ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : โป๊คือทางเลือก – วาทกรรมต้านเฟมินิสต์ด้วยภาษาเฟมินิสต์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

เรื่องโป๊ๆ ของผู้หญิงคือหนึ่งในประเด็นที่พูดเมื่อไรก็ชวนให้คนตีกันได้ไม่จบ เพราะในด้านหนึ่งร่างกายเป็นของผู้หญิง

และผู้หญิงก็เชื่อขึ้นเรื่อยๆ ว่าอัตวินิจฉัยในการเปิดหรือปิดร่างกายต้องเป็นของผู้หญิงโดยสมบูรณ์

แต่ในอีกด้าน สังคมไทยก็เหมือนสังคมอื่นที่มีความพยายามควบคุมร่างกายผู้หญิงตลอดเวลา

ในสังคมแบบนี้ ร่างกายเป็นเสมือนสนามประลองกำลังระหว่างผู้หญิงกับอำนาจภายนอกที่บงการในรูปของศาสนา, กฎหมาย และวัฒนธรรม

ต้นตอของความอึดอัดในชีวิตประจำวันผู้หญิงจึงมักมาจากสามเรื่องนี้ เพราะนั่นคือด่านลอยของอำนาจที่เซ็นเซอร์ว่าผู้หญิงจะอยู่ในพื้นที่สาธารณะได้แค่ไหนและอย่างไร

ตราบใดที่สังคมไทยมีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นศาสนสถาน โป๊ย่อมเป็นประเด็นสิทธิสตรีเสมอ

แต่การแต่งโป๊เท่ากับการต่อสู้เพื่ออำนาจผู้หญิงด้วยกันหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง

เพราะการโป๊อาจมาจากความชอบส่วนบุคคล, สุขใจที่ได้อ่อย, ใช้ความเป็นหญิงสร้างอำนาจ, โชว์ความมั่นใจ รวมทั้งทำเพื่อท้าทายสังคม

ในแง่นี้ โป๊จะเป็นประเด็นสิทธิสตรีแค่ไหนย่อมสัมพัทธ์กับระดับความวุ่นวายที่สังคมมีต่อเรื่องโป๊ๆ การโป๊ในสังคมที่ผู้หญิงโนบราเป็นธรรมดาจึงอาจถูกมองว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิสตรีเลยก็ได้

อย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับการโป๊ในสังคมที่ทีวีต้องเบลอร่องนม หรือแค่เห็นหัวนมผู้หญิงใต้เสื้อก็ยังวุ่นวาย

พูดง่ายๆ ห้ามผู้หญิงโป๊เป็นการละเมิดสิทธิผู้หญิงแน่ แต่ก็ไม่ถูกหากใครจะโกรธที่คนอื่นบอกว่าโป๊ไม่เท่ากับการปลดปล่อยผู้หญิงจากโครงสร้างด้านเพศที่ไม่เป็นธรรม และยิ่งเกินไปเยอะ ถ้าพูดว่าโป๊คือการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีโดยอัตโนมัติ

เพราะถ้าเป็นแบบนั้น พัฒนพงศ์คงเป็นสังคมอุดมคติที่ทุกคนเท่าเทียมกัน

ตัวอย่างของโป๊ที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีอาจดูได้จากขบวนการ Topfreedom ที่ชวนผู้หญิงเดินเปลือยอกกลางแมนฮัตตันในปี 2012 เพื่อรณรงค์ประเด็น Free the Nipple ที่ประกาศว่าการห้ามนมผู้หญิงปรากฏในพื้นที่สาธาธารณะคือความไม่เสมอภาค

และการเปิดเต้าคือการแสดงออกว่าผู้หญิงมีอำนาจเหนือร่างกายตัวเอง

เพื่อป้องกันความเข้าใจว่าขบวนการนี้เกิดแค่เพราะอยากโชว์

ควรระบุด้วยว่าประเด็นเปิดเต้าครอบคลุมถึงการห้ามไม่ให้ผู้หญิงให้ลูกดูดนมในที่สาธารณะ

เรื่องนี้หลายประเทศถือว่าผิดกฎหมาย, หลายวัฒนธรรมมองว่าไม่เหมาะสม

ไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่ผู้หญิงซึ่งทำแบบนี้จะถูกคุกคามทางเพศด้วยวิธีที่แตกต่างกัน

แน่นอนว่าโป๊ระดับโชว์เนินหรืออวดร่องนั้นเป็นเรื่องธรรมดาในหลายสังคม

แต่เปลือยเต้านั้นต่างจากโป๊ ไม่ต้องพูดถึงหัวนมที่แทบทุกสังคมมีกฎหมายหรือวัฒนธรรมควบคุม

การเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์กลุ่มนี้จึงเป็นการรื้อวาทกรรมว่านมคือของต้องห้ามเหมือน “ห” ซึ่งในที่สุดก็คือการลดอำนาจบงการจากสังคม

เห็นได้ชัดว่าแนวทางการเคลื่อนไหวของ Free the Nipple มุ่งเผชิญหน้ากับอำนาจเพื่อเปลี่ยนกฎหมายและวัฒนธรรม การเปลือยอกบางกรณีเกิดขึ้นโดยคนในกลุ่มรู้ว่ารัฐดำเนินคดีได้ แต่ก็ยอมให้จับ เพราะจะได้ยกระดับการเคลื่อนไหวสู่การต่อสู้ทางกฎหมายว่าการคุมนมขัดรัฐธรรมนูญและเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไร

Free the Nipple เป็นตัวอย่างว่าเรื่องโป๊ๆ จะเป็นประเด็นสิทธิสตรีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าการโป๊เกี่ยวแค่ไหนกับการเปลี่ยนกฎหมายหรือวัฒนธรรมที่ควบคุมผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะของแต่ละสังคม

หากอยากจะพูดว่าโป๊ๆ เป็นเรื่องสิทธิสตรีมากกว่าแค่กล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย

ในวิวาทะเรื่องนมเจนลอว์ ที่สุดของความย้อนแย้งคือเฟมินิสต์ที่เสนอว่าร่างกายเป็นของผู้หญิงกลับถูกเพศเดียวกันโจมตีว่าเหยียดผู้หญิง ยิ่งกว่านั้นคือการที่เฟมินิสต์ยืนยันว่าสิทธิสตรีมีความหมายกว่าเรื่องโป๊ๆ กลับถูกกล่าวหาว่าละเมิดเสรีภาพ แม้เฟมินิสต์จะเป็นคนกลุ่มแรกที่ชี้ว่าโป๊คืออัตวินิจฉัยของผู้หญิงก็ตาม

อันที่จริงการที่ขบวนการทางสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคนที่ควรเป็นพวกเดียวกันนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะกรรมกรที่ไม่ยุ่งกับสหภาพก็มี, ผู้หญิงที่ต่อต้านสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์โดยปลอดภัยก็มาก, พ่อค้ายิงทิ้งนายทุนก็ไม่น้อย แม้แต่ชายรักชายก็อาจมองต่างกันเรื่องการจดทะเบียนของคนรักเพศเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ผู้หญิงที่โจมตีขบวนการเฟมินิสต์หรือต่อต้านการเรียกร้องสิทธิสตรีดูจะได้รับความสำคัญเป็นพิเศษทั้งในแง่พื้นที่สื่อและในแง่ความเข้าใจไปเองของเจ้าตัว

ทำไมแนวคิดและขบวนการที่ต่อสู้เรื่องเปลี่ยนโครงสร้างที่กดบังคับผู้หญิงถึงถูกโจมตีจากผู้หญิงด้วยกัน?

มักเข้าใจผิดว่าเฟมินิสต์เรียกร้องให้ผู้หญิงทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย แต่ที่จริงเฟมินิสต์คือการปลดปล่อยผู้หญิงบนหลักการเรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ เราทุกคนรู้โดยสามัญสำนึกว่าผู้ชายไม่ได้ทำอะไรที่นำไปสู่ความเท่าเทียมเสมอไปแน่ๆ จุดหมายของเฟมินิสต์จึงไม่ใช่การทำแบบผู้ชายทำโดยเอาผู้หญิงไปทำแทน

เฟมินิสต์ไม่ใช่ขบวนการที่คิดแค่ให้ผู้หญิงคุมสังคม แต่เฟมินิสต์คือชนวนเปลี่ยนสังคมเพื่อความเสมอภาคทั้งหมด โจทย์ของเฟมินิสต์จึงมีตั้งแต่ผู้นำสหภาพแรงงานชายเหยียดเพศ, ประชาสังคมดูถูกนายกฯ หญิง, ธุรกิจแฟชั่นที่ปลูกฝังลัทธิคลั่งความขาว, นายจ้างจ่ายค่าจ้างพนักงานหญิงต่ำกว่าพนักงานชาย ฯลฯ

นอกจากจะเผชิญหน้ากับเพศที่ได้ประโยชน์จากความไม่เสมอภาคระหว่างเพศและความไม่เท่าเทียมในสังคม เฟมินิสต์ยังเผชิญหน้ากับอุดมการณ์แทบทุกค่ายตั้งแต่ปิตาธิปไตย, โลกาภิวัตน์, เสรีนิยมใหม่, ลัทธิบริโภคนิยม, เผด็จการทหาร, ชาตินิยมเหยียดเพศ, พุทธต้านภิกษุณี หรือแม้แต่อิสลามสายขลิบคลิตอริสสตรี

ในแง่นี้ โจทย์ของเฟมินิสต์ไม่ได้มีแค่ผู้ชายสายเหยียดเพศอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะผู้หญิงด้วยกันอาจต่อต้านเฟมินิสต์ได้เสมอ หากเธอผู้นั้นปฏิปักษ์การมีนักบวชหญิงในพุทธศาสนา, ศรัทธาระบบชายเป็นใหญ่, อยู่อุตสาหกรรมที่ใช้ผู้หญิงเพื่อการค้า, ทำธุรกิจศัลยกรรม ฯลฯ สุดแท้แต่บริบทและสถานการณ์

พูดง่ายๆ การที่ผู้หญิงด้วยกันจะโจมตีเฟมินิสต์นั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา เพราะผู้หญิงด้วยกันมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันได้ และผู้หญิงด้วยกันไม่แน่ว่าจะคิดถึงความเสมอภาคของผู้หญิงทุกคนเหมือนกัน

ภายใต้สมรภูมิทางอุดมการณ์แบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกาช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็คือสื่อกลุ่มที่ขายความเป็นหญิงเริ่มประกอบสร้างวาทกรรมต่อต้านเฟมินิสต์โดยหยิบยืมภาษาเฟมินิสต์ไปใช้เพื่อปกป้องเรื่องที่เฟมินิสต์หรือขบวนการสิทธิสตรีวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกดขี่หรือทำลายความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงในสังคม

แน่นอนว่าการประกอบสร้างวาทกรรมในกรณีไหนล้วนจำเป็นต้องอาศัย “ผู้เล่น” ทำหน้าที่ประดิษฐ์ / ประกอบ / ผลิตซ้ำ / ถ่ายทอดวาทกรรม และ “ผู้เล่น” ที่สำคัญในการต่อต้านเฟมินิสต์ในบริบทนี้มีทั้งนักแสดง, บรรณาธิการ, นักเขียนหญิง, Micro Influencer หรือ Follower ในสังคมออนไลน์ที่มักใช้คำพูดประเภทเสรีภาพ / สิทธิผู้หญิง / ทางเลือก / การตัดสินใจ เพื่อปกป้องระบบซึ่งในที่สุดทำให้คนไม่เท่ากัน

ถ้าเฟมินิสต์บอกว่าค้ากามคือค้ามนุษย์ คนกลุ่มนี้จะบอกว่าค้ากามก็โอเค ถ้าทำแล้วสบายใจ

ถ้าเฟมินิสต์บอกว่าอุตสาหกรรมบันเทิงให้นักแสดงหญิงโป๊เพราะมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุ คนกลุ่มนี้จะบอกว่าคนที่โป๊เพราะชอบอวดของก็มี

ถ้าเฟมินิสต์บอกว่าธุรกิจศัลยกรรมทำให้ผู้หญิงดูถูกตัวเองและคิดว่าความงามต้องเป็นแบบเดียวกัน คนกลุ่มนี้ก็จะบอกว่าคนที่ทำศัลยกรรมเขาเลือกเบ้าหน้า เลือกสักคิ้วยี่สิบห้าชั้นเอง

ไม่มีทางที่คนทั้งหมดนี้จะสมรู้ร่วมคิดเข้าสู่ยุทธการทางอุดมการณ์เพื่อต่อต้านเฟมินิสต์โดยจงใจ

แต่ที่แน่ๆ คือ ทั้งหมดกลายเป็นโครงข่ายประกอบสร้างวาทกรรมที่สืบทอดโครงสร้างสังคมหรือวัฒนธรรมซึ่งกดบังคับผู้หญิงทั้งหมด

โดยเฉพาะการอ้างว่าคำถามแบบเฟมินิสต์สะท้อนถึงการไม่เคารพผู้หญิงด้วยกัน

สำหรับผู้ศึกษาเพศวิถีหรือสตรีศึกษาจำนวนไม่น้อย

การหยิบยืมภาษาแบบเฟมินิสต์ไปใช้เพื่อต่อต้านเฟมินิสต์คือเล่ห์เหลี่ยมในการจรรโลงระบบที่จำกัด “ทางเลือก” ของผู้หญิงให้อยู่ภายใต้ “ตัวเลือก” ที่กำหนดโดยตัวระบบสังคม กฎหมาย หรือวัฒนธรรมที่วางอยู่บนโครงสร้างด้านเพศที่ไม่เป็นธรรมของสังคม