเรียกนางแล้วชี้ให้นางมานั่งบนตักของตน

คนทั้งหลายจ้องมองเหตุการณ์อัปยศด้วยท่าทีตื่นตะลึง ท่ามกลางความเงียบงัน เสียงภีมะ (น้องชายคนรองของยุธิษเฐียรหรือยุธิษฐิระ) แผดก้องด้วยเหลืออด ดังสะท้านใจทุกผู้ ดังที่ศุภร ผลชีวิน พรรณนาไว้ในคำกาพย์เรื่อง “มหาภารตยุทธ” ว่า

“โปรดฟังข้าดังนี้ ตราบใดที่ไม่ฆ่ามัน

อย่าได้ไปสู่สวรรค์ พบผองบรรพ์บุรุษเลย

ถุยทุดเจ้าทุศศาสน์ เกิดโอกาสแล้วเจ้าเอ๋ย

ขอฉีกสองซีกเผย ทรวงดื่มเลือดล้างเดือดนา

เชษฐาถ้าอนุญาต ลูกธฤตราษฎร์เหล่านี้ข้า

ทุบม้วยด้วยหัตถา ถมแผ่นดินจนสิ้นวงศ์

ทุรโยธน์โหดนั้นหนา ขอหักขาสองข้างประสงค์

โสดฟังเลือดหลั่งลง ชโลมดินจนสิ้นใจ”

ทุรโยธน์หาได้ใส่ใจท่าทีของภีมะไม่ กลับเย้ยหยันยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียรอย่างย่ามใจในชัยชนะ

“เธอผู้ซื่อถือสัตย์จงตรัสชี้ ให้แก่ผู้ที่พิศวงสิ้นสงสัย

เธอเสียทรัพย์ทุกสิ่งจริงหรือไร? เสียเวียงชัย, เสียน้อง, ตัวของเธอ

เสียทั้งพระมหิษีผู้มียศ แก่เราหมดหรือไฉนอย่าไพล่เผลอ

บอกเขาหน่อยเพื่อกันฝันละเมอ แห่งผู้เซ่อเซอะสิ้นคำนินทา”

(สงครามภารตคำกลอน)

 

ไม่มีเสียงตอบจากยุธิษฐิระหรือยุธิษเฐียรแต่อย่างใด มีเพียงเสียงเฮฮาครึกครื้นของฝ่ายเการพ อีกเสียงที่แทรกซ้อนเข้ามาในเวลาเดียวกัน ทำเอาอำมาตย์วิทูรผู้ผ่านงานมาหลายแผ่นดินถึงกับสะดุ้ง กายสั่นเทาคือ

“เสียงหอนอันเยือกเย็นโหยหวนของบรรดาสุนัขจิ้งจอกก็ดังก้องมาจากโหมศาลาอันได้แก่สถานที่ประกอบพิธีบูชายัญ พร้อมกันนั้นก็มีเสียงขานรับเป็นทอดๆ ของเหล่าลา และวิหคนกกาดังเซ็งแซ่ประสานกันขึ้นมาจากทั้งสี่ทิศ” (“มหาภารตยุทธ” กรุณา – เรืองอุไร กุศลาสัย)

ไม่เพียงวิทูรอำมาตย์เท่านั้นที่ได้ยิน แม้พระชนนีของทุรโยธน์ ท้าวภีษมะญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเการพและปาณฑพ โทฺรณาจารย์ ต่างได้ยินถนัดชัดเจน พร้อมใจกันกราบทูลท้าวธฤตราษฎร์ ราชาตาบอดว่า

“ขอเดชะ อันลางร้ายซึ่งได้อุบัติขึ้นนี้เป็นเครื่องเตือนสติแล้วว่าองค์ทุรโยธน์ ศกุนิ ทุหศาสัน และพรรคพวกคนอื่นๆ จะต้องยุติการก่อกรรมทำเข็ญกับพี่น้องปาณฑพเสียตั้งแต่บัดนี้ มิฉะนั้นแล้วก็น่ากลัวว่าจะเกิดภัยพิบัติอย่างใหญ่หลวงขึ้นในแผ่นดินของเราเป็นแน่แท้”

แม้จะไม่ทรงเห็นด้วยเท่าใดนักดังจะเห็นได้จากท่าทีนิ่งอึ้งและอิดเอื้อนเพียงครู่หนึ่ง แต่ท้าวธฤตราษฎร์ก็ให้ยุธิษฐิระและนางเทฺราปทีเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด ดังที่ “มหาภารตยุทธ” ถ่ายทอดรับสั่งไว้ดังนี้

“หลานรักทั้งสอง! ลุงขอแสดงความเสียใจด้วยกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น มันเป็นความผิดของพวกลูกๆ ของลุง แต่เพื่อเห็นแก่วงศ์ตระกูลของเรา ขอให้หลานจงลืมมันเสียเถิด ลุงขอคืนเสรีภาพให้แก่เจ้า และอนุญาตให้เจ้ากับน้องๆ รวมทั้งมารดากลับไปอยู่กันในบ้านเมืองของเจ้าพร้อมด้วยทรัพย์สินทั้งหมดที่เจ้าใช้เป็นเดิมพันในการเล่นสกาครั้งนี้ ขอให้เจ้าทั้งหมดประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด!”

ปาณฑพทั้งห้าและนางเทฺราปทีทำตามรับสั่งอย่างงุนงง กราบทูลลาและออกเดินทางกลับนครอินทรปรัสถ์ ผู้แพ้จะจากไปอย่างสบายๆ เหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นได้หรือ

ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร