‘ประทุกห้าประการ’ โทษอาญาคนคุกสมัยอยุธยา

ญาดา อารัมภีร

คนโทษในวรรณคดีที่ถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการมีทั้งชายหญิง มีทั้งเจ้าเมืองและสามัญชน เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงตอนขุนแผนลุแก่โทษว่า เมื่อเดินทางใกล้กรุงศรีอยุธยา ผู้คุมที่มาด้วยกันในเรือก็ขอขมาและขอจำโซ่ตรวนขุนแผนนางวันทองเหมือนๆ กับผู้ต้องหาคดีอาญาทั้งหลาย

“ขุนแผนตามใจให้ตรึงตรา เหยียดขาตรวนใส่ตะปูพับ

ขุนแผนสงสารเจ้าวันทอง เอาผ้ารองรัดวงประจงจับ

จะขึ้นบกค่อยประคองรองรับ ผูกสายหยกยกขยับให้นางเดิน

วันทองน้องกระเดียดกระทายน้อย ค่อยค่อยย่างก้าวยกเท้าเขิน

มือถือสายหยกยกสะเทิน พลั้งเท้าก้าวเกินก็ล้มลง

หวีดว้ายกระทายพลัดตกหก ขุนแผนยกปัดป้องละอองผง

ฟักฟูมอุ้มน้องให้ยืนตรง น้ำตาลงอาบหน้าด้วยปรานี”

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“เชือกที่เขาผูกเข้ากับโซ่ที่ตรวน สำหรับยกโซ่ที่ตรวนให้สูงขึ้นเพื่อจะก้าวเดินได้สะดวกนั้น เขาเรียกกันว่า สายหยก”

มีสายหยกก็ช่วยให้เจ้าของเท้าที่ถูกล่ามโซ่ตรวนเดินได้สบายขึ้น ตรงกันข้ามกับคนโทษที่ไร้ตัวช่วยเดินไม่ถนัด แต่ละก้าวย่างลำบากนัก ดังกรณีพราหมณ์เกสร (นางทิพเกสร) ในนิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” ที่ถูกจำโซ่ตรวน 3 ชั้น

“แสนสงสารพราหมณ์น้อยละห้อยหวน เจ้าเดินตรวนไม่ถนัดให้ขัดเขิน”

ไม่ต่างจากตอนที่รามวงศ์ถูกจับกุมที่กรุงกาลวาศ นิทานคำกลอนเรื่อง “สิงหไตรภพ” บรรยายว่า

“เดินไม่ตรงองค์ซวนด้วยกรวนโซ่ อุตส่าห์โซเซย่างกลางถนน”

ส่วนขุนช้างในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ถูกจำตรวนเหมือนกัน แต่อาการหนักกว่าเขาเพื่อน

“ขุนช้างถูกจำตรวนถ้วนสามชั้น เคยย่างยาวก้าวสั้นก็ล้มปุก”

 

ขุนแผนและขุนช้างล้วนถูกจองจำต่างกรรมต่างวาระ ต่างรับโทษหนัก ‘ประทุกห้าประการ’ ตามคำสั่งของสมเด็จพระพันวษา ขุนแผนในสภาพคนโทษ

“โซ่ตรวนเอามาทั้งคาขื่อ ตีนมือใส่ล่ามไปตามที่”

ขุนช้างไม่ต่างจากขุนแผน

“ทำมะรงลงเหล็กตะลีตะลาน ประทุกประทาห้าประการไม่ให้หนี

โซ่ตรวนขื่อคาไม่ปรานี สี่ทำมะรงจูงมาพาไปคุก”

สภาพของพระเจ้าเชียงใหม่ที่พ่ายแพ้ เป็นดังที่เจ้าพระยาจักรีทูลสมเด็จพระพันวษาว่า

“อันตัวเจ้าเชียงใหม่ใจพาล ให้จำไว้ห้าประการตามที่”

ส่วนรามวงศ์ในเรื่อง “สิงหไตรภพ” ก็ย่ำแย่เต็มที

“พระตะลึงตึงองค์ด้วยสงกา เขาใส่คาขื่อซ้ำแล้วจำกรวน

ทั้งโซ่สวมกรวมคอไม่ต่อเถียง …………………………………….”

พราหมณ์เกสร (นางทิพเกสร) ในเรื่อง “ลักษณวงศ์” มีสภาพน่าเวทนาพอๆ กัน

“เอาตรวนใส่สามชั้นเข้าทันใด เอาคาใส่คอเข้าทั้งขื่อมือ”

‘ประทุกห้าประการ’ หรือ โทษจองจำห้าประการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “ขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านใหม่” ว่า

“การจองจำห้าประการนี้ ผมเข้าใจว่า จะมิได้เรียกจากเครื่องพันธนาการห้าอย่าง แต่หมายถึง การถูกจองจำห้าแห่งในร่างกายของคนโทษ ได้แก่ ที่คอ ที่ข้อมืออีกสองเป็นสาม และที่ข้อเท้าอีกสองข้างเป็นห้า”

 

หลักฐานเรื่องนี้มีใน “พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี” ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ในส่วนที่เป็น ‘จดหมายเหตุของพวกคณะบาดหลวงฝรั่งเศส’ : จดหมายมองเซนเยอร์เลอบอง ว่าด้วยสังฆราชเลอบองและมิชชันนารีถูกซักถามและถูกเฆี่ยน

“เมื่อได้ถูกเฆี่ยนครบจำนวนแล้ว เนื้อหลังก็ขาดเลือดก็โซมตัว เจ้าพนักงารก็ได้คุมพวกเราไปไว้ยังคุกสามัญ และได้จำเราครบ 5 ประการ คือ มีเครื่องจองจำ 5 อย่าง 1 ตรวนใส่เท้า 2 เท้าติดขื่อไม้ 3 โซ่ล่ามคอ 4 คาไม้ใส่คอทับโซ่ 5 มือสองมือลอดเข้าไปในคาและไปติดกับขื่อมือทำด้วยไม้ การที่เราถูกจองจำเช่นนี้ไม่เปนการเหมาะสำหรับรักษาแผลที่หลังและที่สีข้างให้หายเลย เพราะฉนั้นเมื่อได้ล่วงเวลามาได้ 2 เดือนแล้ว แผลที่หลังยังไม่หายเลย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นี่คือการจองจำ 5 แห่งในร่างกายของคนโทษตรงตามข้อสังเกตของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เครื่องจองจำจะอยู่ที่คอ ข้อมือข้อเท้าทั้งสองข้าง รวม 5 แห่ง คอมีโซ่ล่ามและมีคาไม้ใส่คอทับโซ่อีกที ข้อมือซ้ายขวาอยู่ในคาติดกับขื่อ ข้อเท้าทั้งสองใส่ตรวนและติดขื่อไม้

นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” ให้ภาพพราหมณ์เกสรที่ถูกจองจำ ‘เอาคาใส่คอเข้าทั้งขื่อมือ’ บอกถึงตำแหน่งของเครื่องจองจำบนร่างกาย คาใส่คอ ขื่อใส่มือ แสดงว่าต่างชนิดกัน สมัยก่อนมีทั้งขื่อมือและขื่อเท้า หนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ให้รายละเอียดว่า

คา , เปนชื่อของทำด้วยไม้, สำหรับใส่คอจำพวกนักโทษ,

ขื่อ , ฤๅที่เขาทำด้วยไม้สำหรับจำคน,

ขื่อตีน . เปนขื่อสำหรับใส่ตีนคน.

ขื่อมือ , คือขื่อที่สำหรับใส่มือคน.

ขื่อ และคา หน้าตาอย่างไร เครื่องจองจำแต่ละอย่างใส่ได้ก็ถอดได้ ถ้าเงินถึง

ติดตามฉบับหน้า •