สมุนไพรพึ่งตนเอง : ตับเต่าต้น ไม้ยืนต้นน่ารู้จัก

เต่าต้น คือชื่อต้นไม้ที่ฟังดูไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก

แต่ในวงการตำรับยาไทยมักใช้ร่วมกับตับเต่าน้อย ซึ่งในตำรับยาเรียกว่า “ตับเต่าทั้งสอง”

โดยระบุว่าแก่นและรากมีรสฝาดเอียนเล็กน้อย ใช้ต้มหรือฝนกินเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ใช้เป็นยาแก้วัณโรค ด้วยการนำมาต้มกับน้ำกิน น้ำต้มจากแก่นและรากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด เปลือกใช้เป็นยารักษาโรครำมะนาด

ตับเต่าน้อย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Polyalthia debilis (Pierre) Finet & Gagnep อยู่วงศ์กระดังงา (ANNONACEAE) สำหรับตับเต่าต้น เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 10-15 เมตร มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Diospyros ehretioides Wall. ex G. Don จัดอยู่ในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE) ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ตับเต่า (คนเมือง) มะไฟผี (เชียงราย) มะโกป่า (แพร่) ชิ้นกวาง เรื้อนกวาง ลิ้นกวาง (ปราจีนบุรี) ตับเต่าหลวง มะพลับดง (ราชบุรี) มะมัง (นครราชสีมา) ตับเต่าใหญ่ (ชัยภูมิ) เฮื้อนกวาง (ภาคเหนือภาคอีสาน) กากะเลา มาเมี้ยง แฮดกวาง (ภาคอีสาน)

แต่เท่าที่มีประสบการณ์ในการทำงานกับหมอพื้นบ้านภาคอีสาน พบว่าหมอพื้นบ้านส่วนใหญ่เรียกชื่อ เฮื้อนกวง มากกว่าชื่ออื่นๆ


ตับเต่าต้น ต้นมีลักษณะทรงพุ่มโปร่งเป็นรูปกรวย เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง โคนใบกลมหรือคล้ายรูปหัวใจ เนื้อใบเกลี้ยงและหนา

ดอกเป็นแบบแยกเพศ อยู่กันคนละต้น

ผลเป็นแบบผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ รูปเกือบกลม หรือรูปกลมป้อม มีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีก้าน เมื่อแก่แห้งเป็นสีดำและไม่แตก ต้นตับเต่าหรือเอื้อนกวงมีการกระจายพันธุ์เฉพาะในพม่าและภูมิภาคอินโดจีนเท่านั้น ในประเทศไทยพบได้แทบทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าเต็งรังและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-500 เมตร ตับเต่าต้นเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน มีการใช้ประโยชน์จากตับเต่าต้นหลายประการ เช่น ลำต้นที่มีขนาดใหญ่สามารถนำเนื้อไม้มาใช้สร้างบ้านเรือนได้ ใช้ทำเครื่องใช้สอยต่างๆ ได้ ส่วนกิ่งสดนำมาทุบใช้สีฟันทำให้เหงือกและฟันทน กิ่งแห้งนำมาทำฟืนใช้หุงต้มได้ ผลหรือลูกตับเต่าต้นนำมาตำผสมกับน้ำใช้เป็นยาเบื่อปลา เนื้อไม้และเปลือกสามารถนำมาทำเป็นเยื่อกระดาษได้ด้วย

มีการใช้ตับเต่าต้นเป็นยาเดี่ยว เช่น รากใช้ปรุงเป็นยารักษาแผลเรื้อรังยาแก้ไข้ ลดไข้ ดับพิษร้อน แก้ร้อนใน แก้พิษไข้ แก้พิษทั้งปวง ยาแก้วัณโรค ยาบำรุงปอด ยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด ยารักษาแผลเรื้อรัง

ในทางตำรับยาพื้นบ้านมักนำมาประกอบในตำรับยาหลายขนาน เช่น ใช้เปลือกต้นตับเต่าต้น ผสมกับลำต้นเฉียงพร้านางแอ (Carallia brachiata (Lour.) Merr.) และลำต้นหนามแท่ง (Catunaregam tomentosa (Blume ex DC.) Driving) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง

รากตับเต่าต้น ใช้ผสมกับรากโคลงเคลงขน (Melastoma villosum Aubl.) และหญ้าชันกาด (Panicum repens L.) ทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด

ในตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้เปลือกต้นตับเต่าต้น ผสมกับรากขี้เหล็ก (Senna siamea (Lam.) Irwin &Barneby.) รากสลอด (Croton tiglium L.) และรากหญ้าเลงชอน หรือภาษาไทยกลางเรียกว่าเท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze.) นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังใช้แก่นตับเต่าต้น 2 กำมือ นำมาต้มให้สตรีหลังคลอดดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ตลอดช่วงที่อยู่ไฟเป็นยาบำรุงเลือด

ในตำรับพื้นบ้านตำรับหนึ่งใช้เปลือกต้นและใบตับเต่าต้น นำมาผสมกับลำต้นตับเต่าเครือ (Stephania creba Forman) ใบตับเต่าน้อย (Polyalthia debilis (Pierre) Finet&Gagnep.) และผักบุ้งร้วม (Enydra fluctuans Lour.) ทั้งต้น นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ละลายกับน้ำร้อนดื่มเป็นยารักษาโรคมะเร็งในตับ

ที่น่าสนใจและเป็นที่มาของชื่อสมุนไพรนี้ คือ หมอยาพื้นบ้านอีสานใช้รากตับเต่าต้นฝนเข้ายารักษาหลายโรค ที่พิเศษอย่างหนึ่งคือ รากฝนทารักษาโรคเรื้อนกวางหรือสะเก็ดเงิน (เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อในภาคอีสานที่เรียกตับเต่าต้นว่า เฮื้อนกวง เพราะใช้รักษาโรคเรื้อนกวางนั่นเอง

ตับเต่าต้นเป็นไม้สมุนไพรที่มีศักยภาพสูงมีการใช้ในหลายตำรับและหมอพื้นบ้านยังมีการใช้อยู่เป็นประจำ และในวงการสมุนไพรขณะนี้ให้ความสำคัญกับยาตำรับที่มีสมุนไพรหลายชนิดช่วยกันออกฤทธิ์บำบัดโรค

ตับเต่าต้น สมุนไพรชื่อแปลกนี้จึงน่าเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ควรส่งเสริมการปลูกในสวนป่าสมุนไพร

และทำการวิจัยเชิงลึกเพื่อพัฒนาเป็นยาต่อไป

 


โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org