“ประจาน” บทลงโทษมาแต่สมัยอยุธยา และต้องไปที่ “ตลาด”

ญาดา อารัมภีร
พระลักษณวงศ์ และพราหมณ์เกสร หรือนางทิพเกรส ขณะปรนนิบัติรับใช้ ภาพวาดโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต (ภาพจาก หนังสือ อิเหนา ลักษณวงศ์ สมุทรโฆษ)

ประจาน (3)

 

หนังสือ “ประวัติศาสตร์แห่งราชอาณาจักรสยาม” ที่นายปอล ซาเวียร์ แปลจากเรื่อง “Histoire du Royaume de Siam” ของนายฟรังซัวร์ อังรี ตุรแปง (กรมศิลปากรจัดพิมพ์ พ.ศ.2530) เล่าถึงกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาของไทยสมัยอยุธยาเกี่ยวกับการประจานและการประหารชีวิตไว้ว่า

“นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตนั้นถูกล่ามโซ่ แล้วพาไปตระเวนรอบเมืองในเรือลำหนึ่ง ซึ่งมีคนตีแผ่นทองแดงเป็นระยะๆ แล้วร้องบอกเสียงดังว่า เพราะเหตุใดผู้กระทำผิดจึงถูกตัดสินลงโทษ

“ผู้ที่ถูกลงโทษ แต่ไม่ถึงขั้นประหารชีวิตนั้น จะถูกนำมาที่ตลาดให้ทุกคนเห็น”

น่าสังเกตว่าในวรรณคดีมีการประจานนักโทษประหารในตลาด ดังกรณีพราหมณ์เกสร (นางทิพเกสร) เป็นคนโปรดของพระลักษณวงศ์ มเหสียี่สุ่นอิจฉาหาเรื่องใส่ความว่าพราหมณ์ลวนลามนาง พระลักษณวงศ์จึงสั่งประหารพราหมณ์

นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เล่าถึงพราหมณ์ถูกนำตัวเดินประจานผ่านตลาด ผู้คนพากันมุงดูและวิจารณ์ต่างๆ นานา

“ฝ่ายพวกเพชฌฆาตอันอาจหาญ ก็เตรียมการหอกดาบปลาบไสว

เข้าผูกมัดพราหมณ์พลันด้วยทันใด เอาโซ่ใส่คอจูงออกนอกวัง

ให้ดาบแดงเดินหน้าออกกลากกลาด พวกตลาดวิ่งดูออกพรูพรั่ง

บ้างก็ว่าหน้านวลไม่ควรชัง อนิจจังพึงเห็นน่าเอ็นดู

ดังดวงจันทร์แจ่มจัดจำรัสโรจน์ มาต้องโทษสีสลดน่าอดสู

บ้างก็ว่าใครบอกให้หยอกงู ช่างไม่รู้รักตัวจนตัวตาย

พวกสามานย์ก็ประจานให้อดสู ได้กินหมูแล้วมาปลิ้นลงกินหวาย

ได้ห่มส่านแล้วไม่สมลงห่มลาย ไม่เจียมกายเลยไม่รู้จะดูเงา”

 

“กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ทั้งสองเล่ม มีหลายตอนกล่าวถึงการประจานในตลาด รายละเอียดต่างกัน

‘พระอายการอาญาหลวง’ ในเล่ม 2 ระบุโทษความผิดของกำนันตระหลาด หรือกำนันตลาด (ผู้มีหน้าที่ควบคุมดูแลความเรียบร้อยของตลาด คุมราคาสินค้า และเก็บค่าพื้นที่วางขายสินค้า) กลับทำผิดเสียเอง เรียกเก็บอากรจากผู้ขายสินค้าในตลาดเกินกว่าที่กำหนดไว้

“มาตราหนึ่ง กำนันตระหลาดเกบเอาหัวเบี้ยแลกอบเอาเบี้ยแก่ลูกตระหลาดล้นเหลือพิกัดอัตรา ท่านว่าเลมีดพระราชอาญา ให้ลงโทษทวนด้วยไม้หวาย 15 ที แล้วให้เอาประจานจนรอบตระหลาด แล้วเอามาจำใส่ขื่อไว้สามวัน ให้คืนเบี้ยซึ่งเกบเกิน ให้แก่ลูกตระหลาดจึ่งให้พ้นโทษ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘หัวเบี้ย’ และ ‘เบี้ย’ ในที่นี้คือ ‘อากรตลาด’ หมายถึง ค่าธรรมเนียมในการวางสิ่งของ (กฎหมายตราสามดวง : พระทำนูน ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) เป็นเงินที่พ่อค้าแม่ค้าจ่ายให้รัฐเพื่อรับสิทธิขายของในตลาดนั่นเอง

นอกจากนี้กำนันตลาดที่รู้เห็นเป็นใจให้ลูกตลาดหรือพ่อค้าแม่ค้าทำผิดกฎข้อบังคับการค้าขาย ไม่ห้ามปรามตามหน้าที่ โทษหนักกว่าเก็บอากรเกินเสียอีก

“อนึ่ง กำนันตระหลาดผู้ใดรู้เหนว่าลูกตระหลาดบังอาจ์ซื้อขายสิ่งของต้องห้ามแก่ผู้มาต่างเมือง แลตนหมีห้ามละให้ซื้อขาย ท่านให้เอากำนันตระหลาดมาลงโทษทวนด้วยลวดหนัง 25 ที แล้วให้เอาประจานจนรอบตระหลาด กลับมาจำใส่ขื่อไว้สามวัน จึ่งให้เอาสิ่งของต้องห้ามตั้งไหมทวีคูณ”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

ไม่ว่าจะเป็นความผิดดังที่กล่าวมาข้างต้น หรือความผิดทางอาญาเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ปล้น ชิง ลัก มีโทษหนักเบาลดหลั่นกันไปตามการกระทำ ‘พระไอยการลักขณโจร” ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 ระบุโทษการลักอาหารการกินราคาไม่เท่าไหร่ กับการชิงอัญมณีมีราคาไว้แตกต่างกัน

117 “มาตราหนึ่ง ถ้าลักแต่ผักฟักถั้วเนื้อปลาหมูเปดไก่ของกินค่าเปนแต่เบี้ย 100 เบี้ย 1000 ให้ตี 15 ที 25 ที แล้วให้ประจานรอบตลาดให้ใช้ของท่านคืน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

กรณีต่อมาผู้กระทำผิดนอกจากถูกปรับเงิน ยังถูกประจาน ดังนี้

116 “มาตราหนึ่ง ถ้าผู้ใด ชิ่งเอาอัญมณีแก่ราษฎรผู้ซื้อขาย แลหมีได้ซื้อขายก็ดี ให้จับเอาตัวผู้ร้ายจงได้ ให้เอาไปยังพระนครบาน ให้ลงโทษแก่ผู้นั้น ถ้าทรัพยแต่ภอประมาณ 500 เบี้ย ให้ไหมแล้วเอาทรัพยแขวนคอทะเวนรอบตลาด 3 วัน อย่าให้มันดูเยี่ยงหย่างกัน”

ยิ่งไปกว่านั้น ‘พระไอยการลักษณผัวเมีย’ ใน “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 1 ยังกล่าวถึงโทษผิดประเวณีในหมู่ญาติ นอกจากถูกจองจำ สักหน้า ยังถูกลงโทษประจานหลายวิธีทั้งในเมืองและนอกเมือง

35 “มาตราหนึ่ง หลานทำชู้ด้วยเมียลุงตา ปู่อาวอาน้าพี่ตนเอง มันผู้มิกลัวเกรง มันมิอายแก่บาบดั่งนั้นให้เอามันคนร้ายจำใส่ตรวน ขื่อ คา เอาน้ำมึกศักหน้าทังหญิงชาย เอาเชือกหนังผูกคอเอาฆ้องตีทะเวนรอบตลาด แล้วเอาขึ้นขาหย่างยิงด้วยลูกสันโดด (= ลูกกระสุนที่ยิงด้วยคันกระสุน) แลให้ตีด้วยลวดหนัง คละ 25 ที 50 ที แล้วให้ทำแพลอยเสียนอกเมือง อย่าให้ดูเยี่ยงกัน”

ประจานในตลาด เพราะตลาดเป็นที่สาธารณะสำหรับค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า

เป็นศูนย์รวมชุมชนผู้คนคับคั่ง

เหมาะประกาศความชั่วให้รู้ทั่วถึง มิให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

คนทั้งหลายจะได้ไม่กล้าทำผิดคิดร้ายให้ขายหน้าตัวเองและวงศ์ตระกูล

ฉบับนี้ประจานในตลาด ฉบับหน้าประจานที่ไหน

ไม่ตามไม่รู้ •