Tannoy Stirling III LZ Special Edition Loudspeaker

เห็นข่าวนี้แล้วรีบนำมาบอกกล่าวให้ทราบแต่เนิ่นๆ เพื่อให้บรรดาแฟนานุแฟนของ Tannoy แห่งสหราชอาณาจักร ได้ใจชื้นกันขึ้นมาบ้าง ด้วยห่างจากการมีผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ออกตลาดมานานถึงเจ็ดปี

ครับ, ที่เห็นนั้นไม่ได้พิมพ์ผิดดอกนะครับ เพราะแทนนอยไม่มีลำโพงรุ่นใหม่ๆ ออกมาเลยในช่วงเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมา ทำให้นอกจากนักเล่นรุ่นใหม่ๆ อาจจะไม่รู้จักแบรนด์นี้แล้ว นักเล่นรุ่นเก่าๆ ก็อาจจะคิดว่าเก็บฉากพับเสื่อไปแล้วก็เป็นได้

ทั้งๆ ที่เป็นหนึ่งในไม่กี่ยี่ห้อที่โลดแล่นในยุทธจักรลำโพงมาเกือบจะยันศตวรรษอยู่รอมร่อแล้ว เพราะก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1926 โน่น อีกสามปีอายุก็จะครบร้อยแล้วล่ะครับ

จึงเมื่อหายหน้าไปนานแบบไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย แล้วจู่ๆ มีข่าวคราวอย่างนี้ออกมา ย่อมเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นยินดีอยู่ไม่น้อย

แต่ก่อนจะไปถึงเรื่องของลำโพงรุ่นใหม่ซึ่งทางค่ายได้บอกว่าได้ออกมาเป็นรุ่นพิเศษแบบ Special Edition ก็ขอเล่าสู่กันฟังถึงที่มาที่ไปของลำโพงค่ายนี้ ซึ่งดูออกจะโลดโผนในแง่ของการดำรงอยู่, อยู่ไม่น้อย รวมถึงน่าจะเป็นสาเหตุประการหนึ่ง ที่ทำให้หายหน้าหายตาไปจากวงการดังที่กล่าวไปข้างต้น

 

อย่างที่บอกไว้ว่าถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 20s แต่เป็นการเริ่มต้นด้วยชื่อ Tulsemere Manufacturing Company ก่อตั้งขึ้นโดย Mr.Guy R. Fountain โดยมีฐานที่มั่นอยู่ในกรุงลอนดอน ต่อมาในปี ค.ศ.1928 ก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทพร้อมกับใช้เป็นชื่อแบรนด์ของสินค้าที่พัฒนาและผลิตขึ้นมาจำหน่าย ซึ่งเป็นชิ้นส่วนวงจรอิเล็กทรอนิกส์จำพวกตัวเรียงกระแส (Rectifier) โดยได้ชื่อ Tannoy มาจากคำย่อพยางค์ของวัสดุที่ใช้ในการผลิตวงจรดังกล่าว คือ Tantalum กับ Lead Alloy (แทนทาลัมกับโลหะผสมของตะกั่ว) นัยว่าเพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์

ถัดจากนั้นอีกสองปีก็ได้เริ่มเข้ามาชิมลางในอุตสาหกรรมระบบเสียง เริ่มต้นด้วยการผลิตระบบเสียงในรถยนต์ และระบบเสียงภาคสนามที่เรียกกันว่า PA (Public Address) System แบบเคลื่อนย้ายได้ โดยตลอดทศวรรษที่ 30s แทนนอยเริ่มมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ในแง่ของการเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบและผลิตลำโพงสำหรับระบบเสียงที่ก้าวล้ำทันสมัยแห่งยุค

ช่วงทศวรรษที่ 40s ชื่อของแทนนอยปรากฏให้เห็นผ่านระบบเสียงตามสาธารณสถานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะตามสนามแข่งขันกีฬาและสถานที่ราชการ

และที่พบเห็นแพร่กระจายมากที่สุดก็คือช่วงสงครามโลก เพราะทุกครั้งที่นายกรัฐมนตรี Winston Churchill ออกประกาศหรือปราศรัยก็จะใช้ระบบเสียงของแทนนอยนี่ละ

กระทั่งปี ค.ศ.1946 คำว่า Tannoy ก็ถูกเก็บเข้าไว้ในพจนานุกรมของ Oxford ด้วยความหมายระบบเสียงสำหรับประกาศสาธารณะ

 

หลังจากนั้นอีกหนึ่งปี ได้รังสรรค์นวัตกรรมไดรเวอร์แบบ Dual Concentric และเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน London Radio Show ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่กล่าวได้ว่าคิดค้นขึ้นมาเพื่อปฏิวัติวงการออกแบบ และอุตสาหกรรมลำโพงนับแต่นั้นเป็นต้นมา และเทคโนโลยีดังกล่าวยังได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตราบจนทุกวันนี้ ที่เปรียบได้กับอัตลักษณ์ของแทนนอยอย่างแท้จริง

แทนนอยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรครั้งแรกในปี ค.ศ.1974 เมื่อถูกซื้อโดย Harman International Industries และเป็นปีนี้เองที่คุณกายได้วางมือจากบริษัท

จากนั้นอีกสองปีก็ได้ย้ายฐานการผลิตจากลอนดอนที่อยู่มาครบกึ่งศตวรรษพอดี ไปอยู่ที่เมือง Coatbridge ของสกอตแลนด์

แล้วได้ควบรวมกิจการกับ Goodmans ในปีค.ศ.1987 ก่อตั้ง Tannoy Goodmans International ขึ้นมา

อีกกว่าสิบปีต่อมา TC Electronic จากเดนมาร์กก็ได้เข้ามาซื้อ TGI เพื่อก่อตั้ง TC Group และล่าสุดทีซี กรุ๊ป ก็ถูกซื้อไปโดย Music Tribe เมื่อปี ค.ศ.2015

มิวสิก ไทรบ์ หรือแต่เดิมชื่อ Music Group นั้น เป็นบริษัทแม่ของแบรนด์ระบบเสียงมืออาชีพมากมาย นับได้กว่าสิบยี่ห้อ เป็น Holding Company (บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจโดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก และไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง) มีสำนักงานอยู่ในเมืองมากาติ ของกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ซึ่งเมื่อตอนซื้อทีซี กรุ๊ป ได้มาพร้อมข้อเสนอให้ปิดโรงงานผลิตพร้อมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่โคทบริดจ์ แล้วให้ย้ายไปที่เมืองแมนเชสเตอร์แทน

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ความเป็นไปของแทนนอยยังคงปักหลักอยู่ที่สกอตแลนด์ และนับจากวันถูกซื้อหนล่าสุดแล้วลากยามาอีกเจ็ดปี แทนนอยไม่มีลำโพงรุ่นใหม่ออกมาเลย

จนวันนี้ที่มีข่าวการมาถึงของ Tannoy Stirling III LZ Special Edition

แทนนอยบอกว่าลำโพงรุ่นพิเศษนี้ ถูกออกแบบมาเพื่อตอกย้ำจุดมุ่งหมายในการสร้างเสียงดนตรี ตามที่ศิลปินต้องการได้อย่างถึงที่สุด ด้วยสืบทอดสายพันธุ์มาจาก Monitor Red (Tannoy III LZ) ที่ศิลปินระดับแถวหน้าของวงการ ไม่ว่าจะเป็น Peter Gabriel, Led Zeppelin, The Eagles, Pink Floyd, The Beatles, Beyonce และอีกมากกว่ามาก ใช้เป็นลำโพงสตูดิโอ มอนิเตอร์ ในการรังสรรค์ผลงานแต่ละอัลบั้มออกมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60s

เป็นการผสมผสานสุนทรียศาสตร์แบบวินเทจเข้ากับงานวิศวกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้เป็นลำโพงในสไตล์ Retro-Modern ที่จะกลายเป็นลำโพงคลาสสิคตลอดกาลอีกรุ่นหนึ่งของแบรนด์ ตามรอยรุ่นพี่ๆ อาทิ Westminster, Buckingham, Arden ที่ยังได้รับการกล่าวขานถึงจนทุกวันนี้

ชุดตัวขับเสียงยังคงใช้แนวคิดเดิมที่เป็นพัฒนาการล่าสุดแบบ Dual Concentric Alnico Magnet ซึ่งจะเห็นทวีตเตอร์แบบโดม ขนาด 2 นิ้ว ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม/แมกนีเซียม อัลลอย วางอยู่กึ่งกลางของกรวยแบบโคนขนาด 10 นิ้ว ที่ขึ้นรูปด้วยเยื่อกระดาษ (Paper Pulp) ซึ่งแทนนอยยืนยันว่าการที่แหล่งกำเนิดเสียงมาจากจุดเดียวแบบร่วมแกนนี้ เฟสของเสียงจะมีความเชื่อมโยงกันตลอดช่วงความถี่ของสัญญาณเสียงดนตรี ทำให้คลื่นเสียงที่ถูกขับออกมามีความถูกต้องเที่ยตรงอย่างแท้จริง

นับเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่ยากจะหารูปแบบใดเทียมได้

 

ทางด้านภาพลักษณ์ของตู้ที่แม้ดูว่ายังคงรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ แต่ได้มีการพัฒนาโครงสร้างใหม่ทั้งในแง่ของวัสดุและเทคนิคทางวิศวกรรม รวมทั้งยังใช้เทคนิคที่เป็นสิทธิบัตรเฉพาะอย่าง DMT : Differential Materials Technology ที่นอกจากทำให้โครงสร้างตู้มีความเสถียรแล้ว ยังช่วยเสริมให้ตัวขับเสียงทำงานร่วมกับตู้ได้อย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้นด้วย

ที่แผงตู้ด้านหน้ามีปุ่มให้ปรับแต่งและควบคุมความถี่เสียง ซึ่งทำงานสัมพันธ์กับท่อยิงเสียงเบสด้านหน้าแบบ Front-Firring ทำให้สามารถตั้งวางลำโพงได้อย่างสะดวก และไม่เกี่ยงแม้จะต้องถูกนำไปวางแบบเข้ามุมก็ตาม

คุณสมบัติด้านเทคนิคระบุว่าให้การทำงานตอบสนองความถี่ 29Hz-27kHz (-6dB) วัดค่าความไวได้ 93dB อิมพีแดนซ์ปกติ 8 โอห์ม ออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 1.1kHz ด้วยครอสส์โอเวอร์แบบ Bi-Wired มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 15.6 x 33.7 x 14.5 นิ้ว น้ำหนัก 33.2 กิโลกรัม/ตู้

เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อสัปดาห์ก่อนที่งาน High End Munich 2023 กับราคาค่าตัว US$12,500.-/คู่ครับ •

 

เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]