ไดโนเสาร์ขแมร์ ณ ปราสาทตาพรหม | เปิดตา

อัษฎา อาทรไผท

อาณาจักรขอมคือหนึ่งในอารยธรรมโบราณที่รุ่งเรือง ยิ่งใหญ่ และมีความเจริญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ เสียมเรียบ (มีความหมายว่า สยาม(แพ้)ราบ) ที่คนเขมรเรียก หรือ เสียมราฐ (ดินแดนของสยาม) ที่คนไทยใช้เรียกกัน แม้ความหมายของชื่อเรียก จะแตกต่างกัน แต่มันก็คือเมืองเดียวกัน

เสียมเรียบเป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ของโลก นครวัด ศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่สร้างไว้ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 หรือราว 1 พันกว่าปีก่อน ในรูปแบบหมู่ปราสาทหินขนาดหมึมา ในพื้นที่ 1.6 ตารางเมตร หรือเทียบความใหญ่ประมาณสนามอเมริกันฟุตบอล 300 สนามต่อกันเลยทีเดียว

ด้วยความยิ่งใหญ่ของปราสาทนครวัด ทำให้มีคนสงสัยว่าผู้คนในสมัยก่อน ที่ไร้ซึ่งเทคโนโลยีทันสมัย ทำอย่างไรถึงได้ขนหินหนักก้อนละเป็นตัน มาต่อกันเป็นปราสาทได้อย่างปราณีต ชนิดบินขึ้นไปดูจากอากาศเหลี่ยมมุมต่าง ๆ ยังตรงเป๊ะไปหมด แถมยังเต็มไปด้วยงานแกะสลักเต็มพื้นที่ จนบางท่านไม่ทราบจะหาคำตอบอะไร นอกจากบอกว่าได้รับความช่วยเหลือจากมนุษย์ต่างดาว หรือคนจากอนาคตนั่งไทม์แมชชีนมาช่วยสร้าง

แต่แม้จะยิ่งใหญ่ สวยงาม อลังการณ์เพียงไหน ที่นี่ไม่มีไดโนเสาร์ ! เพราะไดโนเสาร์นั้นอยู่ที่ ตาพรหม ปราสาทขนาดเล็กแต่ขลัง ตั้งห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถราว ๆ 20 นาทีจากนครวัดก็ถึง

ปราสาทตาพรหมนี้มีมานมนานตั้งแต่ราว ๆ ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 แล้ว โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ที่มีความเลื่อมใสในศาสนาพุทธ (ต่างจากพระบิดา พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ที่นับถือศาสนาฮินดู) ไว้ใช้เป็นที่ศึกษาและเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายมหายาน

ที่นี่ถือเป็นปราสาทที่สวยงาม มีความขลังตรงที่ตั้งอยู่ในป่าดิบชื้น และถูกทิ้งร้างไว้หลายร้อยปีหลังอาณาจักรเขมรได้ล่มสลาย จนมีมอสสีเขียว ๆ ปกคลุมตัวอากาศไปทั่ว และยังมีต้นสะปงยักษ์หลายต้น มาโตครอบส่วนต่าง ๆ ของปราสาทอีกทีจนแลดูเป็นส่วนหนึ่งของกันและ เห็นแล้วได้บรรยากาศ “อินเดียน่า โจนส์” มาก ๆ

ต่อมา แองเจลินา โจลี ดาราสาวชื่อดังในยุต 2000’s ได้รับบทบาท ลาร่า ครอฟท์ ในหนังล่าสมบัติสไตล์ อินเดียน่า โจนส์ เรื่อง ทูม เรเดอร์ (ที่สร้างโดยมีแรงบันดาลใจมาจากวิดีโอเกมอีกที) ได้ใช้ปราสาทตาพรหมเป็นฉากเด็ดในภาพยนต์เรื่องนี้ ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเข้าไปอีก ดีไม่ดีอาจจะเป็นที่รู้จักมากกว่านครวัดเสียอีกในช่วงนั้น เพราะใคร ๆ ก็พากันไปดูหนังเรื่องนี้ จนต้องมีมุมให้ผู้คนมาถ่ายภาพเลียนแบบดาราสาว หน้ารากไม้ที่พันปกคลุมปราสาทอยู่อย่างน่าตาตรึงใจ

ความโด่งดังของปราสาทตาพรหมยังไม่หมด เพราะจริง ๆ แล้วก่อนหน้านั้นในปีคริสต์ศักราช 1997 ได้มีการลงรูปงานศิลปะนูนต่ำบนผนังรูปหนึ่งในหนังสือแนะนำท่องเที่ยว และได้กลายเป็นจุดน่าสนใจของนักท่องเที่ยวตั้งแต่นั่นมา รูปนั้นคือรูปไดโนเสาร์

ในมวลหมู่รูปแกะสลักนูนต่ำของปราสาทตาพรหม มีรูปสัตว์นา ๆ ชนิด ตั้งแต่สัตว์ทั่วไป ไปจนถึงสัตว์ในเทพนิยาย แต่มีอยู่รูปหนึ่งที่ทำให้เกิดคำถามมากมาย นั่นคือรูปสเตโกซอรัส ที่ดูจะอยู่ผิดที่ ผิดเวล่ำเวลาซะเหลือเกิน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เจ้าสเตโกซอรัส ได้สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ตั้งแต่เมื่อ 66,000,000 ปีมาแล้ว เหตุอันใดจึงมาอยู่บนงานแกะสลักนูนต่ำเมื่อราวพันปีก่อนได้ สิ่งนี้ไม่มีคำตอบอะไรแน่ชัด เพราะยังไม่มีนักวิชาการมาเจาะลึกเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง จะมีก็แต่บทความสั้น ๆ

บ้างก็ว่าเมื่อสมัยขอมโบราณ มีสเตโกซอรัสอาศัยอยู่ปะปนกับผู้คน ซึ่งไอเดียนี้ตีตกไปได้ เพราะยังไม่มีการขุดพบซากไดโนเสาร์ที่เขมร จะมีก็แต่กับระเบิด หรือโครงกระดูกจากสมัยเขมรแดง

บางท่านบอกว่าชาวเขมรรู้เรื่องไดโนเสาร์ เลยเอามาแกะสลักไว้ แต่ก็ไม่มีบันทึกแบบนี้อยู่ที่ไหนอีกเลย ปราสาทอีกตั้งหลายหลัง ไม่มีที่ไหนแกะสลักไดโนเสาร์ไว้ให้ชนรุ่นหลังงงงวยอีกเลย

มีอีกหนึ่งสันนิษฐานว่าแท้ที่จริงแล้ว เพิ่งมีการมาแกะรูปได้โนเสาร์นี้ไม่นาน เพื่อให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กัน และยังกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วย จริง ๆ หากมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์หาอายุของงาน ก็น่าจะทราบได้ แต่ไม่มีใครมาทำ

ข้อสรุปคือเจ้าสัตว์ในภาพไม่ใช่ได้โนเสาร์ แต่อาจจะเป็นแรด หรือ กิ้งก่า ส่วนที่เห็นเป็นแผ่น ๆ อยู่บนหลัง ที่ทำให้ดูคล้าย ๆ สเตโกซอรัสนั้น เป็นการตกแต่งภาพให้เต็ม ๆ สวย ๆ ด้วยกลีบดอกไม้ หรือกราฟฟิกโบราณอะไรสักอย่าง นักวิชาการบอกว่าหากตัดแผ่นที่หลังออกไป สัตว์ตัวนั้นก็ไม่ได้มีอะไรเหมือนสเตโกซอรัสเลย แต่พอตาคนยุคปัจจุบันมอง ก็มองไปตามที่สมองได้รับประสบการณ์มา แล้วเหมาเป็นไดโนเสาร์กันเอง

จะเป็นได้โนเสาร์จริง ๆ หรือไม่ไม่สำคัญ ภาพนี้น่าจะทำให้มีหลาย ๆ คนอยากดั้นด้นมาที่ปราสาทตาพรหม เพื่อมาสัมผัสกับของจริงด้วยตาตัวเอง พร้อมชมความยิ่งใหญ่และสวยงามของอารยธรรมขอมโบราณไปด้วย อย่างน้อยผมก็คนหนึ่ง ที่ได้ไปชมมาแล้วถึงสองครั้งสองครา และน่าจะมีอีกสักครั้งในอนาคตครับ