ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กรกฎาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | การ์ตูนที่รัก |
ผู้เขียน | นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ |
เผยแพร่ |
รูปสลักพระพุทธเจ้าในสถานะมนุษย์รูปแรกๆ มาจากแคว้นคันธาระ ปากีสถาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 โดยได้รับอิทธิพลจากกรีกครั้งที่อเล็กซานเดอร์มหาราชยกทัพมาถึง ส่วนการจัดวางองค์ประกอบได้รับอิทธิพลจากโรมัน เรียกว่า Greco-Buddhism ดูรูปตรัสรู้ที่พุทธคยา Freer Gallery of Art กรุงวอชิงตัน (Kleiner FS, Gardner’s Art Through the Ages, 2nd edition, 456-457.)
ผลงานเขียนการ์ตูนเรื่องใหม่ของ Adisak Das Pongsampan มีคำโปรยภาษาไทยว่าพุทธประวัติฉบับคอมิค ไม่มี ส เสือ การันต์ ภาคก่อนตรัสรู้ เห็นว่าจะทำเป็นไตรภาค นี่เป็นภาคแรก
นักเขียนไทยเขียนพุทธประวัติแล้วตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษย่อว่า BBB หน้าปกลายเส้นการ์ตูนแท้ๆ รายละเอียดมาก ลงสีสวย ดูเหมือนพระพุทธเจ้าจะหล่อล่ำกำยำกล้ามเนื้อเป็นมัด ท่อนขาแข็งแรง มีสตรีชาวอินเดียคุกเข่ารอใส่บาตรข้างทาง ฤๅษีนั่งเรียงราย แถมวัวเผือกอีกหนึ่งตัว
ไม่รอช้าที่จะเปิดอ่านดู
ย่อหน้าที่แล้วเป็นใบหุ้มปก เปิดมาพบปกหน้าแท้ๆ คีนู รีฟส์ นั่งสมาธิอยู่กลางป่า อย่าลืมว่าคีนู รีฟส์ เคยรับบทพระพุทธเจ้ามาก่อนแล้วในหนัง Little Buddha ปี 1993 ของแบร์นาโด แบร์โตลุชชี่ เวลานั้นแบร์โตลุชชี่โด่งดังมากแล้วจากเรื่อง The Last Emperor คนดูคาดหวังว่าจะเห็นงานระดับเดียวกันอีกครั้งหนึ่งซึ่งก็ทำได้ไม่เลว ไม่เคยคิดเลยว่าคีนู รีฟส์ จะกลายเป็นไอคอนระดับโลกอย่างที่เห็นในวันนี้
ในหนัง Little Buddha คีนู รีฟส์ ออกจะขี้ก้าง มิได้มีกล้ามเนื้อเป็นมัดอย่างที่เห็นในหนังสือการ์ตูนเล่มนี้
ผู้สร้างการ์ตูนเรื่องนี้เขียนอธิบายไว้ว่าได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปยุคคันธาระ (Gandhara) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน พระพุทธเจ้าจึงดูสมบูรณ์เพอร์เฟ็กต์
ศิลปะแบบคันธาระเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ.120-162 ที่บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานปัจจุบันและบางส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอัฟกานิสถาน
พระพุทธรูปยุคคันธาระมีสองแบบ คือ อิริยาบถยืนและอิริยาบถนั่ง หากเป็นอิริยาบถนั่งก็จะเป็นขัดสมาธิเพชร สามารถเห็นฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ลองเปรียบเทียบรูปหน้าปกอีกครั้งหนึ่ง
ที่จริงคนทั่วโลกรู้จักพระพุทธรูปที่ได้รับอิทธิพลจากยุคคันธาระมาก่อนแล้ว คือข่าวใหญ่สะเทือนใจเมื่อปี 2001 (ปีที่ตึกเวิลด์เทรดถล่ม) เมื่อทาลิบันยิงปืนใหญ่ทำลายพระพุทธรูปอิริยาบถยืนสององค์ที่บามียาน (Bameyan)
พระพุทธรูปแห่งบามียาน เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ฝังเข้าไปในหน้าผาที่หุบเขาบามียาน ประมาณ 130 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงคาบูล ตั้งอยู่ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,500 เมตร มีสององค์ องค์เล็กสูง 38 เมตร สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.544-595 องค์ใหญ่สูง 55 เมตร สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ.591-644 บริเวณนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหม
พุทธศาสนาบริเวณนี้เป็นมหายานต่างจากหนังสือการ์ตูนเรื่องนี้ที่ดำเนินเรื่องแบบหินยาน ชวนให้นึกถึงมังงะเรื่อง Buddha ของเท็ตซึกะ โอซามุ ปี 1972-1983 ความยาว 8 เล่มจบ ที่ซึ่งสิทธารถะต้องผจญภัยศัตรูมากมายอย่างสนุกสนาน ตลกขบขันสลับจริงจังไม่ทำเล่น
แต่เราจะเก็บเรื่องนี้ไว้ก่อน ตอนนี้มาอ่านการ์ตูนคอมิกส์ มี ส เสือ การันต์ฝีมือคนไทยกัน
สามหน้าแรกเป็นภาพสีพระพุทธเจ้าเสด็จไปตามป่าเขาลำธารและท้องทุ่งประมาณๆ ย่อหน้าแรกในหนังสือกามนิต ของเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป นั้นแล ทรงจีวรสีไม่เหลือง เผยหัวไหล่กว้าง และหน้าอกเบื้องขวาเป็นมัดกล้ามอย่างชัดเจน ก่อนที่จะแฟลชแบ็กไปครั้งที่ออกจากวังวันแรก
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมนายฉันนะนั่งม้ากัณฐกะมาด้วยกัน ควบเร็วเพียงใดดูได้จากนายฉันนะตัวลอยหวิดตกม้าไปแล้ว ภาพเล็กภาพหนึ่งโฟกัสม้ากัณฐกะไม่มีเกือกม้า (พุทธประวัติคลาสสิกเล่มอื่นๆ ม้าไม่มีเกือกเหมือนกัน) ม้ากัณฐกะตะบึงลงน้ำเชี่ยวกรากที่ขวางหน้าพาคนสองคนข้ามไป ตอนนี้ภาพเปลี่ยนเป็นการ์ตูนขาวดำแล้ว นอกจากภาพเคลื่อนไหวดียิ่งการถมดำก็เป็นเลิศ
เมื่อข้ามแม่น้ำอโนมาได้เจ้าชายสิทธัตถะจึงถอดเครื่องทรงและพระมาลา พระเกศาสีไม่ดำสยายยาว ใช้พระขรรค์ปลงพระเมาลีแล้วโยนขึ้นกลางอากาศ เกิดอัศจรรย์ที่กลางอากาศนั้น จากนั้นจึงให้นายฉันนะนำเครื่องแต่งกายกลับกรุงกบิลพัสดุ์แต่ม้ากัณฐกะล้มลงขาดใจตายตรงนั้น ไม่รู้เหมือนกันนายฉันนะจะเดินกลับอย่างไร
นักบวชหนุ่มเดินทางต่อไปถึงแคว้นมคธ ถัดจากฉากที่ใบหุ้มหน้าปกจะเป็นฉากสำคัญเขียนรูปอลังการ คือเมื่อพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธทรงราชรถออกตามหามุนีหนุ่มที่ชาวบ้านร่ำลือกัน พระองค์ได้เข้าเฝ้า สนทนา
และชักชวนเจ้าชายสิทธัตถะกลับพระราชวังแห่งแคว้นมคธตามที่เขียนไว้ในพุทธประวัติ
เห็นความวิจิตรของรูปตอนออกบวชและพระเจ้าพิมพิสารเข้าเฝ้าแล้วก็อดคิดถึงที่โอซามุเขียนฉากเดียวกันนี้มิได้
เปรียบเทียบฉากเดียวกันที่โอซามุเขียนไว้ ม้ากัณฐกะมิได้ล้มลงแต่ยืนเด่นเป็นสง่าส่งนายของตัว เจ้าชายสิทธัตถะมิได้โยนพระเมาลีขึ้นกลางอากาศแต่มอบให้นายฉันทะพร้อมสั่งให้นำกลับไปให้พระนางยโสธรา พระเจ้าพิมพิสารยังหนุ่มยังแน่นยกทัพมาถึงเชิงเขาแล้วลงม้าเดินเท้าขึ้นเขาแต่ผู้เดียว ได้ชักชวนนักบวชหนุ่มกลับวังเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีราชสมบัติอะไรหยุดยั้งเจ้าชายสิทธัตถะได้อีก พระเจ้าพิมพิสารก่อนเสด็จกลับหันมาพูดว่า “หม่อมฉันมีพระนามใหม่ให้แก่พระองค์ – พุทธะ”
หลังจากนี้พระองค์จะเดินทางไปศึกษาวิชากับอาฬารดาบสและอุทกดาบสดังที่ทราบกัน หลังสำเร็จระดับหนึ่งดาบสทั้งสองชักชวนให้อยู่สั่งสอนลูกศิษย์ด้วยกันก็ไม่เป็นผล พระองค์ดำเนินต่อไป จบภาคหนึ่งเท่านี้ ความตอนนี้ในฉบับมหายานของโอซามุหนักไปทางตลกขบขัน อาฬารดาบสเคราขาวออกแนวด้านสว่างมีเมตตา อุทกดาบสเคราดำออกแนวด้านมืดดุดันมากกว่า แต่ทั้งสองก็ยอมรับนับถือในพระปรีชาญาณและจะเฝ้ารอวันตรัสรู้
ขอปิดท้ายด้วยการเปิดสมุดภาพพุทธประวัติโดยเหม เวชกร ม้ากัณฐกะล้มลงขาดใจตายหัวใจแตกเป็นเสี่ยงเมื่อข้ามฝั่งแม่น้ำอโนมากลับไป ไม่มีฉากโยนพระเมาลีขึ้นท้องฟ้า และไม่มีฉากพระเจ้าพิมพิสารขนานนามพระองค์ว่าพุทธะ
สนุกครับ ภาพสวยงาม •
การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022